World News

ทรัมป์ประนาม ‘ฮาร์เลย์’ เล็งโยกการผลิตเลี่ยงโดนภาษีอียู

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ออกโรงประนาม “ฮาร์เลย์ เดวิดสัน อิงค์” หลังผู้ผลิตรถจักรยานยนต์รายนี้ เเผยแผนย้ายการผลิตบางส่วนไปยังต่างประเทศ เพื่อรองรับลูกค้าในยุโรป ในความพยายามที่จะเลี่ยงการตอบโต้ด้านภาษี ซึ่งอาจทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านดอลลาร์ต่อปี

trump harley 800x430

ทรัมป์ระบุว่า เขาต่อสู้อย่างหนักเพื่อบริษัทรายนี้ และรู้สึกประหลาดใจกับแผนการดังกล่าว ที่เขาอธิบายว่า เป็นการยกธงขาว

“ผมต่อสู้อย่างหนักเพื่อพวกเขา แต่ที่สุดแล้ว พวกเขาก็ไม่อยากจ่ายภาษีสำหรับการส่งสินค้าไปขายในยุโรป ที่ซึ่งทำร้ายเราในเรื่องการค้าอย่างมาก 151,000 ล้านดอลลาร์ ภาษีเป็นแค่ข้ออ้างของฮาร์เลย์เท่านั้น อดทนหน่อย”

ฮาร์เลย์ เดวิดสัน ซึ่งครองความเป็นเจ้าตลาดในตลาดรถจักรยานยนต์สหรัฐ ประกาศเมื่อวันจันทร์ (25 มิ.ย.)ว่า จะไม่ผลักภาระราคาที่เพิ่มขึ้นในสหภาพยุโรป (อียู) ไปยังการขายปลีก หรือขายส่งใดๆ ทั้งนั้น แต่เลือกที่จะโยกฐานการผลิตบางส่วนออกไปนอกสหรัฐ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ราคาหุ้นของฮาร์เลย์ปิดตลาดร่วงลงเกือบ 6% ขณะกลุ่มนักวิเคราะห์พากันปรับลดคาดการณ์ผลกำไรของบริษัทท่ามกลางความกังวลว่า บริษัทจะสามารถปรับตัวรับการจัดเก็บภาษีนำเข้า 25% ที่อียูเริ่มบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมาได้เร็วเท่าใด

ในการเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว ทรัมป์เคยให้คำมั่น ที่จะทำให้ค่ายผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ ที่เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของอเมริกัน กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

อย่างไรก็ดี นับแต่นั้นเป็นต้น ฮาร์เลย์ก็ต้องรับผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ในด้านการค้าของผู้นำสหรัฐมาอย่างต่อเนื่อง  รวมถึง ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ฮาร์เลย์ ระบุว่า มาตรการจัดเก็บภาษีทุ่มตลาดต่อเหล็กนำเข้าของทรัมป์ อาจทำให้บริษัทมีต้นทุนเพิ่มขึ้นราว 15-20 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ เพิ่มจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว

hae

ทางด้านปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้า และการผลิตของทำเนียบขาว กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐอยากให้ฮาร์เลย์ผลิตรถจักรยานยนต์ในประเทศมากขึ้น

“จำได้ไหม พวกเขามาขอความช่วยเหลือจากเรา อย่างมาบอกว่าอินเดียเก็บภาษีนำเข้าฮาร์เลย์ เดวิดสัด 100% ซึ่งไม่ยุติธรรมอย่างแน่นอน”

“เราต้องการให้ฮาร์เลย์ผลิตที่นี่ ผลิตที่นี่มากขึ้น และเรื่องนี้จะเกิดขึ้นภายใต้นโยบายการค้าของท่านประธานาธิบดี”

ขณะโฆษกของฮาร์เลย์ ออกมาตอบโต้ท่าทีของนาวาร์โร ด้วยการระบุว่า บริษัทได้แสดงท่าทีชัดเจนแล้วในแถลงการณ์ที่ออกมา

ทั้งนี้ ฮาร์เลย์ตั้งเป้าที่จะเพิ่มยอดขายรถจักรยานยนต์ในต่างประเทศให้ได้ถึง 50% ของยอดขายโดยรวมรายปี จากปัจจุบันที่อยู่ราว 43%

เมื่อเดือนมกราคม บริษัทประกาศที่จะปิดโรงงานในเมืองแคนซัสซิตี้ รัฐมิสซูรี หลังจากที่ยอดขายรถจักรยานยนต์ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี

การเคลื่อนไหวดังกล่าว ยังเกิดขึ้นหลังจากในปี 2560 ฮาร์เลย์มียอดขายในยุโรปเกือบ 40,000 คัน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 6% ของยอดขายโดยรวมของบริษัท ซึ่งรายได้จากประเทศต่างๆ ในยุโรปนี้ มากสุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ

ในแถลงการณ์ล่าสุดนั้น บริษัทระบุด้วยว่า อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 9-18 เดือน สำหรับการเพิ่มความสามารถทางการผลิตในต่างประเทศ

ปัจจุบัน ฮาร์เลย์มีโรงงานนอกสหรัฐอยู่ 3 แห่ง ในบราซิล อินเดีย และไทย โดยโรงงานในไทย ซึ่งบริษัทตัดสินใจสร้างขึ้น หลังจากที่ทรัมป์ถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (ทีพีพี) นั้น จะช่วยให้บริษัทเสียภาษีนำเข้าในตลาดรถจักรยานยนต์บางตลาดของเอเชีย ที่เติบโตอย่างรวดเร็วน้อยลง

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight