COVID-19

‘โควิด-19’ อีกนานแค่ไหน กว่าเราจะได้ใช้ชีวิตปกติ

การระบาดของไวรัสโคโรนากำลังแพร่กระจายเป็นวงกว้างโดยเฉพาะในแถบยุโรป ร้านรวงและถนนหนทางที่เคยคราคร่ำไปด้วยผู้คนกลับเงียบสงัด ราวกับเมืองร้าง หลังมาตรการเข้มงวด เช่น ปิดสถานศึกษา หรือ จำกัดการเดินทาง ถูกนำมาบังคับใช้

BCP Bluebik2

แม้หลายประเทศทั่วโลกกำลังนำข้อบังคับดังกล่าวมาปฏิบัติเพื่อต่อกรกับไวรัสชนิดนี้ แต่อีกหนึ่งคำถามสำคัญ คือ เมื่อไรผู้คนจะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขเหมือนเดิมอีกครั้งหนึ่ง

ไวรัสโควิด-19 นี้จะยังคงอยู่กับมนุษย์ต่อไป และจำนวนผู้ติดเชื้อก็จะกลับมาเพิ่มขึ้นทันที หลังยกเลิกมาตรการที่เข้มงวดเบื้องต้นเพื่อแลกกับการที่เศรษฐกิจและสังคมได้กลับมาฟื้นตัว

ขณะนี้ยังไม่มีประเทศไหนในโลกที่มี “ยุทธศาสตร์ทางออก” จากปัญหานี้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้อย่างน้อย 3 วิธี

  • รอวัคซีน อีก 12 -18 เดือน เป็นอย่างต่ำ

วัคซีนจะช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันหากได้รับเชื้อไวรัส หาก 60% ของประชากรทั้งหมด ได้รับวัคซีนแล้ว ก็จะป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดขนานใหญ่อีกต่อไป หรือที่เรียกกันว่า “ภูมิคุ้มกันหมู่”

ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มนุษย์คนแรกได้รับการทดลองวัคซีนในสหรัฐแล้วอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนักวิจัยได้รับอนุญาตให้ข้ามขั้นตอนการทดสอบในสัตว์ที่จำเป็นต้องปฏิบัติในสถานการณ์ปกตินั่นเอง

vaccination 1215279 640

อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าวัคซีนดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังต้องกระจายให้ประชากรทั่วทั้งโลกอีกด้วยจึงจะยับยั้งการระบาดได้

การคาดการณ์ประเมินไว้ว่าต้องรออย่างน้อย 12 – 18 เดือน หากการทดลองดำเนินไปอย่างราบรื่น ซึ่งก็นับว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน เมื่อเทียบกับผลกระทบทางด้านสังคมจากมาตรการอันเข้มงวดที่กำลังบังคับใช้กันอยู่ขณะนี้

“การรอคอยวัคซีนไม่ควรนับเป็นแผนยุทธศาสตร์ ไม่ใช่เลย” มาร์ก วูลเฮาส์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ให้ความเห็นกับบีบีซี

  • ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ อย่างน้อย 2 ปี

มาตรการระยะสั้นของอังกฤษ คือ การควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อแบ่งเบาภาระของระบบสาธารณสุข หากเตียงผู้ป่วยล้น อัตราการเสียชีวิตก็พุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย  เมื่อสถานการณ์เริ่มทรงตัว มาตรการเข้มงวดก็อาจลดหย่อนลงได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสเริ่มตีกลับขึ้นมาอีกครั้ง จึงค่อยนำข้อบังคับต่าง ๆ กลับมาใช้

แม้วิธีเช่นนี้อาจดูไม่แน่นอน แต่เซอร์ แพทริก วัลแลนซ์ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษ กล่าวว่า “การจะกำหนดระยะเวลาให้เฉพาะเจาะจงในแผนนั้นเป็นไปไม่ได้”

หากดำเนินตามหนทางนี้ ก็อาจทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นเองในที่สุด เนื่องจากผู้คนทยอยติดเชื้อไวรัสกันนั่นเอง ซึ่งศาสตราจารย์นีล เฟอร์กูสัน จาก อิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่าต้องใช้เวลาหลายปี

4 1 1 e1584271801546 1 1 ตัด 1
ภาพจาก xinhua

“เรากำลังพูดถึงการยับยั้งการแพร่ระบาดโดยหวังให้มีแค่ผู้คนส่วนน้อยของประเทศที่ติดเชื้อ เพราะฉะนั้น เมื่อเราดำเนินมาตรการแบบนี้ต่อเนื่องสัก 2 ปีขึ้นไป ก็อาจจะทำให้ประชากรจำนวนมากพอเคยติดเชื้อจนสร้างภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่งภายในชุมชนนั้น”

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าภูมิคุ้มกันดังกล่าวจะคงอยู่ยาวนานเพียงใด หากนำเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่นที่ทำให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดามาเทียบเคียงแล้วก็จะพบว่า ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นคงอยู่เพียงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งทำให้มนุษย์ติดเชื้อตัวเดิมได้หลายครั้ง

  • ทางเลือกอื่น ๆ ที่ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่

“วิธีที่สามคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราอย่างถาวร ซึ่งจะทำให้อัตราการแพร่เชื้ออยู่ในระดับต่ำ” ศาสตราจารย์วูลเฮาส์กล่าว

แผนการนี้หมายรวมถึงการบังคับใช้มาตรการเข้มงวดบางอย่างเช่นเดิม หรือการมุ่งหน้าตรวจผู้ติดเชื้ออย่างขะมักเขม้นแล้วกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง

การพัฒนายารักษาโควิด-19 ก็นับเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งเช่นกัน ซึ่งสามารถนำมาใช้ทันทีที่ผู้ป่วยแสดงอาการ และหยุดยั้งการส่งต่อให้ผู้อื่น

japaa

นอกจากนี้ การรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้มีอาการดีขึ้นจนไม่จำเป็นต้องพึ่งการดูแลอย่างเข้มข้นในห้องไอซียู หรือ การเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยฉุกเฉินก็ช่วยได้เช่นกัน

ศาสตราจารย์คริส วิตที หัวหน้าที่ปรึกษารัฐบาลด้านการแพทย์ของรัฐบาลอังกฤษ กล่าวว่า “ยุทธศาสตร์ทางออก” ของเขา คือ “ในระยะยาว เป็นที่ชัดเจนว่าวัคซีนคือทางออก และพวกเราก็หวังว่ามันจะเกิดขึ้นได้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ทั่วทั้งโลก จะช่วยกันใช้วิทยาศาสตร์หาทางออก”

ที่มา : BBC Thai

Avatar photo