World News

ไทยติดอันดับ 64 ‘ดัชนีความรุ่งเรืองเด็ก’ ชี้ทั่วโลกล้มเหลวปกป้อง ‘อนาคต-สุขภาพ’

ผลศึกษาชี้ ทุกประเภทในโลกล้มเหลวด้านการปกป้องสุขภาพ และอนาคตของเด็ก จากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการทำตลาดแบบเอาเปรียบ ขณะไทยติดอยู่อันดับ 64 ดัชนีความรุ่งเรืองเด็ก แต่ยังมีคะแนนไม่ดีนัก ด้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวประชากร

การสำรวจที่จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก (ฮู) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) และวารสารทางการแพทย์ “เดอะ แลนเซ็ต” (The Lancet) นี้ เป็นการจัดอันดับ 180 ประเทศทั่วโลก โดยพิจารณาจาก “ดัชนีความรุ่งเรืองเด็ก” ซึ่งไทยติดอยู่ในลำดับที่ 64 ของการจัดอันดับนี้ โดยได้รับคะแนนในดัชนีความรุ่งเรืองของเด็กที่ 0.75 คะแนน

index 01

ส่วนในเรื่องของอันดับความยั่งยืนนั้น ไทยติดอยู่ในอันดับที่ 122 และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวประชากรที่ 4.79 ตัน

นอร์เวย์ เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และไอร์แลนด์ ต่างถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ดีที่สุดสำหรับความรุ่งเรืองของเด็กในช่วงไม่กี่ขวบปีแรก ขณะที่แอฟริกากลาง ชาด โซมาเลีย ไนเจอร์ และมาลี เป็นกลุ่มประเทศ 5 อันดับท้ายสุดของดัชนี

แต่ในด้านของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต่อหัวประชากรนั้น ปรากฏว่า บุรุนดี ชาด และโซมาเลีย ต่างมีคะแนนดีสุดในด้านนี้ ส่วนสหรัฐ ออสเตรเลีย และซาอุดีอาระเบีย ติดอยู่ในกลุ่ม 10 ประเทศท้ายตาราง

รายงานบอกด้วยว่า มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น ที่มีแนวโน้มจะบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ภายในปี 2573  ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลทั่วโลกให้คำมั่นถึงการบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน และสามารถทำคะแนนได้ดีติดอยู่ใน 70 อันดับแรกของดัชนีความรุ่งเรืองเด็ก ซึ่งก็คือ แอลบาเนีย อาร์เมเนีย เกรเนดา จอร์แดน มอลโดวา ศรีลังกา ตูนิเซีย อุรุกวัย และเวียดนาม

รายงานระบุว่า แม้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาด้านเด็กรอดชีวิต สารอาหาร และการศึกษาจะก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่เด็กๆ ในทุกวันนี้ ก็ยังเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอนอยู่ จากการมีภัยคุกคามที่จะคงอยู่ตลอดไปอย่างการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ

“การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ระบบนิเวศเสื่อมโทรมลง การอพยพของประชากร ความขัดแย้ง ความไม่เท่าเทียมกัน และการปฏิบัติเชิงพาณิชย์ที่เอาเปรียบ ล้วนแต่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ และอนาคตของเด็กในทุกประเทศ”

chh

คณะกรรมการผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ ที่ประกอบไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเด็ก และวัยรุ่น 40 คนจากทุกประเทศทั่วโลก ยังเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อช่วยปกป้องสุขภาพ และอนาคตของเด็กจากภาวะฉุกเฉินเรื่องโลกร้อน

รายงานยังเน้นให้เห็นถึงภัยคุกคามต่อเด็ก จากการทำการตลาดที่เป็นอันตราย โดยพยานหลักฐานจำนวนหนึ่งบ่งชี้ว่า เด็กในบางประเทศได้ดูโฆษณาทางโทรทัศน์เพียงช่องทางเดียวมากถึง 30,000 ครั้ง ในเวลา 1 ปี ขณะที่ในสหรัฐ กลุ่มวัยรุ่นที่เห็นโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 250%

ขณะที่การศึกษาในออสเตรเลีย แคนาดา เม็กซิโก นิวซีแลนด์ และสหรัฐ แสดงให้เห็นว่า กฎระเบียบที่เกิดขึ้น ไม่ได้ทำให้ความสามารถที่จะโฆษณาต่อเด็กๆ ลดน้อยลงไปแต่อย่างใด

Avatar photo