Business

‘คมนาคม’ ขอประชาชนเข้าใจต้องรอคิวขึ้น ‘รถไฟฟ้า’ ป้องกันโควิด-19

“ปลัดคมนาคม” เผย “รถไฟฟ้า” วิ่งถี่สุดทุก 3 นาที วอนผู้โดยสารเข้าใจสถานการณ์ยังไม่ปกติ ต้องรอคิวใช้บริการ กระทุ้งเอกชนรายใหญ่ให้พนักงานอยู่บ้านหรือเหลื่อมเวลาทำงาน ช่วยกระจายการเดินทาง

4MOT 2562 08 09 ปกค.ประชุมแก้ปัญหาสัมปทานทางด่วน by PP 8

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ประจำวันนี้ (8 พ.ค.) ว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีการเดินทางเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่าเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 รถไฟฟ้าซึ่งเป็นระบบหลักในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเกิดความหนาแน่นแออัด ดังนั้น จึงต้องขอชี้แจงและขออภัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

สาเหตุที่รถไฟฟ้าหนาแน่นในวันดังกล่าว เกิดจากระบบเดินรถขัดข้อง ส่งผลให้ไม่สามารถเดินรถได้ 3-4 ขบวนในชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้า ผู้โดยสารจึงแออัด ไม่สามารถควบคุมการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การบริหารจัดการผู้โดยสารบนสถานีและขบวนรถทำได้ยากมาก

จากปัญหาดังกล่าว กระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ซักซ้อมทำความเข้าใจ เน้นเรื่อง Social Distancing ในการใช้ระบบรถไฟฟ้า โดยเมื่อวันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2563 ผ่านมา มีการฝึกซ้อมวิธีบริหารจัดการเพื่อให้ผู้โดยสารใช้รถไฟฟ้าอย่างมั่นใจและปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

S 8823017

ผู้โดยสารต้องรอคิว

โดยกระทรวงคมนาคมได้ติดตามสถานการณ์เมื่อวานนี้ (6 พ.ค.) และวันนี้พบว่า การบริหารจัดการดีขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามข้อแนะนำ อย่างไรก็ตาม มีประชาชนบางส่วนร้องเรียนว่า ต้องรอคิวนาน ซึ่งต้องยอมรับ เพราะเดิมรถไฟฟ้าบรรทุกผู้โดยสารได้ 1,000-1,100 คนต่อขบวน แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และใช้มาตรการ Social Distancing ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ก็ทำให้บรรทุกผู้โดยสารลดลง 1 ใน 4 เหลือ 250 คนต่อขบวน

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมขอให้ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า ปรับเพิ่มความสามารถในการขนส่งให้เต็มขีดจำกัดและเพิ่มความถี่ในชั่วโมงเร่งด่วน แต่การปรับเพิ่มความถี่ทำได้จำกัด เพราะขบวนรถไฟฟ้าต้องห่างกันอย่างน้อย 3 นาที ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

ที่สำคัญคืออยากให้ประชาชนเข้าใจว่า ถึงจะปรับเพิ่มความถี่ในการเดินรถสูงสุดแล้ว แต่ประชาชนก็ต้องมารอคิวเพื่อขึ้นขบวนรถไฟฟ้า เนื่องจากมีมาตรการแบ่งประชาชนเป็นกลุ่มๆ ให้ทยอยเข้าสถานีและขบวนรถไฟฟ้า เพื่อลดความแออัด โดยขณะนี้เป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ต้องจัดรูปแบบการบริหารจัดการเพื่อป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งก็จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หากมาตรการไม่เพียงพอ ก็จะปรับรูปแบบต่อไป

41 2563 3

กระทุ้งเอกชน

“นายกฯ สั่งการให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจทำงานที่บ้านมากขึ้น เพื่อลดการเดินทางลง ก็ขอความกรุณาเอกชนที่มีพนักงานลูกจ้างจำนวนมาก ถ้าให้ลูกจ้างทำงานที่บ้านได้ ก็จะช่วยเรื่องการเดินทางได้มาก อีกส่วนคือสลับหรือเหลื่อมเวลาการทำงาน โดยมีการมอบเป็นนโยบายให้หน่วยงานราชการเข้างานเป็น 3 ช่วง คือ 7 โมง, 8 โมง และ 9 โมง ซึ่งช่วยกระจายผู้โดยสารได้ แม้ทำงานที่บ้านไม่ได้ ก็เหลื่อมเวลา สลับเวลา ช่วยความหนาแน่นการเดินทางช่วงเร่งด่วนได้มาก” นายชัยวัฒน์กล่าว

สำหรับประชาชนที่ต้องการเดินทางข้ามจังหวัดด้วยเที่ยวบินภายในประเทศนั้น ขณะนี้มีสนามบิน 18 แห่งเปิดให้บริการ โดยขอให้ประชาชนศึกษากฎระเบียบการเดินทางในจังหวัดปลายทางซึ่งแตกต่างกัน รวมถึงกรอกเอกสารประวัติการเดินทางและเดินทางกลับถึงที่พักภายในเวลา 22.00 น. ตามมาตรการเคอร์ฟิวด้วย

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อว่า ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทรวงคมนาคมได้ออกประกาศ/คำสั่งควบคุมพื้นที่ กิจกรรม กิจการต่างๆ รวมทั้งกำหนดเวลาเดินทางให้เป็นไปตามมาตรการเคอร์ฟิวของรัฐบาลระหว่างเวลา 22.00-04.00 น.

โดยมีการสั่งให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด ระงับการให้บริการ 203 เส้นทาง ใน 20 จังหวัด จากทั้งหมด 800 กว่าเส้นทาง รวมถึงงดการเดินรถไฟระหว่างจังหวัด ส่งผลให้การบริการรถไฟโดยสารลดลงจาก 500 ขบวนต่อวัน เหลือเส้นทางระยะสั้น ไม่เกิน 200 กิโลเมตร จำนวน 43 ขบวนต่อวัน

Avatar photo