World News

ลีราป่วนโลก!! เอเชียเตรียมรับผลกระทบวิกฤติตุรกี

บริษัท และนักลงทุนในเอเชีย กำลังทุ่มความสนใจไปยังตุรกี จากการที่วิกฤติค่าเงินของประเทศรายนี้ ได้กลายมาเป็นภัยคุกคาม ที่จะทำให้เกิดภาวะวุ่นวายในการเงินโลก

000 18C66Y

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินลีราตุรกีร่วงลงมากกว่า 20% และทำสถิติอ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์ที่ตลาดเอเชียเมื่อวานนี้ (13 ส.ค.) ที่ 7.2 ลีราต่อดอลลาร์

การอ่อนค่าดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ประธานาธิบดีเรเซป เตย์ยิป เออร์โดแกน ผู้นำรัฐบาลอังการา ลังเลที่จะจัดการกับอัตราเงินเฟ้อที่ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ตราบเท่าที่ผมยังมีชีวิตอยู่ เราจะไม่เข้าไปติดกับดอกเบี้ย” เออร์โดแกน กล่าว บ่งชี้ว่า เขาอาจจะเข้าขวางธนาคารกลางตุรกี ไม่ให้ขึ้นดอกเบี้ย

สถานการณ์ของเงินลีรา ส่งผลให้เกิดการเทขายสกุลเงินตลาดเกิดใหม่รายอื่นๆ จนทำให้ค่าเงินรูปี ของอินเดีย อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนเงินรูเปี๊ยะห์ อินโดนีเซียดิ่งลงมาอยู่ในระดับอ่อนค่าสุดนับแต่เดือนตุลาคม 2558

ขาลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสกุลต่างๆ นั้น สร้างความวิตกให้กับภาคธุรกิจแล้ว

“ถ้าหากเรานำผลกระทบจากค่าเงินที่อ่อนค่าลง ไปไว้ในราคาขายสินค้าอย่างเต็มที่ ลูกค้าก็จะจ่ายเงินซื้อของไม่ได้ ผู้ผลิตบางรายอาจจะต้องหยุดสายการผลิต เพราะไม่มีวัตถุดิบ และชิ้นส่วนที่ต้องนำเข้า” พนักงานของผู้ผลิตญี่ปุ่นในตุรกีรายหนึ่งกล่าว

เช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วเอเชีย ที่ต่างตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากปัญหาที่เกิดขึ้นในตุรกี จนปิดการซื้อขายเมื่อวานนี้ดิ่งลงอย่างหนัก จากการที่นักลงทุนพากันวิตกว่า สถานการณ์อาจเลวร้ายลงไปอีก

แบงก์ญี่ปุ่นเสี่ยงมากสุด

อย่างไรก็ดี บริษัท และธนาคารในเอเชีย ยังไม่ได้มีความเสี่ยงต่อวิกฤติตุรกี เท่ากับผู้ประกอบการในยุโรป

ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) แสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นมีความเสี่ยงมากที่สุดในชาติเอเชียด้วยกัน

ในการประเมินพื้นฐานความเสี่ยงสูงสุดนั้น ในไตรมาสที่สิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีมูลค่าความเสี่ยงอยู่ที่ 10,900 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าความเสี่ยงสหรัฐ ที่ 18,000 ล้านดอลลาร์ ในทางกลับกัน ความเสี่ยงของสเปนต่อตุรกีอยู่ที่ 80,800 ล้านดอลลาร์ และฝรั่งเศสที่ 35,100 ล้านดอลลาร์

แหล่งข่าวจากธนาคารญี่ปุ่นรายหนึ่ง ระบุว่า ความเสี่ยงของธนาคารต่อตุรกี มีสัดส่วนเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ หรือน้อยกว่าสินทรัพย์ในต่างประเทศของธนาคาร และคาดว่า จะไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าใดนักจากวิกฤติตุรกี

เกาหลีใต้เป็นเศรษฐกิจเอเชีย ที่มีความเสี่ยงรองลงมาจากญี่ปุ่น ที่ 1,700 ล้านดอลลาร์ ตามด้วยไต้หวันที่ 500 ล้านดอลลาร์ และออสเตรเลียที่ 100 ล้านดอลลาร์

แม้บีไอเอสจะไม่ได้ดำเนินการประเมินความเสี่ยงของจีนไว้ แต่คาดว่าจะมีความเสี่ยงเทียบเท่ากับญี่ปุ่น

000 18B12X

ประตูสู่ยุโรปของธุรกิจเอเชีย

สำหรับบริษัทเอเชีย ที่ดำเนินงานในตุรกีแล้ว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก

ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และค่าแรงที่ถูก ทำให้ตุรกีถูกมองว่าเป็นประตูสู่ตลาดยุโรปมาเป็นเวลานานแล้ว และสามารถดึงดูดการลงทุนจากเอเชียได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โตโยต้า มอเตอร์ ค่ายรถยนต์รายใหญ่สุดของญี่ปุ่น เปิดโรงงานผลิตทางตะวันออกของนครอิสตันบูล เมื่อปี 2537 และใช้เป็นฐานการส่งออกภายในภูมิภาคนั้น ขณะที่ไอเอชเอช เฮลธ์แคร์ ผู้ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลมาเลเซีย ก็มองตุรกีเป็นหนึ่งตลาดหลักของบริษัท

เมื่อปี 2558 คอสโค ชิปปิ้ง ผู้บริหารท่าเรือจีน ได้เข้าถือหุ้นในท่าบริการตู้สินค้าคัมพอร์ท ส่วนนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือเส้นทางสายไหมใหม่ของรัฐบาลปักกิ่ง

จนถึงขณะนี้ แม้จะยังไม่มีบริษัทรายใดออกมาแสดงความวิตกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่บรรดานักลงทุนก็มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว

ราคาหุ้นโตโยต้า ในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว เมื่อวานนี้ ร่วงลงไป 2.1% มากกว่าดัชนีตลาดที่ดิ่งลง 2.0% ส่วนราคาหุ้นไอเอชเอช เฮลธ์แคร์ ในมาเลเซีย ดิ่งลง 7% และคอสโค ชิปปิ้ง พอร์ท ลดลง 4% ในตลาดฮ่องกง

มิตสึฮิโตะ โอโนะ ผู้อำนวยการวิจัยการตลาดต่างประเทศ จากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (เจโทร) กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าว มีความสำคัญต่อความสามารถของตุรกี ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

“เศรษฐกิจตุรกีได้รับประโยชน์ จากการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งช่วยบรรเทาภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศที่ยืดเยื้อมานาน” โอโนะ กล่าว บ่งชี้ว่า เงินลีราอาจอ่อนค่าลงไปอีก

จับตาผลกระทบต่อศก.โลก

ความสนใจในขณะนี้ได้พุ่งเป้าไปในเรื่องผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินลีรา ที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลก

104228530 AP 654151389729.1910x1000 original
เควิน แฮสเซตต์

เควิน แฮสเซตต์ ที่ปรึกษาทำเนียบขาว กล่าวว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จับตามองสถานการณ์การเงินในตุรกีอย่างใกล้ชิด หลังจากที่เงินลีราอ่อนค่าลงอย่างหนัก

“เราจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาก เมื่อประเทศใดก็ตามสูญเสียการเชื่อมต่อกับประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพ เมื่อนั้น คุณจะไม่รู้จริงๆ ว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับเศรษฐกิจ และผมคิดว่า มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นมากมาย” แฮสเซตต์ ระบุ

ทั้งนี้ บริษัทตุรกีจำนวนมากล้วนกู้เงินในสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งเงินลีราที่อ่อนค่าลง ทำให้การชำระเงินกู้ กลายเป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้น ส่วนธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทเหล่านี้ ก็น่ากังวลในเรื่องของผลกระทบที่จะเกิดต่อดุลบัญชีของตัวเอง

กระนั้นก็ตาม ทาคาชิ โคดามะ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ จากสถาบันวิจัยไดวะ ชี้ว่า เงินลีราที่อ่อนค่าลง อาจช่วยหนุนความสามารถทางการแข่งขัน แต่ประโยชน์ใดๆ ที่จะเกิดจากเรื่องนี้ ต้องขึ้นอยู่กับว่า เศรษฐกิจยุโรปยังได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ในระดับที่น้อยมาก

ที่มา: Nikkei Asian Review

Avatar photo