Business

เปิดโรดแมป ‘โอสถสภา’ บริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ ‘ต้นน้ำยันปลายน้ำ’

โอสถสภา องค์กรธุรกิจของคนไทยที่อยู่มายาวนานถึง 128 ปี โดยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2434 เป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความแข็งแกร่งไม่แพ้บริษัทข้ามชาติ ด้วยยอดขายกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์ที่สร้างความแข็งแกร่งของโอสถสภาคือ การให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

นางวรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของประเทศไทย เปิดเผยว่า โอสถสภามุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมาโดยตลอด เพราะเชื่อว่าธุรกิจที่ดีต้องไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนและสังคม

Recycle Center 4

ทั้งนี้ นโยบายและมาตรการดูแลกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของโอสถสภา จะเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงานและการใช้พลาสติกในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์แม้ว่าจะส่งผลิตภัณฑ์ถึงมือผู้บริโภค

ล่าสุด หนึ่งในกระบวนการจัดการเพื่อเติมเต็มอีโคซิสเต็มของการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร คือ การจัดตั้งศูนย์รีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังในการช่วยลดปริมาณขยะและนำขยะมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค้าและยาวนาน นำไปสู่การสร้างความยั่งยืนให้แก่ประเทศ

Recycle Center 2

สำหรับการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำนั้น โอสถสภาให้ความสำคัญตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบของบรรจุภัณฑ์ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของโอสถสภา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบรรจุในขวดแก้วกว่า 70% ให้สามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้

ขณะที่บรรจุภัณฑ์พลาสติกนั้น บริษัทเริ่มใช้พลาสติกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ อาทิ บรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค บาย เบบี้มายด์ และยังส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์แบบรีฟีล ซึ่งใช้พลาสติกในการผลิตน้อยกว่าแบบขวด

ในส่วนของศูนย์รีไซเคิล ได้จัดตั้งขึ้นในจังหวัดสระบุรี มีความสามารถคัดแยกบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบขวดแก้วและกระป๋องได้ถึงวันละ 1,000 ตัน โดยเมื่อขยะบรรจุภัณฑ์เข้าสู่ศูนย์รีไซเคิล จะผ่านกระบวนการแยกขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อนำขยะที่คัดแยกแล้วแต่ละประเภทไปรีไซเคิลเพื่อนำไปใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น ขวดแก้วและเศษแก้วจะถูกส่งต่อไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตขวดแก้ว

Recycle Center 1

“โรงงานผลิตขวดแก้วของโอสถสภานั้นใช้เศษแก้วเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตได้สูงสุดถึง 90% ช่วยให้สามารถลดการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตได้เป็นจำนวนมาก”นางวรรณิภา กล่าว

การใช้เศษแก้วเพิ่มขึ้น 10% จะช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานในเตาหลอมได้ถึง 2.5% ในส่วนของฝาอลูมิเนียมที่คัดแยกออกมานั้น จะนำมารวมกับขยะกระป๋อง และส่งให้โรงงานที่เชี่ยวชาญด้านอลูมิเนียมนำไปรีไซเคิลต่อไป

ขณะเดียวกัน โอสถสภายังอยู่ระหว่างการทำวิจัยเพื่อนำของเหลวที่คงค้างอยู่ในขยะบรรจุภัณฑ์เหล่านั้น เช่น เครื่องดื่ม ซอสปรุงอาหาร ไปใช้ประโยชน์ต่อไป เช่น นำไปผลิตปุ๋ยและสารบำรุงพืช เป็นต้น

Recycle Center 1

ศูนย์รีไซเคิลแห่งนี้ได้เปิดใช้งานในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา และถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นในการดูแลบรรจุภัณฑ์ของบริษัทให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด นับตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สำหรับผู้ที่สนใจและหน่วยงานในจังหวัดสระบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงที่มีความประสงค์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยรวบรวมบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วที่ใช้แล้วมามอบให้ศูนย์รีไซเคิลของโอสถสภา

Avatar photo