Branding

‘มาม่า’ ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ความอิ่มราคาถูกของคนไทย

เมื่อพูดถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” กลายเป็นชื่อเรียกติดปากของคนไทยไปแล้ว ด้วยเป็นแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักและครองส่วนแบ่งการตลาดมียอดขายอันดับหนึ่งมาโดยตลอด  

ทั้งนี้ ล่าสุดได้มีการเปิดเผยว่า ยอดขายมาม่าในปี 2562 เติบโตขึ้นเป็นพิเศษ เพียงครึ่งปีแรกยอดขายอยู่ที่ 4,600 ล้านบาท เติบโต 11.60% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ที่นำวงเงินในบัตรมารูดซื้อมาม่าสำหรับบริโภคในชีวิตประจำวัน

MAMA

จากตัวเลขดังกล่าวทำให้ส่วนแบ่งตลาดของมาม่าขยับขึ้นเป็น 51% หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3% นับเป็นตัวเลขสูงทีเดียว ทำให้บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายมาม่าทั้งปี 2562 ไว้ที่ 10,350 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 10.5% จากมูลค่าตลาดรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท

เรียกว่าเป็นข่าวดีในรอบหลายปีของมาม่าเลยก็ว่า เพราะหากย้อนกลับไปช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะพบว่ามาม่าเจอปัญหาด้านยอดขายลดลงมาโดยตลอด จาการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีคู่แข่งรายใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตรงนี้

อยากลงทุนกับ ‘มาม่า’ ต้องซื้อหุ้นอะไร

สำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ “มาม่า” เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น TFMAMA ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าตลาด (Market CAP) สูงถึง 57,698 ล้านบาท

TFMAMA เกิดจากการควบรวมกิจการในปี 2560 ระหว่างอดีตหุ้น TF บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กับอดีตหุ้น PR บริษัท เพรซิเดนท์ไรซ์โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่สัดส่วน 25.24% หรือเรียกได้ว่า TFMAMA คือหนึ่งธุรกิจย่อยในเครือสหพัฒน์นั่นเอง

MAMA2

แต่หากพูดถึงจุดเริ่มต้นของมาม่าจริงๆ ต้องย้อนไปเมื่อปี 2515 โดยเป็นการจดทะเบียนร่วมทุนระหว่างเครือสหพัฒน์ และบริษัทในประเทศไต้หวัน ซึ่งมีเทคโนโลยีผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นแค่ 6 ล้านบาท ก่อนที่หลังจากนั้นเครือสหพัฒน์จะตัดสินใจซื้อหุ้นทั้งหมดแล้วนำมาบริหารด้วยตัวเองอย่างในปัจจุบัน  

หลายคนอาจจะนึกว่า TFMAMA ขายเฉพาะมาม่าเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วบริษัทมีสินค้าครอบคลุมทั้งที่เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์อื่นๆ เช่น รุสกี, เมนดาเกะ, Thai Chef ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ แบรนด์ Green Mate และ Kelly ขนมปังกรอบแบรนด์ Homey รวมถึงขนมปัง “ฟาร์มเฮ้าส์” ที่บริษัทเพิ่งทุ่มงบ 9,000 ล้านบาท ซื้อหุ้นทั้งหมดของฟาร์มเฮ้าส์ไปเมื่อปี 2561 

‘มาม่า’ รายได้ดีแค่ไหน 

TFMAMA มียอดขายรวมในปี 2561 จำนวน 22,436 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 3.73% จากปี 2560 ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 3,404 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 19.31% จากปี 2560 

MAMA3 3

ขณะเดียวกันจากยอดขาย 22,436 ล้านบาท สามารถแบ่งออกได้เป็นดังนี้

  1. บะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูป 11,961 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 53.31%
  2. เบเกอรี่ 7,495 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 33.40%
  3. ขนมปังกรอบ 852 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.80%
  4. น้ำผลไม้ 975 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 4.35%
  5. ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ 983 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 4.38%
  6. รายได้อื่นๆ 171 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.76%

แม้จะมีธุรกิจที่หลากหลาย แต่จะเห็นว่าพระเอกของ TFMAMA ก็ยังเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอยู่ดี โดยเฉพาะ “มาม่า” ที่ขายดีมามากกว่า 40 ปีแล้ว 

จุดแข็งหนึ่งที่ทำให้มาม่าเหนือกว่าคู่แข่ง คงเป็นเรื่องช่องทางการขายรูปแบบ Traditional trade ที่มีร้านโชห่วยทั่วประเทศ พวกเขาสามารถกุมพื้นที่ได้แทบทั้งหมด ยิ่งตอนนี้มีร้านธงฟ้าประชารัฐของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยิ่งเป็นการตอกย้ำฐานลูกค้าของมาม่าขึ้นไปอีก 

4 1

อย่างไรก็ดี ในทางเศรษฐศาสตร์มีตัวชี้วัดที่ชื่อว่า “ดัชนีมาม่า” สำหรับบ่งบอกสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในตอนนั้น คือ เวลาเศรษฐกิจดี ยอดขายมาม่าจะลดลง แต่หากเศรษฐกิจแย่ มาม่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากเชื่อกันว่า “มาม่าเป็นความอิ่มราคาถูก” นั่นเอง 

Avatar photo