Politics

ลูกจ้างเตรียมเฮ! ‘หม่อมเต่า’ชงครม.เพิ่มเงินช่วยเป็น75% – ลดเงินสมทบนายจ้างเหลือ 1%

ลูกจ้างเตรียมเฮ ‘หม่อมเต่า’ เสนอครม.เพิ่มเงินช่วยลูกจ้างจาก 62% เป็น 75% ให้เท่ากับกรณีที่นายจ้างสั่งให้หยุดงาน ลดเก็บเงินสมทบนายจ้างเหลือ1%  เตือนนายจ้างเร่งรับรองสิทธิ์หยุดงานลูกจ้าง ภายใน 8 พ.ค.นี้  

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของความล่าช้าในการจ่ายเงินกรณีว่างงาน  เป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ทยอยจ่ายเสร็จสิ้นไปกว่าครึ่งจากจำนวนผู้มีสิทธิ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 จำนวน 990,523 ราย เจ้าหน้าที่วินิจฉัยอนุมัติแล้ว 492,273 ราย เป็นเงิน 2,563.612 ล้านบาท ซึ่งตนได้สั่งให้ดำเนินการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แล้วเสร็จงวดแรก ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563

กรณีที่สถานประกอบการที่หยุดประกอบกิจการชั่วคราว และไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน สปส.ขอให้สถานประกอบการกลุ่มดังกล่าวเร่งดำเนินการรับรองการหยุดของลูกจ้าง พบว่า มีผู้ประกันตน  289,104 ราย ที่รอนายจ้างเข้ามารับรองสิทธิ สถานประกอบการกลุ่มนี้ จะได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน รวมทั้งได้รับหนังสือแจ้งเตือนจาก สปส.เร่งรัดให้เข้ามารับรองการหยุดงานของลูกจ้าง ภายในวันที่ 8 พฤษภาคม 2563

หม่อมเต่า1

“งานนี้เป็นงานยากเป็นพิเศษโดยไม่มีข้อแก้ตัว เพราะงานแจกของที่อื่นพอเขียนกฏหมายเสร็จแจกได้เลย งานเราบังคับลูกจ้างและนายจ้างไม่ได้ นายจ้างก็ไม่ได้มีหน้าที่เอาใจลูกจ้าง เราทำช้าเพราะมีหลายสาเหตุ” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ระบบคอมพิวเตอร์ของ สปส.ต้องรอคน 5,000 คน หรือ 50,000 คน ถึงจะทำได้ครั้งหนึ่ง ตอนนี้ได้สั่งการห้ามทำงานอื่น ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ปรากฏว่าคอมพิวเตอร์ชุดนี้ที่มีมูลค่ากว่า 2,894 ล้านบาท คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติว่าผู้ที่ดำเนินการมีความผิดและต้องคืนเงิน 556 ล้านบาท ซึ่งตนไม่ได้ทราบเรื่องมาก่อน ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของระบบประกันสังคม ไม่สามารถทำอะไรได้อย่างที่อยากให้เป็น  แต่ความล่าช้าที่เกิดขึ้นได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าไปช่วย สปส.

“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะฮาร์ดแวร์มันไม่เวิร์ค ซื้อปี 2552 มีการร้องเรียน และ ป.ป.ช.ตรวจสอบแล้วว่า ไม่ถูกต้อง และให้ปรับผู้ดำเนินการ ผมเพิ่งทราบเมื่อเช้านี้เอง เพียงแต่ผมก็สังเกตเห็นว่า ทำไมคอมพิวเตอร์ถึงไม่เดิน ทั้งๆ ที่คอมพิวเตอร์สมัยนี้ทำอะไรได้เยอะแยะ แต่ที่นี่ต้องรอ เป็นเพราะโครงสร้างคอมพิวเตอร์ที่มันไม่เวิร์ค ผมก็ตกใจเหมือนกันว่าข้าราชการถูกปรับ 556 ล้านบาท เมื่ออุทธรณ์ก็แพ้อุทธรณ์ ผมเคยทำข้าราชการมานาน ยังไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้” ม.ร.ว.จัตุมงคล  กล่าว

