Politics

มติเอกฉันท์! บอร์ดสปส.เมิน ‘หม่อมเต่า’ ไม่เพิ่มเงินผู้ประกันตน75% 

บอร์ดประกันสังคม มติเอกฉันท์ ไม่เห็นด้วยข้อเสนอ”หม่อมเต่า” เพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนจากผลกระทบโควิด-19 เป็น 75%  ยันมติเดิมไม่ลดเก็บเงินสมทบนายจ้างเหลือ 1%

จากกรณีที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ให้ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานจาก 62% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน เป็น 75% แต่ไม่เกินเพดาน 15,000 บาท  พร้อมปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง/สถานประกอบการจากเดิมที่ลดอยู่ที่ 4% เป็นเหลือ1%

ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่มีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน มีมติเป็นเอกฉันท์ยืนยันมติบอร์ดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ที่ให้สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุโควิด-19 อยู่ที่ 50% ระยะเวลา 60 วัน

แรงงาน1 e1586250529854

“ด้วยเหตุผลว่าหากจ่ายให้ 75 % อาจจะกระทบต่อกองทุนประกันว่างงานและไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนที่มีทั้งสิ้น 16 ล้านคน ขณะนี้ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดของทุกฝ่ายเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน”

นางอรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ในฐานะกรรมการบอร์ดประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่าที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมได้หารือถึงการเพิ่มเงินว่างงาน  75% มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

“ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นห่วงสถานภาพของกองทุน เกรงว่าในอนาคตอาจจะเกิดวิกฤตอื่นๆ ที่ต้องใช้เงินอีก หากนำเงินส่วนนี้มาดูแลผู้ประกันตนจำนวนหนึ่ง อาจไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนที่ไม่ได้ใช้สิทธิในคราวนี้ ที่สำคัญการจ่ายในลักษณะดังกล่าวไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขและเจตนารมณ์ของกฎหมายประกันสังคม”

“ที่ประชุมจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยที่จะเพิ่มการจ่ายเงินว่างงาน 75% เพราะเป็นห่วงอนาคต หากเกิดวิกฤตว่างงานอีกในปี 2564-2565 จะหาเงินจากไหน ส่วนเรื่องการยืดจ่ายเงินออกไปถึงสิ้นปี ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน ยังยืนยันว่าเบื้องต้นควรจ่าย 50% เป็นเวลา 60 วัน ตามมติที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563” นาง อรุณี กล่าว

อรุณี

ส่วนกรณีการลดเงินสมทบของนายจ้าง/สถานประกอบการเหลือ1% นางอรุณี กล่าวว่า ที่ประชุมยังไม่ได้มีการหารือเรื่องนี้ แต่จากการประชุมบอร์ดประกันสังคมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 บอร์ดประกันสังคมได้เสนอให้ลดการจ่ายเงินสมทบ ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเท่ากัน เหลือ 4%  ครม.ก็อนุมัติให้ลูกจ้างจ่าย1% ส่วนนายจ้างให้จ่าย 4%

“เข้าใจเจตนาดีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการจะช่วยเหลือลูกจ้างและสถานประกอบการ แต่ประเด็นสำคัญโดยหลักการจะต้องมีการพูดคุยกันที่บอร์ดประกันสังคมด้วยระบบไตรภาคี  เรามีความไม่สบายใจตั้งแต่บอร์ดประกันสังคมมีมติให้การจ่ายเงินกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย 50% แต่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานใช้อำนาจเพิ่มให้เป็น 62% ถ้ารัฐบาลสั่งให้หยุดกิจการเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เราไม่ขัดข้องที่จะจ่ายเงินชดเชย แต่ที่กังวลคือ ผู้ประกอบการที่ฉวยโอกาสเนื่องจากขายของไม่ดีจึงหยุดด้วย เรื่องนี้มาผสมโรงกันเพื่อได้รับเงินชดเชย 62% แทนที่ลูกจ้างจะได้รับ 75% ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน” นางอรุณี กล่าวและว่าเรื่องนี้ต้องฟังเสียงของผู้ประกันตน

นางอรุณี กล่าวว่าขณะนี้กองทุนว่างงานมีเงิน 160,000 ล้านบาท เงินส่วนนี้ควรจะนำไปช่วยให้คนที่ทำงานมาชั่วชีวิตได้รับเงินบำนาญเพิ่มมากขึ้นจะดีกว่า และในฐานะที่ตนเป็นผู้ประกันตนและเป็นลูกจ้างเหมือนกันเชื่อว่าผู้ประกันตนส่วนใหญ่ก็คิดแบบเดียวกัน  หากมีการนำเงินไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง มั่นใจว่าจะมีคนออกมาปกป้องสิทธิของตัวเองเช่นกัน ทั้งนี้หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต้องการให้มีการเพิ่มเงินชดเชยเป็น 75% ควรจะเสนอของบประมาณจากรัฐบาลมาช่วยในส่วนนี้แทน อย่าผลักภาระให้ประกันสังคม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight