COVID-19

ยืนยัน ‘ไทยชนะ’ ไม่ล้วงข้อมูลบุคคล เน้นใช้งานสะดวก

ศบค. ยืนยัน  “ไทยชนะ”  ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล  ใช้แค่ติดตามกรณีติดโควิด 19 เท่านั้น  แนวคิดหลักอยู่ที่การทำให้ประชาชน และร้านค้า ใช้งานได้อย่างสะดวก ปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

polawat

ระหว่างการแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 วันนี้ (20 พ.ค.) ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านสื่อสารโทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ได้แถลงร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)  ถึงกรณีของแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ที่กำลังเกิดกระแสกังวลกันถึงเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลว่า  แนวคิดหลักของการพัฒนาแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” อยู่ที่การทำให้กลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นเป้าหมายหลัก คือ ร้านค้า และประชาชน สามารถใช้งานได้ง่ายภายในไม่กี่ขั้นตอน เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

“ประชาชนและร้านค้า ไม่ต้องกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลในการเข้าลงทะเบียนใช้งานแพลตฟอร์มไทยชนะ เนื่องจาก ศบค. พิจารณามอบหมายให้ กรมควบคุมโรคเป็นผู้ควบคุมข้อมูล และให้ธนาคารกรุงไทย เป็นผู้ประมวลผลข้อมูลภายใต้การควบคุม ดังนั้น ผู้ประมวลผลก็ไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากวัตถุประสงค์การควบคุมโรคโควิด-19 จึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีการส่งต่อข้อมูลไปให้หน่วยงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง”

ก่อนหน้านั้น นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ก็ได้ยืนยันเช่นกันว่า การสร้าง www.ไทยชนะ.com  ผ่านการศึกษาอย่างละเอียดมาแล้วว่า จะไม่กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล หรือนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง โดยกระทรวงสาธารณสุขมีเจตนาเพื่อควบคุมโรคอย่างเดียว และใช้แค่โทรศัพท์เพื่อให้ติดตามตัวได้เท่านั้น

สำหรับข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ นั้น ไม่ได้อยู่ในชุดข้อมูลดังกล่าว ส่วนชุดข้อมูลที่ใช้จะอยู่ประมาณ 60 วันเท่านั้น หากไม่เกิดการติดเชื้อ ข้อมูลก็จะถูกลบออกไป ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ

ทั้งนี้ จึงอยากเชิญชวนร้านค้า สถานประกอบการที่ไม่ได้อยู่ในห้าง กลุ่มธุรกิจ กลุ่มผู้ให้บริการกิจการหรือดูแลกิจกรรมที่อยู่ในกลุ่มสีเขียว และกลุ่มสีขาว ทั้งที่ได้สั่งเปิดไปแล้วหรือแผงลอยอื่น ๆ ให้เข้ามาลงทะเบียนในแพลตฟอร์มไทยชนะทั้งหมด เพื่อที่จะได้มีระบบเดียวในการดูแลและง่ายต่อการติดตามโรค

Avatar photo