World News

เส้นทางของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ หลัง ‘อิมพีชเมนต์’

แม้ว่าการโดนสภาผู้แทนราษฎร ลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง (อิมพีชเมนต์) จะกลายเป็นจุดด่างพร้อยในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้รับประกันว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” จะต้องหลุดไปจากตำแหน่งผู้นำอเมริกันจริงๆ

000 1MG7YD

การชี้ชะตาว่า ทรัมป์ จะต้องออกจากทำเนียบขาวหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของวุฒิสภาสหรัฐ ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มพิจารณาเรื่องนี้ในเดือนมกราคมปีหน้า

อำนาจในสภาสูงของสหรัฐ แตกต่างจากในสภาผู้แทนราษฎรอย่างสิ้นเชิง เพราะในขณะที่สภาล่างนั้น มีพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากอยู่ ทำให้มีเสียงมากพอที่จะลงมติผ่านการอิมพีชเมนต์ได้ แต่ในวุฒิสภานั้น ต้องการเสียงเห็นด้วยถึง 2 ใน 3 ถ้าอยากให้ทรัมป์หลุดจากตำแหน่ง

กรณีดังกล่าวหมายความว่า จะต้องมี สมาชิกวุฒิสภา 67 เสียง จากทั้งหมด 100 เสียง ที่สนับสนุนการอิมพีชเมนต์ ซึ่งเมื่อการที่ในสภาสูงนั้น มีส.ว.สังกัดพรรคเดโมแครต หรือส.ว.อิสระอยู่เพียง 47 คน ทำให้ยังต้องการเสียงจากส.ว.ฝั่งรีพับลิกันอีก 20 เสียง เพื่อสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว แน่นอนว่า มีความเป็นไปได้ยากมาก

สำหรับกระบวนการไต่สวนของวุฒิสภานั้น สมาชิกทั้ง 100 คน จะทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุน โดยมี ผู้พิพากษาจอห์น โรเบิร์ตส์ หัวหน้าคณะผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่แต่งตั้งโดยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของรีพับลิกัน ทำหน้าเป็นผู้พิพากษาในเรื่องนี้

ในจำนวนคณะลูกขุน ที่จะทำหน้าที่นั่งรับฟังการไต่สวนผู้นำสหรัฐย่างเงียบๆ นี้ รวมถึง วุฒิสมาชิก 5 คน ที่ลงแข่งขันชิงเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต เพื่อลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ รวมอยู่ด้วย 5 คน

นักวิเคราะห์มองว่า การไต่สวนขั้นตอนสุดท้ายนี้ จะสร้างข้อได้เปรียบทางการเมืองให้กับทรัมป์ เนื่องจากจะทำให้เห็นภาพของส.ว.พรรครีพับลิกัน ที่สู้เคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับผู้นำประเทศ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประชาชนที่สนับสนุน และอาจส่งผลดีต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

สอดคล้องกับรายงานที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า ทรัมป์ต้องการที่จะให้กระบวนการไต่สวนเป็นไปอย่างยาวนาน เพื่อที่บรรดาผู้สนับสนุนเขาอาจจะออกมาปกป้องเขา และหวังว่าจะช่วยดึงคะแนนเสียงสนับสนุนใหม่ๆ เข้ามาได้

impeachment P01 01

กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่า ส.ว.รีพับลิกัน ที่อยู่ภายใต้การนำของ มิทช์ แมคคอนแนล อยากจะดำเนินการในเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นไปภายในเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ โดยที่ไม่ต้องเรียกพยานเข้าให้ปากคำอีก

หากเป็นเช่นนั้นจริง การไต่สวนเพื่ออิมพีชเมนต์ครั้งนี้ ก็จะใช้เวลาสั้นกว่าการอิมพีชเมนท์อดีตประธานาธิบดี 2 คนก่อนหน้านี้ คือ แอนดรูว์ จอห์นสัน ที่ใช้เวลาไต่สวนนาน 10 สัปดาห์ และ บิล คลินตัน ที่ใช้เวลานาน 5 สัปดาห์

ทั้งจอห์นสัน และคลินตัน ต่างไม่ได้ปรากฎตัวในการไต่สวน เพื่อแสดงพยานหลักฐานด้วยตัวเอง ซึ่งคาดว่าทรัมป์ก็จะทำตามแบบเดียวกันนี้

ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองสหรัฐ มองด้วยว่า แม้ทรัมป์จะรอดพ้นจากการถอดถอนในครั้งนี้ ตามที่เสียงส่วนใหญ่คาดการณ์กันไว้แล้ว แต่เขาก็จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอีกครั้งในอีก 11 เดือนต่อจากนั้น ในความพยายามที่จะชนะการเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง

ที่ผ่านมา ไม่เคยมีประธานาธิบดีรายใด ที่โดนอิมพีชเมนต์ แล้วได้รับเลือกกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีก โดยในสมัยของอดีตประธานาธิบดีจอห์นสันนั้น เขาล้มเหลวที่จะให้สมาชิกพรรคมีมติส่งเขาเป็นตัวแทนลงชิงตำแหน่งผู้นำประเทศ ส่วนอดีตประธานาธิบดีคลินตัน ไม่ได้ลงเลือกตั้งอีก หลังจากหมดวาระการดำรงตำแหน่งสมัย 2 ในอีก 2 ปีหลังจากนั้น

กระนั้นก็ตาม ยังรับประกันไม่ได้ว่า การโดนอิมพีชเมนต์ครั้งนี้ จะทำให้เสียงสนับสนุนของทรัมป์ลดน้อยไปหรือไม่ อย่างกรณีของคลินตัน ที่โดนอิมพีชเมนท์ ในข้อกล่าวหาโกหกภายใต้คำปฏิญาณ กรณีมีความสัมพันธ์กับโมนิกา ลูวินสกี้ เด็กฝึกงานของทำเนียบขาวนั้น เขากลับมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น หลังจากโดนลงมติอิมพีชเมนต์ไปแล้ว

นักวิเคราะห์ยังเชื่อด้วยว่า ในสายตาของทรัมป์นั้น การรอดพ้นจากลงมติของสภาสูงได้นั้น จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยปกป้องเขา จนเอาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ได้

Avatar photo