COVID-19

เข้ม! ขอหน่วยงานรัฐ-เอกชน โดยเฉพาะเขตกทม. หยุด! ทำงานที่บ้าน ลดระยะห่างให้ถึง 90%

ไทยติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 127 ราย ยอดสะสม 1,651 ราย ป่วยหนักพุ่ง 23 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 เป็นรายที่ 10 ประกาศ! ขอความร่วมมือหน่วยงานรัฐ-เอกชน ให้บุคลากร หยุด ! ทำงานที่บ้าน ลดระยะห่างทางสังคมให้ถึง 90% หลังสำรวจพบ เขตกรุงเทพ คนยังออกจากบ้านกว่าครึ่ง ย้ำตัวเลขติดเชื้อแล้ว แต่ไม่มีอาการ 18%  

64110C7F 59E2 4BED 94EF 1F207CB98F4A 1

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ประจำวันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยระบุว่า มีผู้ป่วยเพิ่ม 127 ราย ยอดสะสม 1,651 ราย ผู้ป่วยหนัก 23 ราย

ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 10 ราย เป็นชายไทย อายุ 48 ปี อาชีพนักดนตรี ทำงานอยู่กรุงเทพ มีประวัติเบาหวาน และมะเร็ง ป่วยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ด้วยอาการ ไข้ และไอ กลับจากกรุงเทพไปต่างจังหวดด้วยอาการหอบ และเดินทางไปที่รพ.อำเภอ ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นถูกส่งต่อไปที่รพ.ประจำจังหวัด อาการปอดอักเสบ และรุนแรงขึ้น จนระบบหายในล้มเหลว และติดเชื้อที่กระแสเลือดอย่างรุนแรง และ เสียชีวิตเวลา 05.00 น.ในวันนี้( 31 มี.ค.)

reportt

สำหรับกลุ่มผู้ป่วย 62 ราย มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย

  • กลุ่มสนามมวย 4 ราย
  • สถานบันเทิง 11 ราย
  • สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 47 ราย

ส่วนกลุ่มอื่นๆ 49 ราย ประกอบด้วย

  • คนไทยกลับมาจากต่างประเทศ 17 ราย
  • ชาวต่างชาติ มาจากต่างประเทศ 6 ราย
  • อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานสัมผัสใกล้ชิดชาวต่างชาติ 9 ราย
  • บุคลากรด้านการแพทย์ และสาธารณสุข 3 ราย
  • อื่นๆ 8 ราย

และมีผู้รอการสอบสวนโรค 16 ราย

reportt

สำหรับการสรุปสถิติผู้ป่วย 1,651 รายนั้น เป็นคนไทย 1,407 ราย ต่างชาติ 244 ราย สำหรับคนไทยที่ป่วย อยู่ในพื้นที่กรุงเทพสูงสุด 869 ราย ตะวันออกเฉียงเหนือ 77 ภาคเหนือ 55 ราย ภาคกลาง 172 ราย และภาคใต้ 206 ราย

กลุ่มอายุที่ป่วย อายุน้อยที่สุด 6 เดือน สูงสุด 84 ปี อายุเฉลี่ย 39 ปี ยังเป็นวัยทำงาน ที่มักเดินทาง ออกนอกบ้าน ถือเป็นมีความเสี่ยงเป็นพาหะนำเชื้อ ไปติดคนในบ้าน ทั้งคนสูงอายุ และคนอายุน้อยได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยก็พบได้ทั้ง วัยทำงาน 20-29 ปี ช่วงอายุนี้ผู้ป่วยเป็นหญิงมากกว่าชาย ช่วงอายุ 30-39 ปี ผู้ป่วยเป็นชายมากกว่าหญิง และช่วงอายุ 40-49 ปี เป็นชายมากกว่าหญิง เช่นเดียวกับช่วงอายุ 50-59 ปี ที่ผู้ป่วยเป็นชายมากกว่า ซึ่งจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ต่อไป

ทั้งนี้จะพบว่า ผู้ป่วยรายใหม่ 127 ราย คือ ผูู้ติดเชื้อเมื่อ 5-7 วันก่อน แต่เพิ่งมาแสดงอาการ ดังนั้นจากการประเมิน หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และความร่วมมือมากขึ้น เราจะมีผู้ติดเชื้อน้อยลง อย่างไรก็ตาม นพ.ทวีศิลป์ ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า การติดเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นผู้ป่วยมีอาการ 81.6% และไม่มีอาการ 18.4% 

“ผู้ป่วยรายใหม่ ยังอยู่ในพื้นที่กรุงเทพ 74 คน นนทบุรี ภูเก็ต ยะลา 6 คน นครปฐม 3 คน ปทุมธานี สมุทรสาคร ศรีสะเกษ อุตรดิตถ์ ตัวเลขนี้เรียกได้ว่า กรุงเทพ เป็น “รังโรค” จึงมีคำถามว่า คนกรุงเทพ ยังต้องทำอะไรมากกว่านี้หรือไม่ ? การออกมาบนท้องถนน ต้องจำเป็นจริงๆ หากเจอกัน ต้องเว้นระยะห่าง 2 เมตรให้ได้  ” 

report03 0

นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า หลายหน่วยงาน และองค์กรยังคงให้บุคลากรมาทำงาน จึงต้องขอความร่วมมือ ให้นายจ้างผู้ประกอบการ ขอให้พิจารณาให้ดีว่า เป็นประโยชน์อย่างไร ในการดึงบุคลากร มาอยู่รวมกันในห้องทำงาน สามารถทำงานที่บ้านทดแทนการทำงานในที่ทำงานได้หรือไม่ เพราะความเสี่ยง จากการเอาคนมาอยู่ร่วมกัน มาใกล้ชิดท่าน อาจนำความเสี่ยงมาให้ท่านเอง รวมถึงบุคลากรสุดท้ายก็ต้องหยุดงาน และอยู่รพ.ยิ่งเสียหายมากกว่าเดิม

ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัด ยังวางใจไม่ได้ เพราะผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดต่างๆก็มีมากขึ้น วันนี้ ( 31 มี.ค.) ติดเชื้อแล้ว 61 จังหวัด และต้องย้ำว่า คนติดจากสนามมวย ลดลง แต่กลับไปอยู่บ้านในต่างจังหวัด กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงเจน 1 และไปกองในพื้นที่ต่างจังหวัด

P01 graph 01

เช่นเดียวกับ คนไทยที่กลับต่างประเทศ ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงต้องไม่นิ่งนอนใจกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน เพราะส่วนใหญ่กลับมาจากพื้นที่ระบาด และกลับไปต่างจังหวัดกัน กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อใหม่ ซึ่งหลายคนร่วมมือ แต่หลายคนยังไม่ให้ความร่วมมือ ส่วนกลุ่มสถานบันเทิง ตัวเลขผู้ป่วยทรงๆ อย่างไรก็ตามก็ต้องขอร้องให้งดเว้นร่วมสังสรรค์ใดๆ

สำหรับมาตรการเพิ่มเติมนั้น รัฐบาลให้ปลัดสาธารณสุข ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ซึ่งมาตรการต่างๆต้องปรับไปตามข้อมูล นำเข้าของกระทรวงสาธารณสุข หากจำนวนผู้ป่วยลดลง ก็คงไม่ต้องมีมาตรการใดเพิ่ม หากไม่ใช่ ตัวเลขผู้ป่วยยังเพิ่มขึ้น สิ่งที่จะเกิดตามมา คือ มาตรการเข้มข้น เพื่อให้เราควบคุมผู้ป่วยให้เหลือ “ศุูนย์” 

โดยในต่างจังหวัด นายกรัฐมนตรี มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ นำข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นพื้นฐาน และออกมาตรการตามความเหมาะสม เพราะพ่อเมืองจะมีข้อมูลรายละเอียดมากที่สุด

ทางด้านผู้ป่วยที่ยังไม่เปิดเผยข้อมูล ขอย้ำว่า เราไม่ต้องการใช้กฎหมายบังคับ เราต้องการให้เปิดเผยประวัติกัน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ ทำการรักษาอย่างดี ขณะเดียวกันแพทย์ และบุลคลากร จะได้ป้องกันตัวเองได้ เพราะแพทย์ที่ป่วย 1 คน โดยไม่รู้ตัว ก็จะไปติดคนไข้ ที่ไปตรวจต่อ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ที่ทำงานด้วยกัน ไปโยงกับสังคมชุมชนที่อยู่อีก รวมแล้วต้องหยุดงานหลายสิบคน กระทบอีกหลายร้อยคน

กรณีกระแสข่าว ว่าเชื้อไวรัส COVID-19 จากอิตาลี รุนแรงกว่ากจีนนั้น ก็มีการพูดกันมากในวงการนักวิชาการ ต้องใช้เวลาพิสูจน์กันต่อไป ในเรื่องสายพันธ์ุ และการตามดูตัวเลขสะสมด้วย อย่างไรก็ตามการป้องกันควบคุมเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในเวลานี้

ด้านนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลักระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ป่วยเพิ่ม วันนี้ 8% มีผู้ป่วยกลับบ้านเพิ่มด้วย ทำให้ผู้ป่วยกลับบ้านสะสมแล้ว 342 ราย ผู้ป่วยนอนรพ.ลดเหลือ 1,299 ราย

สำหรับการประเมินระยะห่างทางสังคมของประชาชนทำได้ 70% แต่เราต้องการ 90% เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยลง ให้มีทรัพยากรดูแลูผู้ป่วยพอเพียง ก็ต้องขอให้ช่วยกันปรับพฤติกรรม ไม่จำเป็น ไม่ออกจากบ้าน ไมรวมชุมนุม เพื่อกดกราฟผู้ป่วยใหม่ให้ลดลง ย้ำว่าผู้ป่วยของไทยมีอายุระหว่าง 20-50 ปี ถือว่าไม่ใช่ผู้สูงอาย ดังนั้นเราจึงต้องย้ำในเรื่องการลดระยะห่างทางสังคม

ส่วนกลุ่มผู้ป่วย ที่กลับมาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น  ก็ต้องช่วยกันคัดกรองเข้มข้นในพื้นที่ ส่วนผู้ป่วยในเรือนจำ ที่ติดเพราะไปสัมผัสกับตำรวจในโรงพักนั้น แต่เราควบคุมได้เรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกันเรากำลังเฝ้าดูการส่งอาหาร ขอให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน ต้องจัดที่นั่งให้คนส่งอาหารรอ และอยู่ห่างกันเกิน 2 เมตร หากไม่ดูแล ปล่อยให้คนรับส่งอาหารยืนออหน้าร้าน ไม่ดูแลความสะอาด อาจมีมาตรการควบคุมเพิ่มเติม

report021

นพ. ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุถึงกรณีมีชาวบ้านแขวนต้นกระเพราไว้หน้าบ้าน เพื่อป้องกันไวรัส COVID-19 หรือใส่เครื่องรางต่างๆนั้น ยืนยันว่า ไม่ช่วยอะไร สำคัญที่สุด คือ วิธีปฏิบัติตัวของเราทุกคน หลีกเลี่ยงไปสถานที่แออัด เลี่ยงไม่ได้ ใส่หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ อย่าเอามือไปจับบริเวณใบหน้า รับประทานร้อน ไม่ใช่ของส่วนตัวร่วมกัน

ทางด้านการคาดการณ์ผู้ป่วย อย่าไปมองตัวเลข ให้มองเหตุผลหลักว่า การคาดการณ์นั้น เป็นการนำไปวางแผน เตรียมอุปกรณ์ เตียง หอผู้ป่วย หอผู้ป่วยหนัก จนถึงเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ  จากการคาดการณ์ของนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เรามีฉากทัศน์ ว่า หากไม่ทำอะไรเลย ตัวเลขผู้ป่วยจะไปถึง 24,000-25,000 ราย

แต่หากเพิ่มระยะห่าง 50% คนป่วยจะลดลงเหลือ 17,000 ราย แต่หากเพิ่มไปถึง 80% ยอดผู้ป่วยจะเหลือ  7,000 ราย ซึ่งตัวเลขนี้ ห่างจากฉากทัศน์อีกชุดหนึ่ง ที่บอกว่าไม่ทำอะไร ไม่ปิดเมือง จะมียอดผู้ป่วย  3.5 แสนราย ผู้เสียชีวิต 7,000  ราย หากปิดเมือง ผู้ป่วยจะเหลือ 24,000 ราย เสียชีวิต 500 ราย ในกลางเดือนเมษายน 2563

“ประเด็น คือ ตอนนี้เราไม่ได้ปิดเมือง ปิดสถานที่บางแห่งเท่านั้น ทุกคนใช้ชีวิตประจำวันได้ ออกไปทำงานได้ แม้ขอความร่วมมือไปเยอะ ให้ออกจากบ้านน้อยลง แต่สถานที่ราชการ เอกชน ยังทำงาน รถยังติดทุกวัน สิ่งที่เราต้องการ คือ ให้คนออกจากบ้านให้น้อยกว่านี้อีกให้มากๆ เพื่อประคับประคองสถานการณ์ ทำให้ยอดผู้ป่วยรายใหม่ลดลง “

นพ.ธนรักษ์ ย้ำว่า ยุทธศาสตร์การบอกสถานการณ์ให้คนกลัว ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง เพราะพอคนกลัว จะเกิดความกังวล และจะไม่ปฏิบัติตัวอย่างมีเหตุผล เกิดการรังเกียจกัน และตีตรา เราเห็นตัวอย่างมาหลายครั้ง กรณีที่บางบอนไม่ใช่ครั้งแรก คนกลัวจะปกปิดข้อูล ไปรพ.ก็ไม่พูดประวัติ  ยิ่งทำให้โรคแพร่ได้ง่าย

วิธีที่ถูกจริงๆ คือ การบอกความจริง ให้ข้อมูลถูก้อง ให้คนเกิดปัญญา และตระหนักด้วยตัวเอง ปัญญา และสติ จะทำให้เราผ่านวิกฤติความกลัวไปได้ เราต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้คนไทย เพื่อให้เราก้าวข้ามสถานการณ์วิกฤติ 

UpDate02 1

Avatar photo