COVID-19

‘สาทิตย์’ เตือน! ระวังผู้รับเหมาฮั้วใช้งบ ‘พ.ร.ก.กู้เงิน’ เสนอเปิดเว็บไซต์ให้ตรวจสอบ

“สาทิตย์” เตือน! ระวังจังหวัดกับผู้รับเหมาฮั้วใช้งบ 4 แสนล้านจาก “พ.ร.ก.กู้เงิน” เสนอเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์-ตั้ง กมธ. ติดตามเพื่อความโปร่งใส

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย

เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (29 พ.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏรได้เปิดอภิปรายการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ตามมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่  พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท, พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออกจาก Soft Loan และ พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน เป็นวันที่ 3

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า มาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลเป็นเรื่องจำเป็นและทำถูกต้องแล้ว ทั้งการล็อกดาวน์พื้นที่ การให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่การดำเนินการดังกล่าวก็ทำให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลงโดยสิ้นเชิง ส่งผลกระทบต่อคนจน จึงต้องใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหา ด้วยการออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ส่วน พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับ เป็นเรื่องการใช้สภาพคล่อง

สำหรับแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาทนั้น ต้องให้เกิดผลทันที มีโครงการเป็นตัวชี้วัด เพราะแม้จะมีการกำหนดกรอบแผนงานในบัญชีแนบท้ายไว้ 4 ด้าน แต่ไม่มีการเขียนแยกแยะวงเงินแผนงานแต่ละด้านเอาไว้ สะท้อนว่าไม่มีการคิดหรือเตรียมการหรือไม่ และเมื่อไม่มีตัวกรอบโครงการ ก็มีแนวทางปฏิบัติให้แต่ละจังหวัดเสนอโครงการมาภายในเดือนมิถุนายน

จึงขอตั้งข้อสังเกตถึงรัฐบาลว่า ขอให้ระวัง อย่าให้เป็นจังหวัดฮั้วกับผู้รับเหมา หรือนำโครงการเก่ามาปัดฝุ่น งบประมาณ4 แสนกว่าล้านเมื่อเฉลี่ยทุกจังหวัด ตกจังหวัดละ 5,000 กว่าล้านบาท ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลเมื่อเทียบกับงบประมาณปกติ

นอกจากนี้ ควรมีสัดส่วนภาคประชาสังคมเข้ามานั่งในคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ และรัฐบาลควรจัดทำข้อมูลเผยแพร่ทางเว็บไซต์ว่า เงิน 4 แสนล้านบาท แต่ละจังหวัดเสนอโครงการอะไรบ้าง มีการอนุมัติโครงการใด และมีความคืบหน้าอย่างไรให้ประชาชนได้ติดตาม

สภา

นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้โปร่งใสมากขึ้น เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญติดตามการใช้จ่ายเงิน พ.ร.ก. นี้  เมื่อคณะกรรมการกลั่นกรองเปิดเผยในเว็บไซต์แล้ว ก็ให้ส่งข้อมูลนั้นมาที่ กมธ. ด้วย เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ตรวจสอบอีกทางหนึ่ง เพื่อรับประกันว่าโครงการทั้งหลายจะเกิดผลในทางการสร้างรายได้ และแก้ปัญหาที่เกิดจากผลกระทบโควิด-19 อย่างแท้จริง เพราะ พ.ร.ก.กำหนดเพียงว่าให้รายงานผลภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ นั่นหมายความว่าจะติดตามได้ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

“คิดว่าฝ่ายรัฐบาลด้วยกันน่าจะเห็นประโยชน์ตรงกัน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลกระทบกับเงิน 4 แสนล้านบาท ได้ใช้เงิน แต่ไม่เกิดประโยชน์ จึงคิดว่า พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ เกี่ยวพันถึงชีวิตคนทั้งหมด เกี่ยวพันถึงหนี้สินที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลานต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นการพิจารณาต้องรอบคอบ จึงต้องติดตามดูการใช้จ่ายเงินทั้งหลายที่เกิดขึ้น” นายสาทิตย์กล่าว

Avatar photo