World News

‘สิงคโปร์’ ผ่อนนโยบายการเงินครั้งแรกรอบ 3 ปีครึ่ง

สิงคโปร์เดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีครึ่ง เพื่อช่วยชดเชยกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ผลจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีน กับสหรัฐ ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน

E68FEDE6 2D4B 45C5 A43E E6E62C5B5190

กรมการเงินสิงคโปร์ (เอ็มเอเอส) ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากับธนาคารกลางของประเทศ แถลงนโยบายรอบครึ่งปีในวันนี้ (14 ต.ค.) ว่า จะค่อยๆ ลดช่วงการเคลื่อนไหวของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของเงินดอลลาร์สิงคโปร์ลงมา การเคลื่อนไหวที่จะทำให้สกุลเงินท้องถิ่นอ่อนค่าลง

การทำให้เงินอ่อนค่าลงมานี้ จะทำให้สิงคโปร์เดินตามรอยประเทศอื่นๆ ในเอเชียอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ที่ต่างผ่อนคลายนโยบายการเงิน ผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

เอ็มเอเอส แถลงด้วยว่า เริ่มมีสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าขาลงของเศรษฐกิจโลก กำลังจะส่งผลกระทบถึงความต้องการในท้องถิ่น ในประเทศคู่ค้าหลักๆ ของสิงคโปร์บางรายในช่วงไม่กี่ไตรมาสข้างหน้านี้ แม้ว่าประเทศเหล่านี้ จะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบผ่อนคลายมากขึ้นก็ตาม

สิงคโปร์ยังเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ช่วงไตรมาสที่ 3 นับถึงสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่าจะขยายตัว 0.1% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ไม่เปลี่ยนแปลงจากที่ดตขึ้น 0.1% ในไตรมาส 2 ของปีนี้

ทั้งนี้ การที่เป็นประเทศขนาดเล็ก และเศรษฐกิจต้องพึ่งพาการค้าอย่างมาก ทำให้สิงคโปร์มีความเสี่ยงอย่างมากต่อการเปิดศึกขึ้นภาษีระหว่างจีน กับสหรัฐ ซึ่งต่างเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของสิงคโปร์ และในปีนี้ สิงคโปร์ก็มีมูลค่าการส่งออกลดลงอย่างหนัก

ข้อมูลของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่า การส่งออกของสิงคโปร์คิดเป็น 176% ของจีดีพีเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งภาวะซบเซาอย่างมากในภาคการผลิต อย่าง เซมิคอนดักเตอร์ส สร้างแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจอย่างมาก โดยรายงานของกระทรวงการค้า และอุตสาหกรรมสิงคโปร์ บอกด้วยว่า ภาคการผลิตของประเทศหดตัวลง 3.5% เพราะผลผลิตด้านอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมความเที่ยงตรง และวิศวกรรมขนส่งลดลง

Avatar photo