World News

สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ต้นเหตุ ‘แอปเปิ้ล-ซัมซุง’ เร่งรุกตลาดอินเดีย

บรรดาผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่สุดของโลก กำลังเพิ่มความพยายามที่จะเข้าไปผลิต และทำการตลาดในอินเดีย เหตุสงครามการค้าระหว่างจีน กับสหรัฐ ที่รุนแรงมากขึ้น สร้างแรงกดดันให้กับการดำเนินงานใน 2 ประเทศคู่ขัดแย้ง

india 1

กรณีนี้ รวมถึง แอปเปิ้ล อิงค์ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ของสหรัฐ ที่กำลังเลือกหาสถานที่สำหรับการเปิดร้านค้าปลีกแห่งแรกในอินเดีย หลังในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทดำเนินการอย่างเชื่องช้าในการเพิ่มฐานการผลิต และซัพพลายเชนในอินเดีย

เช่นเดียวกับบรรดาคู่แข่ง อย่าง ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จากเกาหลีใต้ และเสี่ยวหมี่จากจีน ที่ต่างเพิ่มความสามารถในการผลิต และช่องทางจำหน่ายในอินเดีย ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

แหล่งข่าวจากแอปเปิ้ล เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการหารือกับรัฐบาลอินเดีย เพื่อขออนุญาตเปิดร้านสาขา ที่จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้เจาะจงลงไปว่า จะเปิดที่เมืองใด

ปัจจุบัน แอปเปิ้ลจำหน่ายไอโฟนผ่านผู้ค้าปลีกคนกลาง อย่าง เอ็นยาซา และเมเปิ้ล สโตร์ นอกเหนือจากการเป็นพันธมิตรออนไลน์กับอเมซอน อินเดีย และเพย์ทีเอ็มมอลล์

แอปเปิ้ลยังอยู่ระหว่างการวางแผนที่จะขยายฐานการผลิตท้องถิ่น โดยจะนำไอโฟนรุ่นใหม่ๆ รวมถึง ไอโฟน7 มาผลิตในโรงงานที่เมืองบังกาลอร์เพิ่มขึ้น จากเดิมที่โรงงานแห่งนี้ จะเน้นผลิตเฉพาะไอโฟนรุ่นเก่าเท่านั้น

การเคลื่อนไหวของแอปเปิ้ล ที่จะเข้ามาเปิดร้านในอินเดีย บ่งชี้ว่า ปัจจุบันบริษัทกำลังพุ่งเป้าให้ความสนใจกับเรื่องยอดขาย และการผลิตในระดับที่ใกล้เคียงกัน หลังจากที่ต้องดิ้นรนเจาะตลาดอินเดียมาเป็นเวลานาน

grrrrr1

ข้อมูลจากไอดีซี บริษัทด้านการวิจัย แสดงให้เห็นว่า เสี่ยวมือครองส่วนแบ่งในตลาดมือถืออินเดียเมื่อปี 2561 อยู่ที่ 28.9% ตามด้วยซัมซุงที่ 22.4% และวีโว่ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติจีนอีกรายหนึ่งที่ 10% โดยซัมซุง ซึ่งเป็นเจ้าตลาดอินเดียมานานหลายปี เพิ่งสูญเสียตำแหน่งนี้ให้กับเสี่ยวหมี่ไปเมื่อราว 1 ปีก่อนหน้านั้น

ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 อินเดียมียอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนอยู่ที่ 32.1 ล้านเครื่อง ด้วยอัตราการเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 7.1% ต่อปี

ขณะที่ อีแอนด์วาย คาดการณ์ว่า จำนวนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนในอินเดีย จะพุ่งขึ้นถึง 373 ล้านราย ภายในปีนี้ และ 442 ล้านราย ภายในปี 2565 จากระดับ 340 ล้านรายเมื่อปีที่แล้ว

การที่อินเดียจัดเก็บภาษี 20% ต่อโทรศัพท์มือถือนำเข้านั้น ทำให้ราคาจำหน่ายไอโฟนในอินเดียมีราคาแพงอย่างมาก และเป็นสาเหตุให้แอปเปิ้ลมีส่วนแบ่งในตลาดมือถือท้องถิ่นเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งการผลิตไอโฟนในท้องถิ่นจะทำให้บริษัทสามารถเลี่ยงการถูกเก็บภาษีดังกล่าวได้

หากมองในภาพใหญ่กว่านั้น อินเดียอาจกลายมาเป็นหนึ่งในฐานการผลิตทางเลือกสำหรับซัพพลายเออร์ของแอปเปิ้ล ที่มีแผนจะย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าที่ตึงเครียดมากขึ้น ซึ่งมีรายงานว่า ฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี ซัพพลายเออร์รายใหญ่ของแอปเปิ้ล กำลังเพิ่มปริมาณการลงทุนในอินเดีย รวมถึง การผลิตไอโฟนจำนวนมาก ทั้งยังมีรายงานว่า บริษัทได้เริ่มทดลองผลิตไอโฟนรุ่นล่าสุดที่โรงงานใกล้กับเมืองเชนไนแล้ว

นับแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว ฟ็อกซ์คอนน์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในไต้หวัน ได้ทุ่มเงินลงทุนให้กับหน่วยงานในอินเดียไปแล้ว 213.5 ล้านดอลลาร์ การเคลื่อนไหวที่บริษัทระบุว่า เป็นการลงทุนระยะยาวในประเทศนี้

PG 19.01.28 Smartphone Featured Image

คู่แข่งของแอปเปิ้ล อย่าง ซัมซุง ก็ได้ขยายกระบวนการผลิตในอินเดียเช่นกัน รวมถึง การผลิตซอฟต์แวร์ ในความพยายามที่จะชิงตำแหน่งผู้นำตลาดคืนมาจากเสี่ยวหมี่

ผู้ผลิตมือถือเกาหลีใต้รายนี้ยังเปิดโรงงานผลิตมือถือบริเวณชานกรุงนิวเดลี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว พร้อมตั้งเป้าที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตสมาร์ทโฟนในอินเดียขึ้นอีกเกือบ 2 เท่า มาอยู่ที่ 120 ล้านเครื่องต่อปีภายในปี 2563 จากที่ผลิตได้ 68 ล้านเครื่องในปัจจุบัน

ทางด้านเสี่ยวหมี่ใช้บริษัทในเครือฟ็อกซ์คอนน์ ดำเนินการผลิตสมาร์ทโฟนของบริษัท โดยปัจจุบันมีโรงงานอยู่ในอินเดียทั้งหมด 6 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างแห่งที่ 7

เสี่ยวหมี่ ระบุว่า โรงงานแห่งใหม่นี้ จะมีความสามารถทางการผลิตเพิ่มขึ้น เป็น 3 เครื่องต่อวินาที จากปัจจุบันที่ได้วินาทีละ 2 เครื่อง เช่นเดียวกับวีโว่ ที่ประกาศแผนทุ่มงบ 573.95 ล้านดอลลาร์ลงทุนในอินเดีย รวมถึง การสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่

นอกจากการผลิตแล้ว บริษัทเหล่านี้ยังเร่งเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าของตัวเองด้วย รายแรกคือ เสี่ยวหมี่ที่ตั้งตู้ขายสินค้าชื่อว่า “มี่ เอ็กซ์เพรส คีออสก์ ” ที่จะเปิดทางให้ลูกค้าใช้บัตรเครดิต หรือเงินสด ซื้อมือถือได้ ทั้งผู้ผลิตมือถือจีนรายนี้ ยังมีแผนที่จะเปิดร้านจำหน่ายสินค้าในอินเดียให้ถึง 10,000 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ดี อุปสรรคใหญ่อย่างหนึ่ง สำหรับธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในอินเดียคือ การไม่มีบริษัทท้องถิ่น ที่สามารถจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการผลิตได้ ทำให้ต้ำงนำเข้าส่วนประกอบทั้งหมด และมาประกอบเป็นสินค้าที่พร้อมวางจำหน่ายในอินเดีย

ที่มา:  Nikkei Asian Review

Avatar photo