ม.ร.ว.จัตุมงคล  กล่าวว่าภายในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้  หากผู้ประกันตนที่ยื่นเรื่องมายังไม่ได้รับเงิน ขอให้อุทธรณ์มาได้เลย ก่อนหน้านี้เคยมีการพูดกันว่าอาจมีผู้ประกันตนมาใช้สิทธิมากถึง 2 ล้านคน หรือ 5 ล้านคน  หากเป็นเช่นนั้น สปส.ก็หน้ามืดเหมือนกัน แต่วันนี้เราเมื่อมีผู้มาขอใช้สิทธิไม่ถึง 1 ล้านคน ทำให้มีเงินจ่ายได้ ยกเว้นสิ้นเมื่อถึงสิ้นปีแล้วสถานการณ์ของอเมริกาและยุโรปยังแย่ จนไม่มีใครซื้อของจนทำให้คนตกงานจำนวนมากและมาขอใช้มาตรการนี้เพิ่มขึ้น  ถึงตรงนั้นก็คงต้องออกมาตรการชุดใหม่ขึ้นมา

หม่อมเต่า2

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เพิ่มการจ่ายเงินว่างงานจาก 62% ของเงินเดือน เป็น 75% เพื่อให้เท่ากับกรณีที่นายจ้างสั่งให้หยุดงาน และจ่ายเงินให้ลูกจ้าง 75% ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือนายจ้างด้วย เพราะหากช่วยเหลือแรงงานอย่างเดียว โดยไม่ช่วยนายจ้างก็จะไปไม่รอด  ขณะนี้มีนายจ้างกว่า 3 แสนคน ที่กำลังจ่ายเงินในลักษณะนี้อยู่

“นอกจากนี้ เราจะเสนอ ครม.ให้ลดการจ่ายเงินประกันสังคมให้นายจ้าง จาก 5% เหลือ 1% ด้วย คือ นายจ้างไม่ต้องเสียเงิน แตกต่างจากลดให้ลูกจ้าง ซึ่งเท่ากับเป็นการได้เงิน เพราะได้เงินชราภาพ จริงๆ แล้วผมไม่ต้องการพูดอะไรมาก เพราะต้องให้ผ่าน ครม.ก่อน แต่ผมมั่นใจค่อนข้างมากเพราะมีสัญญาณส่งมาถึงผมด้วย ไม่ใช่ผมคิดเองทำเอง กรณีที่รัฐบาลได้พบนักธุรกิจและแรงงาน เขาส่งสัญญาณให้ผมดูใหม่อีกทีได้หรือไม่ คราวที่แล้วเข้าใจดีเพราะไม่รู้ว่าเราต้องจ่ายเท่าไหร่ แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าแค่ 1 ล้านคน ต้องจ่าย 2.5 หมื่นล้านบาท” รมว.แรงงาน กล่าว

หม่อมเต่า4

รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงาน แจ้งว่า เหตุการณ์ทุจริตคอมพิวเตอร์ 2.8 พันล้านบาท ของ สปส.ได้เป็นข่าวโด่งดังเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการล็อคสเปคให้กับบางบริษัท  มีนักการเมืองใหญ่เป็นผู้สั่งการไปยังผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ดำเนินการ  เรื่องนี้ได้มีการตรวจสอบและร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช.และในที่สุด ป.ป.ช.ได้มีการชี้มูลความผิดไปยังอดีตผู้บริหารของ สปส.

ข่าวแจ้งว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้พยายามปรับเปลี่ยนระบบคอมพิวเตอร์ของ สปส.ใหม่ เพื่อให้ทันสมัยและรองรับกับฐานผู้ประกันตนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่กลับไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากภายในสำนักงานประกันสังคมได้เกิดความแตกแยก และผู้บริหารระดับสูงต่างสนับสนุนบริษัทที่ใกล้ชิดตัวเอง เมื่อมีการเสนอเรื่องเพื่อประมูลระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ก็มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ

โดยเมื่อเดือนก่อนคณะอนุกรรมการเทคโนโลยีและสารสนเทศ 6 คน  เป็นนักวิชาการด้านไอที จากสถาบันการศึกษาชื่อดังได้ลาออก เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์ชุดใหม่ที่นำเสนอ เป็นระบบแอพพลิเคชั่นที่สามารถเก็บฐานข้อมูลได้มากกว่าระบบเมนเฟรมที่ใช้ในปัจจุบัน ถูกผู้มีอิทธิพลบางรายแทรกแซง กระบวนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight