Digital Economy

‘ไทยชนะ’ไม่เกี่ยวสแปม iOS ‘ดีอีเอส’ เตือนประชาชนระวังมิจฉาชีพ

‘ไทยชนะ’ ไม่เกี่ยวข้องข้อความสแปม บนมือถือระบบ iOS  ชี้หลายรายที่ได้รับ ยังไม่เคยใช้แพลตฟอร์มนี้ เตือนประชาชนอย่าประมาทพลาดท่ามิจฉาชีพ หรือคลิกเปิดเว็บไซต์ที่ไม่รู้จัก เสี่ยงดูดแฮกเกอร์เข้าเจาะข้อมูลในมือถือ

'ไทยชนะ'

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กรณีข้อความโฆษณารบกวนบนแอปพลิเคชันที่มีการแพร่ระบาด แข่งกับโควิด-19 อยู่ในขณะนี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบพบว่า โทรศัพท์ที่ได้รับเอสเอ็มเอสโฆษณารบกวนชักชวนเล่นพนัน จำนวนกว่า 99.99% เป็นโทรศัพท์ที่ใช้ระบบ iOS และแม้จะไม่เคยใช้แพลตฟอร์มไทยชนะ ในสถานที่ใดๆ เลย ก็ได้รับข้อความโฆษณารบกวนเช่นกัน

ทั้งนี้ ได้มีการส่งเรื่องหารืออย่างเป็นทางการไปยังบริษัทผู้ให้บริการระบบ iOS ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้บนโทรศัพท์มือถือไอโฟน และแท็บเล็ตไอแพด ของ Apple แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบกลับมา

“ขอเน้นย้ำทุกท่านว่า อย่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพเพราะความประมาท อย่าหลงเชื่อตัวล่อ เช่นเงินรางวัล ของฟรี และไม่แนะนำให้ทดลองเปิดเว็บไซต์ เพราะข้อความนั้นอาจเป็นพาหะนำพาไวรัสคอมพิวเตอร์เข้าสู่โทรศัพท์ของท่านได้”

รัฐมนตรีดีอีเอส บอกด้วยว่า ในความเป็นจริงแล้ว หน่วยงานที่สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดบนแอปไทยชนะได้ คือกรมควบคุมโรค เมื่อพบว่าใครติดเชื้อโควิด-19 จะตรวจสอบได้ทันทีว่าคนๆ นั้นไปที่ไหนมาบ้าง ในช่วงเวลาใด และแต่ละที่มีใครบ้าง จะได้ติดต่อไปให้เข้าสู่กระบวนการตรวจโดยละเอียด และรักษาได้ทันการ

ขณะที่ ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการดีอีเอส ในฐานะรองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า แอปพลิเคชันไทยชนะ ที่พัฒนาโดยรัฐบาลไทยจะใช้ชื่อว่า “Thaichana – ไทยชนะ” ผู้พัฒนา คือ “Krungthai Bank PCL.”

ไทยชนะ

กระบวนการใช้งานแอปไทยชนะ

  • จะมีการขออนุญาตเปิดตำแหน่ง (Location) เพื่อค้นหาร้านค้าใกล้ตัว เพื่อทราบระยะทางแบบประมาณการ กรณีที่ผู้ใช้งานไม่ให้ Location แอปจะไม่สามารถเรียงข้อมูลตามระยะทางใกล้ตัวได่
  • ขออนุญาตเปิดกล้อง เพื่อสแกนคิวอาร์โค้ด

ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ ยืนยันเช่นกันว่า แอปพลิเคชั่นไทยชนะ ไม่ได้เข้าถึงที่เก็บข้อมูล หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมไปถึงไม่มีการส่งข้อมูลพิกัด Location ของผู้ใช้งานออกไปแต่อย่างใด

“ไม่มีข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ ที่ถูกส่งไปยัง server นอกเหนือจากที่ขอ เราขอเพียงเปิดกล้องเพื่อสแกนคิวอาร์โค้ด และโลเคชั่นเพื่อเช็คอิน ขณะที่ในส่วนของความปลอดภัยในเรื่องป้องกันข้อมูลรั่วไหลของแอป และมาตรฐานความปลอดภัยที่แอปมือถือต้องทำ (Certification Pinning) ซึ่งเป็นวิธีการทางเทคนิค ที่ป้องกันการดักจับหรือดักเอาข้อมูล ย้ำว่าไม่มีการนำข้อมูลส่วนบุคคลส่งไปที่อื่น นอกเหนือจากที่ขออนุญาต

ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บอยู่ในแพลตฟอร์มไทยชนะ จะถูกนำไปใช้กับกรมควบคุมโรคและรัฐบาล แต่ไม่ถูกใช้ในการอื่น นอกเหนือจากเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19”

สำหรับปัญหาข้อความ SMS สแปมที่ส่งเข้ามาทาง iMessage บนไอโฟนและไอแพด ล่าสุด ในเพจเฟซบุ๊ก iPhone Thailand ได้ให้คำแนะนำวิธีการจัดการกับเอสเอ็มเอสโฆษณารบกวนทาง iMessage ระบุว่า จากกรณีดังกล่าวทาง Apple ให้แจ้งไปยังผู้ให้บริการมือถือ ทำการบล็อกไม่ให้ส่งโฆษณา เนื่องจากเอสเอ็มเอสแปมเหล่านี้ ส่งผ่านมาทาง iMessage ซึ่งเป็นแอปที่อยู่บนอุปกรณ์พกพาที่ใช้ระบบ iOS ของ Apple โดยเบื้องต้นแนะนำปิดรับข้อความ iMessage วิธีการเข้าไปตั้งค่า และ Report

'ไทยชนะ'

วิธีการดำเนิน 3 แบบ

  • แบบที่ 1 คลิกที่ด้านบนที่โชว์ว่า “3 คน”

จากนั้นเลือก “ข้อมูล” และคลิก “กดออกจากการสนทนา” 2 รอบ จากนั้นกดเสร็จสิ้น ก็กด “ แจ้งว่าเป็นขยะ”

  • แบบที่ 2 เข้าไปที่ “การตั้งค่า”

เลือก “ข้อความ” จากนั้นคลิกที่ “ฟิลเตอร์ผู้ส่งที่ไม่รู้จัก”

  • แบบที่ 3 สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ใช้ iMessage

ให้เข้าไปที่ “การตั้งค่า” เลือก “ข้อความ ” จากนั้นคลิกปิด “iMessage” ซึ่งในข้อนี้หากต้องการใช้งานแอป iMessage ก็สามารถกลับมาเปิดใหม่ได้

2020 05 23 01

ก่อนหน้านี้  ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ได้แจ้งเตือนว่า พบแอปพลิเคชันที่ใช้โลโก้และชื่อคล้ายไทยชนะ เผยแพร่บน Google Play Store โดยอ้างว่าใช้เพื่อสแกน QR code ณ เวลาที่พบมียอดดาวน์ โหลดไปแล้วประมาณ 1,000 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชั่นดังกล่าว ไม่ใช่แอปพลิเคชันทางการ ของศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) ดังนั้น ผู้ใช้ควรพิจารณาก่อนดาวน์โหลด ซึ่งจากการตรวจสอบ แอปพลิเคชันนี้ มีจุดประสงค์หลักเพื่อแสดงโฆษณา โดยมีการขอสิทธิ ที่อาจส่งผลต่อความเป็นส่วนตัวหรือการใช้งาน ได้ เช่น โทรออก เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ และแก้ไขการตั้งค่า launcher ในเครื่อง

Avatar photo