Wellness

4 วิธีป้องกันโรคน้ำกัดเท้า

กรมการแพทย์ แนะ 4 วิธีป้องกันโรคน้ำกัดเท้า หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนานๆ หรือสวมรองเท้าบูทเมื่อต้องลุยน้ำ ล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่เช็ดให้แห้งอยู่เสมอ 

1560830373368 ตัด

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคผิวหนังที่พบเสมอในภาวะน้ำท่วม คือ โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากการเดินย่ำน้ำบ่อย ๆหรือยืนแช่น้ำนาน ๆ จะทำให้เท้าเปื่อย

โดยเฉพาะบริเวณซอกเท้าบริเวณที่ผิวหนังเปื่อย เป็นจุดอ่อน ทำให้เชื้อโรคที่มากับน้ำเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ในระยะแรกเมื่อผิวหนังมีการแช่น้ำนานๆ จะเกิดอาการเปื่อย ทำให้เกิดอาการระคายเคือง จากสิ่งสกปรก หรือสิ่งระคายเคืองต่างๆ

ทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบบวม แดง คัน แสบ และทำให้เชื้อโรค เช่น แบคทีเรียหรือเชื้อรา เข้าสู่ผิวหนังทำให้ติดเชื้อได้ ซึ่งหากผิวหนัง มีการติดเชื้อแบคทีเรียจะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน แต่ถ้าเป็นเชื้อรา จะมีลักษณะเป็นขุยสีขาว มีกลิ่นเหม็น และมีอาการคัน

น้ำกัดเท้า Foot bite

การป้องกันโรคน้ำกัดเท้า คือ

1.หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนานๆ หรือสวมรองเท้าบูทเมื่อต้องลุยน้ำ

2.ล้างเท้า ให้สะอาดด้วยน้ำสบู่เช็ดให้แห้งและทาครีมบำรุงผิว

3. ถ้ามีผื่นแดงแสบ หรือคันควรทายาตามอาการ

4. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์

ทั้งนี้ การดูแลป้องกันโรคเชื้อราที่เท้าไม่ให้กลับเป็นซ้ำอีก มีความสำคัญ การรักษาความสะอาดให้เท้าแห้งอยู่เสมอ ถือเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรคนี้

และควรให้ความสนใจเป็นพิเศษที่บริเวณซอกนิ้วเท้า เมื่อเช็ดให้แห้งแล้ว ให้ทายารักษาโรคเชื้อรา แต่ถ้ามีอาการรุนแรงและเรื้อรัง ทายาไม่ได้ผล ควรไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงต่อตับไต ที่สำคัญต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเอง แม้ว่าจะดีขึ้น การหยุดยาเร็วเกินไปขณะที่เชื้อยังไม่หมด มีโอกาส กลับเป็นซ้ำอีกได้ง่าย

นอกจากนี้ผู้ประสบกับปัญหาน้ำท่วม ควรระมัดระวังเมื่อเดินลุยน้ำ เพราะอาจถูกของมีคมทิ่ม ตำ ทำให้เกิดบาดแผล และติดเชื้อโรคต่าง ๆ รวมทั้งเชื้อบาดทะยักตามมาได้ เมื่อประสบเหตุ ดังกล่าวควรไปทำแผลที่หน่วยบริการสาธารณสุขทันที และถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเชื้อบาดทะยักมาก่อนควรปรึกษาแพทย์

Avatar photo