COVID-19

เปิดตัวแอป ‘ไทยชนะ’ สแกนเข้า-ออกร้านค้าที่ ‘ผ่อนปรน’ ให้เปิด ยันรักษาความลับ

ดีอีเอส เปิดรายละเอียด แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” เครื่องมือกรองโควิด-19 หวังใช้บริการร้านค้าปลอดภัย ด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดก่อนเข้าและออกจากร้านค้า พร้อมยันข้อมูลเป็นความลับ ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ศบค.ได้จัดทำแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” ขึ้น เพื่อดำเนินการตามมาตรการ 5 ข้อของ ศบค. โดยผู้ประกอบการ หรือร้านค้า ต้องไปลงทะเบียนในเว็บไซต์ เพื่อให้ได้คิวอาร์โค้ดมาแปะไว้ที่หน้าร้าน จากนั้นหากประชาชนจะเข้าไปใช้บริการในร้านค้า ต้องสแกนคิวอาร์โค้ดก่อน

นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต
นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต

สำหรับการสแกนคิวอาร์โค้ด ถือเป็นการเช็คอิน และลงทะเบียนข้อมูลส่งไปยังกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สามารถติดตามตัวผู้ใช้บริการที่ไปร้านค้าที่เป็นพื้นที่เสี่ยง โดยจะมีข้อความส่งไปยังโทรศัพท์มือถือให้สามารถไปรับบริการตรวจฟรีได้ ขณะที่ผู้ใช้บริการหรือประชาชนก็จะทราบปริมาณความหนาแน่นของผู้ใช้บริการในร้านค้านั้นๆ เพื่อตัดสินใจว่าจะใช้บริการหรือไปร้านอื่น และควรจะเช็คเอาท์ออก เมื่อออกจากร้านทุกครั้ง

ทั้งนี้ ดีอีเอสยืนยันว่า ข้อมูลทุกอย่างเป็นความลับ และไม่ยุ่งยากซับซ้อน ใช้งานง่าย อีกทั้งยังทำให้ประชาชนช่วยตรวจสอบผู้ประกอบการ ว่าปฏิบัติตามมาตรการ 5 ข้อของ ศบค.หรือไม่ และจะมีการให้คะแนน ซึ่งถือเป็นผลดีของผู้ประกอบการที่จะเรียกเรตติ้ง หากปฏิบัติตามทุกข้อ และยังถือเป็นความปลอดภัยของผู้ใช้บริการด้วย

นอกจากนี้ ยังเปิดให้ทุกกิจการที่ ศบค.ประกาศผ่อนคลาย สามารถไปลงทะเบียนในเว็บไซต์ได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าขนาดใหญ่ หรือ ร้านรถเข็นริมทาง มีเพียงเงื่อนไขเดียวคือ ต้องเป็นกิจการที่ได้รับการผ่อนปรน

ไทยชนะ

อย่างไรก็ตาม หากร้านค้าไม่สะดวกที่จะติดคิวอาร์โค้ดหน้าร้าน ก็สามารถใช้วิธีจัดกาสมุดจดเพื่อลงทะเบียนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ แต่จะยุ่งยาก และมีความเสี่ยง เนื่องจากการ้านนั้นเป็นพื้นที่เสี่ยงจะต้องตามเช็คข้อมูลผู้ใช้บริการกันทั้งวันและไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ แต่หากใช้วิธีสแกนคิวอาร์โค้ดจะสามารถจำกัดบุคคลกลุ่มเสี่ยงได้เป็นช่วงเวลา ซึ่งจะลดความวุ่นวายลงได้

นพ.พลวรรธน์ ยังยืนยันว่า การส่งข้อมูลจากแอป “ไทยชนะ” ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิ เพราะเป็นเรื่องการควบคุมโรค เหมือนการไปใช้บริการโรงพยาบาล ที่จะต้องบอกข้อมูลกับแพทย์และข้อมูลนั้นจะเก็บไว้ในกรมควบคุมโรค นำมาใช้ด้วยเหตุผลในการควบคุมโรคเท่านั้น โดยในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ จะเริ่มเปิดให้ผู้ประกอบการลงทะเบียน

Avatar photo