World News

‘นาซา’ ชี้ ‘ควันไฟป่าออสเตรเลีย’ หมุนวนรอบโลก กระจายมลพิษไปทั่ว

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือนาซา คาด กลุ่มควันขนาดใหญ่ จากเหตุไฟป่าครั้งรุนแรงเป็นประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย จะลอยวนไปรอบโลก ก่อนจะวกกลับมายังต้นทาง

GettyImages 1198798301

นาซา ระบุว่า ดาวเทียมหลายดวงได้ติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มควันที่ลอยสูงขึ้นไปในชั้นบรรยากาศของโลก ในขณะที่กลุ่มควันที่กำลังหมุนวนไปทางทิศตะวันออกมุ่งตรงไปยังอเมริกาใต้ และที่อื่นๆ

“นับถึงวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา กลุ่มควันได้เดินทางไปครึ่งโลกแล้ว ลอยข้ามอเมริกาใต้ ทำให้ท้องฟ้ามีสภาพขมุกขมัว ทั้งยังทำให้ท้องฟ้าเต็มไปด้วยสีสัน ในช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตก”

นาซา คาดการณ์ด้วยว่า กลุ่มควันจะลอยวนรอบโลกอย่างน้อย 1 รอบ ก่อนที่จะวนกลับมายังท้องฟ้าเหนือออสเตรเลียอีกครั้งหนึ่ง

โพสต์บนหน้าเว็บไซต์ของนาซา ที่ลงวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ยังระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดาวเทียมของนาซาได้ตรวจพบกลุ่มควันจำนวนมากเป็นพิเศษ จากแหล่งไฟป่าออสเตรเลีย และจากควันที่แพร่กระจายไปทางตะวันออก ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของโลก และว่า พายุที่เกิดจากเมฆฝนชนิดพิเศษ จากแรงยกตัวของกระแสอากาศร้อนที่เกิดจากไฟป่า ซึ่งเรียกกันว่า ไพโรคิวมูโลนิมบัส (pyrocumulonimbus) นั้น ทำให้กลุ่มควันจำนวนมากทะลุขึ้นไปถึงชั้นสตราโตสเฟียร์ ที่อยู่สูงเหนือโลกขึ้นไปกว่า 16 กิโลเมตร ทั้งยังมีละอองขี้เถ้า ควัน และวัสดุที่ถูกเผาไหม้ ถูกลมร้อนอย่างรุนแรงยกตัวขึ้นไปอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลกด้วย

“ถ้าหากไปอยู่ในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์แล้ว กลุ่มควันสามารถกระจายไปไกลเกือบ 2,000 กิโลเมตรจากแหล่งกำเนิด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพชั้นบรรยากาศทั่วโลก”

ทั้งนี้ พื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร ในออสเตรเลียถูกไฟป่าเผาไหม้ไปแล้วมากกว่า 68 ล้านไร่ นับแต่ที่เหตุไฟป่าครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นในเดือนกันยายน 2562 ซึ่งเกิดขึ้นเร็วกว่าฤดูการเกิดไฟป่าประจำปีของออสเตรเลียนานหลายเดือน โดยรัฐนิวเซาท์เวลส์ และวิคตอเรีย ทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศ เป็นพื้นที่ที่เกิดไฟป่ารุนแรงสุด

Avatar photo