Marketing Trends

‘ค้าปลีกเวียดนาม’ ระอุ ไทย-ญี่ปุ่น โดดชิงเค้ก ‘จิราธิวัฒน์’ พร้อมรบ ‘กลุ่มเจริญ’ เดิมพันค้าปลีก 5 ล้านล้าน

ตลาดค้าปลีกเวียดนาม กำลังเป็นสมรภูมิที่ร้อนแรง จากยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติ ที่ต่างกระโดดเข้าช่วงชิงตลาดมูลค่ามหาศาล ด้วยจำนวนประชากรที่มากถึง 95 ล้านคน เศรษฐกิจที่เติบโตจากการลงทุนจากต่างชาติที่เพิ่มกำลังซื้อของคนในประเทศ ทำให้มูลค่าตลาดค้าปลีกในเวียดนามสูงถึง 170 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 5 ล้านล้านบาทไทย และสามารถเติบโตได้ในอัตราเลขสองหลักต่อเนื่อง

Art 1

สะท้อนได้จากข้อมูลของ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ที่ระบุว่า มีธุรกิจค้าปลีกจากต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดเวียดนามเป็นจำนวนมาก โดยค้าปลีกรายใหญ่ที่เข้าไปทำตลาดในเวียดนามล่าสุดคือ ฟูจิมาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่เปิดตัวในเวียดนามเมื่อเดือนธันวาคม 2561 โดยเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท เจแปนนิส เทรดดิ้ง เฮ้าส์ ซูมิโตโม กับผู้ประกอบการค้าปลีกท้องถิ่น และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บีอาร์จี กรุ๊ป (BRG Group)

ที่น่าจับตาคือ การเข้าไปลงทุนของยักษ์ใหญ่จากประเทศไทย นั่นคือ กลุ่มจิราธิวัฒน์ โดยกลุ่มบริษัท เซ็นทรัล ที่ใช้เม็ดเงินสูงถึง 3.68 หมื่นล้านบาท เข้าซื้อกิจการ “บิ๊กซี เวียดนาม” ในปี 2559 ที่ผ่านมา และกลุ่มทีซีซี ของตระกูลสิริวัฒนภักดี ที่ส่ง แบรนด์ เอมเอ็ม เมกามาร์เก็ต ธุรกิจค้าส่งไปปักหมุดที่ประเทศเวียดนามแล้วกว่า 20 สาขา

นั่นหมายความว่า ทุนยักษ์ใหญ่จากไทยทั้งสองราย ต่างพร้อมประจันหน้าเปิดศึกค้าปลีกในเวียดนามแล้ว

GO

เมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัล เวียดนาม ซึ่งประกอบด้วย 8 กลุ่มธุรกิจ รวม 250 สาขา ได้แก่ ธุรกิจศูนย์การค้า, ธุรกิจร้านอาหาร, ธุรกิจร้านแฟชั่น และเครื่องกีฬา, ธุรกิจร้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์, ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ, ธุรกิจร้านสุขภาพและความงาม, ธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไปในราคาคุ้มค่า, ธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมบ้าน ได้ประกาศแผนธุรกิจ 5 ปี จะมีสาขาทุกกลุ่มธุรกิจรวมกัน 720 สาขา ด้วยงบลงทุนรวม 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 17,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัวศูนย์การค้าแห่งใหม่ ภายใต้ชื่อ “GO!” สาขาแรกที่ เมือง หมีถ่อ จังหวัดเตี่ยนซาง พร้อมวางเป้าหมายเป็นศูนย์การค้าเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ภายใต้แนวคิด “Eat-Shop-Play” หรือ “กิน ช้อป เที่ยว” ครบในที่เดียว และมีความเป็นไปได้สูง ที่กลุ่มเซ็นทรัลเวียดนาม จะใช้แบรนด์นี้ เสียบแทนแบรนด์บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เนื่องจากสิทธิการใช้ชื่อ “บิ๊กซี” ในเวียดนามจะสิ้นสุดลงในอีกไม่นานจากนี้

