Business

เปิดเทอมใหญ่ ผู้ปกครองสะเทือนโควิด วอนรัฐช่วยลดค่าใช้จ่าย

เปิดเทอมใหญ่ ในภาวะโควิดพ่นพิษ ผู้ปกครองวอนรัฐ ออกมาตรการเฉพาะ ช่วยเหลือการใช้จ่ายด้านการศึกษา และยังกังวลสถานการณ์แพร่ระบาดที่โรงเรียน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครอง ในเขตกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล ในช่วง เปิดเทอมใหญ่ วันที่ 1 กรกฏาคมนี้ พบว่า ผลจากวิกฤติโควิด – 19 ทำให้ผู้ปกครอง 100% เห็นว่า รัฐบาลควรออกมาตรการเฉพาะ เพื่อช่วยเหลือการใช้จ่ายด้านการศึกษา ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ในปี 2563 นี้

เปิดเทอมใหญ่

นอกจากมาตรการช่วยสภาพคล่อง หรือให้เป็นเงินสด ที่มีสัดส่วนถึง 42.5% ของผู้ตอบแบบสอบถาม แล้ว ผู้ปกครอง 37.2% ยังต้องการมาตรการช่วยเหลือคล้ายกับที่รัฐบาลเคยออกในปี 2562 แต่ขยายขอบเขตสิทธิประโยชน์ ให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ปกครองมากขึ้น

ขณะที่ ผู้ปกครอง 8.3% ต้องการให้เพิ่มวงเงินค่าใช้จ่าย และ เพิ่มวงเงินสิทธิลดหย่อนภาษีมากกว่าปี 2562 ที่รัฐบาลออกมาตรการเฉพาะ เพื่อช่วยเหลือในการซื้อสินค้าเพื่อการศึกษา สำหรับผู้ปกครองที่ถือบัตรสวัสดิการของรัฐ 500 บาทต่อบุตร 1 คน และมาตรการหักลดหย่อน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับการซื้อสินค้าเพื่อการศึกษา และกีฬา สำหรับประชาชนผู้เสียภาษี

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ปกครอง กว่า 86% ยังมีความกังวล หากบุตรหลานกลับไปโรงเรียน โดยเมื่อมีการเปิดเทอมแล้ว ทางผู้ปกครองอยากเห็น สถาบันการศึกษา มีมาตรการในการป้องกัน เชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด และต่อเนื่อง อาทิ การคัดกรอง ตรวจวัดไข้เด็กก่อนเข้าเรียน การบริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลางของโรงเรียน การทำความสะอาด และ พ่นยาฆ่าเชื้อสม่ำเสมอ ทั้งในห้องเรียน การปรับ ลด กิจกรรมกีฬา ที่มีการสัมผัสใกล้ชิด และการปรับตารางเรียน เป็นต้น

เปิดเทอมใหญ่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ภาระรายจ่ายของ ผู้ปกครอง ที่มีบุตรในวัยเรียน ในช่วงเปิดภาคการศึกษาใหม่ปี 2563 อาจเป็นอีกหนึ่งความจำเป็นเฉพาะหน้า ที่ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้อง คงต้องเข้ามาช่วยเหลือ เด็กและเยาวชน อย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อ ผู้ปกครอง ที่มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน อันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้เกิดการขาดรายได้หรือตกงาน

นอกเหนือจากมาตรการเพื่อดูแลปัญหาสภาพคล่องของ ผู้ปกครอง ซึ่งเป็นโจทย์เฉพาะหน้าแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การบริหารจัดการให้การศึกษาของนักเรียนในแต่ละระดับ แต่ละพื้นที่ เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น ก็เป็นความท้าทายที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วนและครอบคลุม

ตัวอย่างเช่น การออกแบบการเรียนการสอน ที่คำนึงถึงความปลอดภัย ในชั้นเรียนของโรงเรียน ควบคู่กับความรู้ และทักษะที่ได้รับอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในชั้นเรียน หรือ การเรียนออนไลน์ โดยยึดผลประโยชน์ของนักเรียนเป็นที่ตั้ง

S 78774287
ขอบคุณภาพจาก สถาบันการบินพลเรือน

ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษา และผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ผู้ปกครองกว่า 88.9% มีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงิน ที่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในช่วงเปิดเทอมใหญ่ ปี 2563 นี้

ความกังวลต่อสภาพคล่องดังกล่าว ทำให้ ผู้ปกครองต้องปรับตัว ด้วยการใช้แหล่งเงินจากหลาย ๆ ที่ นอกจากการใช้เงินออม อาทิ สินเชื่อจากสถาบันการเงิน อย่างบัตรเครดิต หรือสินเชื่อเงินสด โรงรับจำนำ ยืมญาติพี่น้อง หรือเพื่อน เป็นต้น

นอกจากนี้ บางคนได้ขอผ่อนผันการชำระค่าเรียน หรือผ่อนชำระค่าเทอมกับทางโรงเรียน ซึ่งมีสถานศึกษาบางแห่งอนุญาตให้ทำได้ เพราะเห็นแก่อนาคตทางการศึกษา ของ เด็กและเยาวชน

ท้ายที่สุด โจทย์ในระยะกลางถึงยาว คือ การปฏิรูประบบการศึกษา ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคใหม่ที่ไร้พรมแดน การวางแผนหลักสูตรวิชาเรียนให้ทัน และสอดคล้องกับโลกของธุรกิจที่เปลี่ยนไป จึงควรพัฒนาการศึกษาในระบบ ให้มีคุณภาพ และเท่าเทียม เพื่อลดภาระรายจ่ายของผู้ปกครอง ในการพึ่งพาการเรียนพิเศษ

ขณะเดียวกัน ยังควรสร้างแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในทักษะที่จำเป็นของงานในอนาคต ให้กับ เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ควรต้องเร่งวางแผน และลงมือดำเนินการร่วมกันตั้งแต่ตอนนี้

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ เด็กและเยาวชน สามารถเติบโตเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ และดำรงชีพได้ อันจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo