Wellness

5โรคร้ายทำคนกรุงเทพฯเสียชีวิตสูงสุด

นพ.ปิยสกล

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่มีศ.คลินิก เกียรติคุณ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน รับทราบแนวทางการ”พัฒนาระบบสุขภาพเขตเมือง”

ทั้งนี้เนื่องจากมีประชาชนย้ายถิ่นทะลักเข้ามาอยู่ในเขตเมืองมากขึ้น โดยในปี 2559 มีประชากรอาศัยในเขตเมือง 48.40% สูงขึ้นจากปี 2554 สัดส่วน 36.12 % ปี 2556 สัดส่วน 45.90 % และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ขณะที่คนเมืองมีแนวโน้มเป็นโรคเพิ่มสูงขึ้นจากวิถีชีวิตที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา และเผชิญหน้ากับมลภาวะทุกวัน ค่าใช้จ่ายสูง กินอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น ส่งผลให้คนเมืองเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดสมอง รวมถึงปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า

โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมีประชากรตามทะเบียนราษฎร์ในปี 2559 จำนวน 5,166,284 คนไม่นับรวมประชากรแฝง คาดว่าจะมีประชากรอาศัยอยู่จริงๆมากกว่า 8 ล้านคน

โครงการศึกษาสภาวะสุขภาพประชาชนในเขตกรุงเทพ ของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2556 พบผลการตรวจโรคประจำตัวของคนกรุงเทพ โรคที่เป็นมากที่สุด คือ

  • ความดันโลหิตสูง 25%
  • เบาหวาน 42%

ส่วนโรคทางจิตเวช พบว่าเขตกรุงเทพมีความชุกของโรคถึง 5% สูงกว่าอัตราความชุกเฉลี่ยของประเทศที่อยู่ที่ 2.7% เนื่องจากวิถีชีวิตของคนที่มีความเร่งรีบ และแข่งขัน ทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ

ส่วนมะเร็งที่พบมากในพื้นที่กรุงเทพฯ เรียงตามลำดับ  เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในกลุ่มผู้หญิง ประกอบด้วย

  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • มะเร็งปากมดลูก

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม รายงานว่า กรุงเทพฯเป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรงจากการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานสูงสุดในช่วงปี 2553-2557

ส่วนโรคที่ทำให้คนกรุงเทพฯเสียชีวิตสูงสุด 5 อันดับแรก คือ

  • โรคหัวใจ
  • ความดันโลหิตสูง
  • ระบบหายใจล้มเหลว
  • ไตวายเรื้อรัง
  • อัมพาต

ประชาชนในเขตกรุงเทพฯไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพ มีเพียง 9% ของคนกลุ่มตัวอย่างอายุ 19-24 ปีและ 49.9% ของกลุ่มตัวอย่างอายุ 25-59 ปี ที่มีการตรวจสุขภาพในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา และไม่ออกกำลังกาย 32.96%

ปัญหาท้าทายของระบบสุขภาพในเขตเมือง   1.ความซ้ำซ้อนระหว่างผู้ให้บริการ ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2.ขาดการเชื่อมโยงและบูรณาการในการจัดบริการสุขภาพ 3.หน่วยบริการสุขภาพในเขตเมืองไม่ครอบคลุม ทำให้ประชาชนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงได้ 4.มุ่งเน้นการรักษาพยาบาลมากกว่าส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค

ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงระดมสรรพกำลังใช้กลไกสมัชชาสุขภาพวางแนวทางพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมือง พ.ศ.2561-2570 ใน 6 ด้านประกอบด้วย

1.พัฒนาระบบสุขภาพเขตเมือง โดยเน้นบริการแบบเวชศาสตร์ครอบครัวให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม

2.พัฒนากำลังคนรองรับ เน้นการทำงานเป็นทีมโดยใช้หลักเวชศาสตร์นครอบครัว

3.การจัดการเงินการคลังสุขภาพเขตเมืองให้เหมาะสม

4.พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการบริการสุขภาพเขตเมือง

5.การวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนระบบบริการเขตเมือง

6.การทำงานอย่างมีส่วนร่วม โดยประชาชนเป็นศูนย์กลาง

โดยในการหารือครั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)หารือเพื่อนำแนวทางทั้ง 6 ด้านไปสู่การปฏิบัติต่อไปให้เป็นรูปธรรมต่อไป

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight