Economics

‘ศิริ’ เร่งเครื่องสะสางภารกิจพลังงาน กำกับกฟผ.นำเข้าแอลเอ็นจีล็อตใหญ่ใกล้ชิด

“ศิริ ” เร่งเครื่องชำระสะสางภารกิจบนหน้าตัก ก่อนหมดวาระ กำกับประมูลแอลเอ็นจีกฟผ.ใกล้ชิด สั่งทบทวน หลังกฟผ.เสนอชื่อผู้ชนะประมูล โดยให้เจรจาปตท. ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไว้ก่อนแล้ว  หวั่นเกิดปัญหา Take or Pay ปี 2563 ย้ำผลงานประมูลบงกชเอราวัณ ทำให้ค่าไฟลดลง 15 สตางค์ต่อหน่วยหลังปี 2565 

จะหมดวาระอยู่ไม่กี่วัน จนมีโผรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นตัวเป็นตนมาแล้ว แต่ดูเหมือน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน จะขอทำงานจนวินาทีสุดท้ายจริงๆ จนกว่ารัฐมนตรีคนใหม่จะมายืนควักมือเรียก ข่าวว่าตอนนี้ท่านประสงค์จะไปร่วมทุกงานเลยทีเดียว เจ้าของงาน “จัดให้ ” กำหนดการไหนไม่มีท่านไปร่วมมาก่อน ก็ “จัดให้” ทันที ส่วนเรื่อง “แอ็ค” ไม่ต้องพูดถึง ท่านจัดท่าให้เหมาะเหม๋งเหมาะแก่การแชะแชร์ หลายบริษัทชมเปราะ ท่าน “คล่องจริง” และที่ท่านยังทำภารกิจอย่างเข้มแข็ง เพราะน่าจะยังมีภารกิจค้างคาหลายเรื่อง ท่านบอกกับผู้สื่อข่าวไว้ว่า “ยังทำงานเป็นประโยชน์ได้อยู่ ” 

17763
ศิริ จิระพงษ์พันธ์

ผลงานของนายศิริ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนนี้ เรื่องที่ท่านภูมิใจอย่างมาก เห็นจะเป็นการประมูลแหล่งเอราวัณ และบงกช ที่บริษัทปตท.สำรวจ และผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ.กวาดไปไปครองทั้งสองแหล่ง ท่านย้ำแล้วย้ำอีกอย่างภาคภูมิมาตลอดว่า ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง ตอนแรกท่านว่าจะลดในส่วนของค่าไฟลงได้ 17 สตางค์ต่อหน่วย แต่ตัวเลขท่านไม่นิ่ง ล่าสุดปรับมาเหลือ 15 สตางค์ต่อหน่วยหลังปี 2565 เมื่อปตท.สผ.เข้าบริหารจัดการทั้งสองแหล่งเต็มรูปแบบ

ย้ำให้ท่านชื่นใจอีกรอบ เนื่องจากปตท.สผ.ผู้ชนะประมูลได้เสนอราคาขายก๊าซธรรมชาติคงที่ระดับ 116 บาทต่อล้านบีทียูต่ำกว่าราคาในปัจจุบันทั้ง 2 แหล่งที่ปัจจุบันตามสัญญาขายแหล่งบงกชอยู่ที่ 214 บาทต่อล้านบีทียู แหล่งเอราวัณปัจจุบันขายที่ราคา 165 บาทต่อล้านบีทียู ทำให้การซื้อก๊าซถูกลงตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป และทำให้ราคาถูกลงในช่วง 10 ปีข้างหน้าคิดเป็นมูลค่า 550,000 ล้านบาท หรือทำให้ประเทศประหยัดลงทันทีปีละ 55,000 ล้านบาท พร้อมกับตั้งเงื่อนไขให้ต้องผลิตก๊าซขั้นต่ำอยู่ที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ช่วยชดเชยนำเข้าก๊าซในปลายแผนบริหารจัดหาก๊าซธรรมชาติ ปี 2561-2580 (Gas Plan 2018) จาก 34 ล้านตัน เหลือ 23 ล้านตันในปี 2580

