Business

ชี้โอกาสลงทุน ‘หน้ากากอนามัย’ เมื่อกลายเป็น ‘ของที่ต้องมี’

การระบาดของโควิด-19 ทำให้ปริมาณหน้ากากอนามัยมีไม่เพียงพอต่อความต้องการทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่าอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล หรือ PPE อย่างหน้ากากอนามัย ถุงมือ มีความต้องการพุ่งสูงขึ้นถึง 100 เท่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ปัจจุบันในประเทศไทย มีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย 11 โรง ผลิตหน้ากากอนามัยได้ราว 40.5 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งข้อมูลจากกรมการค้าภายในระบุว่า ในภาวะปกติความต้องการใช้หน้ากากอนามัยของไทยอยู่ที่ประมาณ 30 – 40 ล้านชิ้นต่อเดือน แต่จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว มาอยู่ที่ความต้องการราว 200 ล้านชิ้นต่อเดือน

coronavirus 4817450 1280 1

ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงได้ในช่วงต่อไป แต่ปัญหามลพิษทางอากาศ กระแสรักสุขภาพ และแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยด้านระบบทางเดินหายใจที่มีมากขึ้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนความต้องการหน้ากากอนามัยของไทยในอนาคต

เห็นได้จากข้อมูลของ WTO ที่ระบุวาา มลพิษทางอากาศได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 7 ล้านคนต่อปี จากการสะสมและสูดอากาศเป็นพิษเข้าไปในร่างกาย และมีผู้ป่วยราว 334 ล้านคน ที่ต้องทนทุกข์กับโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด ปอดอักเสบ

สำหรับประเทศไทยนั้น มลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและกินระยะเวลายาวนาน โดยค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยในกรุงเทพฯ มีค่าเกินระดับมาตรฐานในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม กินระยะเวลาเกือบ 5 เดือน อีกทั้งยังมีฝุ่นจากหมอกควันไฟป่าทั้งในประเทศและข้ามประเทศ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคใต้จะพบมากในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน

นอกจากนี้ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า จำนวนผู้ป่วยในที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจซึ่งต้องใส่หน้ากากอนามัย เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หลอมลมอักเสบ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พีเอ็ม2.5

ทั้งหมดนี้ เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ หน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ของมันต้องมี

ขณะที่ประเทศไทย มีปัจจัยส่งเสริมในการผลิตหน้ากากอนามัยภายในประเทศ เนื่องจากมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ อีกทั้งภาครัฐยังให้การสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการแพทย์อีกด้วย

 

วัตถุดิบหลักที่ใช้ผลิตหน้ากากอนามัยได้แก่เม็ดพลาสติก polypropylene ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตอยู่แล้ว โดย EIC ประเมินว่าหากต้องนำเม็ดพลาสติก polypropylene ไปผลิตหน้ากากอนามัยให้มีเพียงพอใช้ครบทุกคนราว 70 ล้านชิ้นต่อวัน โดยเป็นหน้ากากแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และใช้ติดต่อกัน 5 เดือน ตามระยะเวลาที่ฝุ่น pm 2.5 มีค่าเกินมาตรฐาน จะมีความต้องการใช้หน้ากากอนามัยราว 10,500 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งจะใช้ polypropylene ราว 42,000 ตันต่อปี

ในปี 2562 ไทยมีกำลังการผลิต polypropylene กว่า 2.5 ล้านตันต่อปี แต่มีการผลิตจริงที่ 2.1 ล้านตัน และถูกนำไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกเส้นใยราว 5% ของการผลิตทั้งหมด ซึ่งปริมาณการผลิต polypropylene ของไทยมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ และสามารถส่งออกได้ราว 9.5 แสนตันในปี 2562

อุตสาหกรรมต้นน้ำ

ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจุัยสนับสนุนการลงทุนผลิตหน้ากากอนามัย จากการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ ที่ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ให้สิทธิพิเศษกับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เช่น ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ

นอกจากนี้ ไทยยังมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้าน Medical Tourism อีกทั้งอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ยังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จึงเป็นปัจจัยส่งเสริมสำคัญจากทางภาครัฐที่จะทำให้ตลาดหน้ากากอนามัยมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

กำลังการผลิตโพลี

อย่างไรก็ตาม การลงทุนผลิตหน้ากากอนามัยของไทยยังมีความท้าทายสำคัญที่ต้องคำนึงถึงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ปัญหาสำคัญในระยะสั้นที่ทำให้ไทยไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ในทันที คือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตผ้า และแผ่นกรองหน้ากากอนามัย melt-blown ต้องนำเข้าจากจีนเป็นหลัก ซึ่งทำได้ยากลำบากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพราะจีนควบคุมการส่งออก

ในส่วนของผู้ผลิตไทยที่มีเครื่องจักรอยู่แล้ว ยังเผชิญกับปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากส่วนประกอบที่เป็นผ้า และแผ่นกรอง melt-blown หายากและต้องรอสินค้าจากจีนเป็นเวลานาน ต้นทุนของผ้าดังกล่าวยังสูงขึ้นมาก จากเดิมที่มีราคาเฉลี่ย 80-100 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มเป็น 1,700-2,000 บาทต่อกิโลกรัม เพราะโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยทั่วโลกมีความต้องการสูงมาก ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ไทยควบคุมราคาไม่ให้ขายเกิน 2.50 บาทต่อชิ้น

fig 05 04 2020 06 59 11

สำหรับความท้าทายในระยะยาว ผู้ผลิตไทยต้องพัฒนาความสามารถทางการแข่งขัน ทั้งตลาดในประเทศที่มีผู้ผลิตหน้ากากอนามัยจากต่างประเทศส่งออกมาตีตลาด และตลาดส่งออกที่ผู้ผลิตไทยส่งออกหน้ากากอนามัยไปขายยังต่างประเทศ โดยคู่แข่งสำคัญคือ จีน และไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดของหน้ากากอนามัยกว่าครึ่งหนึ่งของโลก รวมถึงความท้าทายเรื่องเทคโนโลยีการผลิต โดยไทยยังไม่สามารถผลิตเครื่องจักรทำผ้า melt-blown ได้เอง ต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

EIC มองว่าแม้ไทยจะมีความท้าทายหลายด้าน แต่ในระยะยาวการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำของการผลิตหน้ากากอนามัยควรต้องได้รับการสนับสนุนต่อไป เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชน

Avatar photo