ภาพยิ่งชัดเจนมากขึ้น เมื่อ กลุ่มเซ็นทรัลเวียดนามประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ ในการลงทุน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 900 ล้านบาท ในการปรับปรุงสาขาบิ๊กซีเวียดนาม เพื่อยกระดับเป็นศูนย์การค้าพรีเมียม โดยมีรายงานว่า บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 34 แห่งที่เซ็นทรัลซื้อกิจการมา จะได้รับการปรับโฉมใหม่ทั้งหมด พร้อมทั้งเร่งเจรจากับซัพพลายเออร์ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแฟชั่นในเวียดนามกว่า 200 ราย ให้ปรับโฉมยกระดับเป็นพรีเมียมเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของบิ๊กซี ครั้งนี้

mmm

ในขณะที่บริษัท ทีซีซีกรุ๊ป จำกัดเครือ เจริญ สิริวัฒนภักดี ที่เข้าซื้อกิจการบิ๊กซู ซูเปอร์มาร์เก็ต ประเทศไทย จากกลุ่มคาสิโน เมื่อปี 2559 ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เนื่องจากกลุ่มเจริญได้ปักหมุดให้ธุรกิจค้าปลีก เป็นอีกขาธุรกิจที่ให้ความสำคัญ และมีแผนจะนำแบรนด์บิ๊กซีไปขยายสาขาในต่างประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มซีแอลเอ็มวี ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ในซีแอลเอ็มวีด้วยกัน เวียดนามถือว่ามีศักยภาพสูงสุดในธุรกิจค้าปลีก

ที่สำคัญคือ กลุ่มทีซีซี ในเครือเจริญ​ ได้เข้าไปปักหมุดธุรกิจค้าปลีกในประเทศเวียดนามแล้ว ภายใต้แบรนด์ เอมเอ็ม เมกามาร์เก็ต แต่เจาะธุรกิจค้าส่ง และแน่นอนว่า เป้าหมายต่อไป ย่อมเป็นการขยับขยายมาที่ธุรกิจค้าปลีกเช่นกัน ซึ่งในประเทศไทย ทีซีซี​ได้ปรับชื่อ เอ็มเอ็ม เมกา มาร์เก็ต ที่หนองคาย และ สระแก้ว เป็น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ แล้ว และมีแนวโน้มสูงที่จะหาลู่ทางใช้ชื่อ บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนาม เช่นกัน หาก “เซ็นทรัล เวียดนาม” หันไปใช้ชื่อ Go! แทนบิ๊กซี เพราะการเจรจาเพื่อขอใช้แบรนด์บิ๊กซีจากกลุ่มคาสิโน ถือเป็นแนวทางถนัดของเจ้าพ่อเทคโอเวอร์อย่างกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกท้องถิ่น หรือเจ้าถิ่นของเวียดนาม มีความแข็งแกร่งไม่น้อย โดยเฉพาะบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของเวียดนามอย่าง ไซง่อน คอร์เปอเรชั่น ที่ขยายเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนาม ภายใต้ชื่อ Co op Mart และ Co opXtra รวมเกือบ 100 สาขาทั่วประเทศ รวมถึงมีแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โคออฟ

หากจับสถานการณ์ค้าปลีกในเวียดนาม ณ ขณะนี้ ดูเหมือนว่า น่าจะเป็นการแบ่งเค้กที่ลงตัว ระหว่างเซ็กเมนต์ ศูนย์การค้า ที่เซ็นทรัลปักธงไว้แล้ว ขณะที่ทีซีซี ก็หันไปเน้นธุรกิจค้าส่ง ส่วนเจ้าถิ่นอย่างไซง่อน ก็ปักหลักในธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต

แต่เชื่อได้ว่า เมื่อการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกรุนแรงขึ้น การขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจค้าปลีกให้สามารถครอบคลุมเซ็กเมนต์ได้มากที่สุดถือเป็นเรื่องสำคัญ และย่อมเกิดการกลายพันธุ์ข้ามเซ็กเมนต์ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบความต้องการในทุกกลุ่มเป้าหมายเพื่อยึดครองส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกให้มากที่สุด แน่นอนว่า ในอนาคตอันใกล้ จะได้เห็นภาพนี้แน่นอนในตลาดเวียดนาม เพราะวันนี้ เวียดนามกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของธุรกิจค้าปลีกในซีแอลเอ็มวีที่ทุกรายต่างหมายปอง

Avatar photo