จากสถานการณ์การใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าของไทยที่เพิ่มขึ้น จากปี 2562 อยู่ที่ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มเป็นประมาณ 5,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2580 ขณะที่ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่ใช้ผลิตไฟฟ้าที่เคยมีสัดส่วนอยู่ที่ 60-62% ในปี 2562 เหลือ 28% ในปี 2580 แหล่งเอราวัณบงกชเลยเป็นพระเอกช่วยเพิ่มกำลังผลิตก๊าซในอ่าวลงได้บ้าง

ตอนนี้นายศิริ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)ยังคงประชุมอยู่บ่อยๆแบบถี่ๆ  ล่าสุดกบง.ให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รับฟังความคิดเห็นร่างแผนบริหารจัดหาก๊าซ ให้ครบ 6 ครั้งทั่วทุกภาคของประเทศ

และกบง.ยังเป็นกลไกกำกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เรื่องการประมูลนำเข้าแอลเอ็นจีล็อตใหญ่ 1.5 ล้านตันต่อปี โดยแว่วว่า บริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ประเทศมาเลเซีย จะมาลอยลำ จากข้อเสนอปริมาณจัดหา 1.2 ล้านตันต่อปี และราคาที่เสนอไม่สูงกว่าสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวทุกสัญญาที่ประเทศไทยมี จึงไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้า

ในที่ประชุมกบง.ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ท่านยังไม่ไฟเขียว สั่งการให้ กฟผ. กลับไปทบทวนสัญญานำเข้าแอลเอ็นจี หาคำตอบถึงการบริหารจัดการก๊าซส่วนที่เหลือจากการใช้ในโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะในปี 2563 ที่จะนำเข้าเต็มอัตรา 0.8-1.5 ล้านตันต่อปี เพราะ กฟผ. มีสัญญาซื้อแอลเอ็นจี กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไว้แล้ว หากซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้  อาจต้องจ่ายเงิน (Take or Pay) ซึ่งจะเกิดต้นทุน และจะมาถึงบิลค่าไฟฟ้าในที่สุด โดยสั่งการให้ กฟผ. ไปเจรจากับ ปตท. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ให้ได้ข้อยุติก่อน

เบื้องต้นปตท.ซึ่งเป็นผู้จัดหา และนำเข้าแอลเอ็นจี ป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของประเทศ ให้ไปทบทวน และวางแผนร่วมกับกฟผ.ว่า ปริมาณแอลเอ็นจีที่ กฟผ. นำเข้าในช่วงปี 2563 จะขัดแย้งกับปริมาณตามสัญญาของ ปตท. ที่ 5.2 ล้านตันต่อปีหรือไม่ ส่วนกฟผ.ให้นำเข้ากำหนดการเดิม แต่ปรับลดปริมาณการนำเข้าแอลเอ็นจีในปี 2563 เพื่อไม่ให้กระทบต่อปริมาณนำเข้าแอลเอ็นจีทั้งระบบ

ส่วนกกพ.ในฐานะผู้กำกับดูแลการเปิดเสรีกิจการก๊าซ ให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลัง และท่อก๊าซของ ปตท.(Third Party Access: TPA) มาประสานงานในเรื่องดังกล่าวด้วย ให้แน่ใจว่าการดำเนินงานของ กฟผ.จะไม่ส่งผลกระทบ และให้นำเรื่องกลับมาเสนอต่อที่ประชุม กบง.พิจารณาอีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์

งานนี้น่าแปลกใจไปตามๆกัน ที่ให้มีการทบทวน เพราะการให้กฟผ.นำเข้าแอลเอ็นจี เพื่อนำร่องเปิดเสรีกิจการก๊าซของประเทศเป็นนโยบาย และเกิดในยุคท่าน  และรู้อยู่แล้วว่ากฟผ.และปตท.มีสัญญาซื้อขายต่อกันอย่างไร เพราะเหตุใด จึงให้มีการทบทวนหลังได้ชื่อผูู้ชนะประมูลแล้ว ??? จะทิ้งทวนแบบไหน น่าติดตาม…..

Avatar photo