Business

‘ROBOT CAFE’ ไม่ใช่จุดขายแค่หุ่นยนต์ แต่เพื่อ ‘ดาต้า’ ต่อยอดธุรกิจ ‘เอ็ดดูเคชั่น สเปซ’

ใครที่ผ่านไปมาช่วงต้นซอยทองหล่อ น่าจะสะดุดตากับ ร้าน “ROBOT CAFE” ที่เพิ่งเปิดซอฟต์ลอนช์เป็นสาขาแรกเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยจุดเด่นของการนำหุ่นยนต์ หรือโรบอท เข้ามาให้บริการในร้าน แม้ว่าในระยะแรก เจ้าหุ่นยนต์นี้จะทำหน้าที่เพียง ต้อนรับลูกค้า รับออเดอร์ ส่งออเดอร์ไปยังบาริสต้า แต่เมื่อได้คุยกับเจ้าของแนวคิดและผู้ก่อตั้งร้านนี้แล้ว ต้องบอกว่า ไม่ใช่ธรรมดาแค่ที่เห็น!!

โรบอต
ศรัณพงศ์ แดงเดช

“ผมไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่เด็ก ได้เห็นร้านกาแฟนำหุ่นยนต์เข้ามาให้บริการเยอะมาก เพราะค่าแรงงานคนสูง โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ จึงทำให้ต้องนำหุ่นยนต์มาใช้แทนแรงงานคน แต่ในประเทศไทย เป็นเหตุผลที่ต่างออกไป เนื่องจากค่าแรงบ้านเรายังไม่สูงนัก จุดประสงค์การนำหุ่นยนต์มาใช้จึงชัดเจนว่า ไม่ได้เพื่อแทนแรงงานคน แต่เป็นการนำมาเสริมเพื่อให้แรงงานคนสามารถโฟกัสหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด โดยเฉพาะบาริสต้า ที่ต้องชงกาแฟที่ดีที่สุด”

แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดในการเปิดร้าน ROBOT CAFE ของ “ศรัณพงศ์ แดงเดช” ผู้คิดค้นและก่อตั้ง เพราะเขามีเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น!!

จากประสบการณ์บริหารแฟรนไชส์ร้านกาแฟอเมซอนมากว่า 7 ปี นับ 10 สาขา ทำให้ชายหนุ่มไฟแรงคนนี้อยากพัฒนาร้านกาแฟรูปแบบใหม่ที่ไฮเทคไม่เหมือนใคร โดยมีต้นทุนมาจากการศึกษาและทำงานในแวดวงเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะด้านดาต้า อนาไลติกส์ จึงมองเห็นสิ่งที่จะได้มากกว่าแค่สร้างความฮือฮาหรือดึงดูดลูกค้าเข้าร้านด้วยหุ่นยนต์เท่านั้น

สิ่งที่ ศรัณพงศ์ มองเห็น นอกเหนือจากความแปลกใหม่ ความรวดเร็วในการบริการ ก็คือ “ดาต้า” ที่ได้จากการรับออเดอร์ของลูกค้า จะทำให้สามารถเก็บข้อมูลของลูกค้าในแต่ละร้านแต่ละทำเลได้ ทั้งยอดขาย พฤติกรรม ความชอบ เวลาในการซื้อ ซึ่งสามารถนำไปใช้วางแผนธุรกิจได้ และเพิ่มความพึงพอใจในการบริการได้ เช่น ลูกค้าสามารถสั่งผ่านแอปพลิเคชั่นได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลารอนาน

คาเฟ่โรบอต1

ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถต่อยอดความสามารถของหุ่นยนต์ ที่ไม่ใช่เพียงงานบริการ แต่สามารถสร้างให้หุ่นยนต์เป็นแหล่งเรียนรู้ เนื่องจากมีพันธมิตรด้านซอฟต์แวร์ต่างๆ รวมถึงมีธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ของตัวเอง ทำให้เขามองเห็นโอกาสที่จะสร้างร้านกาแฟ ที่ไม่ใช่เพียงร้านกาแฟมีหุ่นยนต์ธรรมดา แต่จะสร้างให้เป็น แหล่งการเรียนรู้ หรือ เอ็ดดูเคชั่น สเปซ เพื่อให้ลูกค้าที่สนใจเข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่ใกล้ชิดและอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ

“ผมจะเริ่มจากการมีหุ่นยนต์ตัวเล็ก ที่ใส่ซอฟต์แวร์ความรู้ให้ลูกค้าได้มาพูดคุย เล่นด้วย และจะจำหน่ายสำหรับลูกค้าที่สนใจ ราคาเริ่มต้นที่ 8,000 – 10,000 บาท รวมไปถึงการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อเข้าไปบริการในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ในโรงแรม โดยสามารถเชื่อมโยงกับระบบต้อนรับลูกค้าของโรงแรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า เช่น ลูกค้าในห้องต้องการจองรถโรงแรม จะสามารถจองผ่านระบบภายในของโรงแรมที่เชื่อมต่อกับหุ่นยนต์ต้อนรับให้ทราบทันทีว่าลูกค้าต้องการเรียกรถ เป็นต้น”

ย้อนกลับมาที่ธุรกิจร้านกาแฟ ROBOT CAFE ที่วางแผนจะขยายสาขาทั้งรูปแบบการขยายสาขาเอง และขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยมีทั้งขนาดเล็ก ประมาณ 30-45 ตร.ม. ขนาดกลาง พื้นที่ประมาณ 45 – 100 ตร.ม. และขนาดใหญ่หลัก 1,000 ตร.ม. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพาร์ทเนอร์ เพื่อเปิดร้านแฟลกชิพสโตร์ เพื่อสร้างเป็น ร้านกาแฟ ที่มีหุ่นยนต์หลายประเภท เพื่อเป็น เอ็ดดูเคชั่น สเปซ สำหรับลูกค้า คาดงบลงทุนหลาย 10 ล้านบาท

โรบอต3

นอกจากนี้ ยังนำดาต้าที่ได้จากหุ่นยนต์ มาพิจารณาโลเคชั่นในการเปิดขายแฟรนไชส์ได้อีกด้วย โดยวางเป้าหมายเปิดแฟรนไชส์ 50 สาขาในเขตกรุงเทพภายในปีนี้ รวมไปถึงมีแพลนจะเปิดร้านแฟรนไชส์ในต่างประเทศ จากการที่มีพันธมิตรด้านธุรกิจซอฟต์แวร์ในหลายประเทศ และสนใจนำร้าน ROBOT CAFE ไปเปิดให้บริการ เช่น เวียดนาม ญี่ปุ่น ที่คาดว่าจะเปิดได้ประมาณปลายปีนี้

ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า นี่ไม่ใช่แค่ร้านกาแฟที่มีหุ่นยนต์มาสร้างสีสันธรรมดาๆ เท่านั้น ซึ่งเป้าหมายของ ศรัณพงศ์ แดงเดช คือ การวางตำแหน่งให้ ROBOT CAFE อยู่ตรงกลางระหว่างสตาร์บัคส์ กับ อเมซอน และเป็นมากกว่าร้านกาแฟ นั่นคือ การให้ความรู้นั่นเอง

Avatar photo