Politics

รุมเขย่า ‘พปชร’ คายกระทรวงเศรษฐกิจ

ข่าวการจับขั้วตั้งรัฐบาลเวลานี้ ร้อนแรงยิ่งกว่าอากาศในแต่ละวัน เดี๋ยวกลุ่มนั้นจับกับกลุ่มนี้ เกิดขึ้นรายวัน ไม่เฉพาะแต่การจับขั้วตั้งรัฐบาล ยังมีการปล่อยข่าวหยั่งเชิงออกมาเป็นระลอกๆ จองเก้าอี้นั่งกระทรวงนั้น กระทรวงนี้ กันยกใหญ่  ปล่อยข่าวกันจ้าละหวั่น จองเก้าอี้รัฐมนตรีกันยังกับเก้าอี้ดนตรี

แต่ที่แน่ๆต้องถามว่า ใช่พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ไหม ถ้าเป็นพลังประชารัฐจริง แล้วกลุ่มสนับสนุนมีพรรคไหนบ้าง เวลานี้เห็นแต่พวก “มโน” กันไปเรื่อยเปื่อยว่ามีพรรคนั้นพรรคนี้เข้าร่วม การจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้พรรคเล็กๆ ที่มีสมาชิก 1-3 คน คงไม่ใช่ประเด็นใหญ่สักเท่าไหร่ พรรคเหล่านี้เชื่อว่าพร้อมสนับสนุน “ลุงตู่” แต่หากจะให้ได้จำนวนเกิน 251 ที่นั่ง ไม่รู้ว่าจะต้องใช้พรรคเล็กอีกจำนวนเท่าไหร่ถึงจะพอ

ปัญหาทั้งหมดตอนนี้มันอยู่ในพรรคระดับกลางๆ อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคภูมิใจไทย ถามว่ามาถึงวันนี้ สองพรรคนี้ได้ตัดสินใจที่จะยกลูกทีมเข้าไปสนับสนุน “ลุงตู่” แล้วหรือยัง หากยังอยู่ในอาการ 50 : 50 บอกได้เลย เสี่ยงสูง 

ล่าสุด “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย บอกชัดเจน ตอนนี้พรรคยังไม่พูดคุยกับใครเรื่องจัดตั้งรัฐบาล ส่วนที่พรรคพลังประชารัฐบอกว่าเราไปอยู่กับเขาแล้วขอบอกว่าเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น

อนุทิน22222
อนุทิน ชาญวีรกูล

มีหลายประเด็นที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเวลานี้ไม่ลงเอย อยู่ในสภาพ ชักเข้า..ชักออก ของพรรคร่วม จนทำให้ไม่สามารถรวมเสียงตั้งรัฐบาลได้เวลานี้

สิ่งสำคัญเป็นเรื่องของโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรี ที่ดูเหมือนพลังประชารัฐจะกินรวบเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงใหญ่ๆ โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ ที่ผู้จัดการ(เงา)ของพลังประชารัฐ จับจองไว้ให้กับลูกทีมในตำแหน่งดีๆ อย่างเช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่นับรวมกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม

แน่นอนพรรคขนาดกลางเอง ก็อยากได้กระทรวงเศรษฐกิจเหมือนกัน เพราะแต่ละพรรคที่หาเสียงไว้กับประชาชน ส่วนใหญ่ประกาศที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาปากท้องของประชาชนเวลานี้ ที่มีแต่เสียงบ่นจากชาวบ้าน เศรษฐกิจแย่ ทำมาค้าขายไม่ได้ ฉะนั้นหากพลังประชารัฐ ยังฝืนกุมกระทรวงเศรษฐกิจใหญ่ๆไว้ในมือ อย่าหวังที่พรรคขนาดกลางจะเข้าร่วม

ตลอดระยะเวลา 4-5 ปี ที่ผ่านมาคงจะเห็นกันแล้วว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ หากยังฝืนให้กลุ่มคนเดิมๆ เข้ามานั่ง “กุมบังเหียน” แก้ปัญหาแบบเดิมๆ ตรงนี้ต่างหากที่พรรคร่วมขนาดกลาง เกิดอาการไม่พอใจ

ฉะนั้นหากพลังประชารัฐยัง “ดื้อดึง” ที่จะกุมกระทรวงเศรษฐกิจใหญ่ๆไว้ในมือเสียทั้งหมด ปล่อยวางแค่เศษเสี้ยวกระทรวงเล็กๆ โอกาสที่จะจัดตั้งรัฐบาลให้มีเสียงข้างมากบอกเลย “ยากยิ่ง” 

สำคัญยิ่งถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้หัวหน้าพรรคใหม่ที่ชื่อว่า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ โอกาสจะเข้าร่วมรัฐบาลก็ยิ่งยากขึ้น

จุรินทร์ 03
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ดังนั้นการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ มันไม่ง่ายอย่างที่คิด ไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ที่จะจับวางใครไว้ตรงไหนก็ได้ สถานการณ์อย่างนั้นการสร้างอำนาจไม่มีแน่นอน มีแต่การ “จับวาง” ต่างจากสถานการณ์ขณะนี้ ที่แต่ละพรรคย่อมมีจุดยืนผสมกับสถานการณ์ “ง่อนแง่น” ของพลังประชารัฐ ที่ไม่ได้รับเสียงข้างมากอย่างท่วมท้น ฉะนั้นการจะบีบบังคับให้ใครรับกระทรวงไหนอย่างที่ผู้จัดการรัฐบาล แบบไร้ประสบการณ์ทำอยู่ ยากที่พรรคการเมืองที่คร่ำหวอด หรือเจนจัด กว่าจะยอมรับได้

แม้การจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้อาจจะมี “งูเห่าสายพันธุ์ใหม่” เกิดขึ้นก็ตาม แต่ไม่น่าจะทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลเข้มแข็งได้ มีแต่จะอ่อนแอลงไปทุกวัน

ไม่แปลกใจที่แผนกินรวบกระทรวงเศรษฐกิจ ทำให้พรรคขนาดกลางไม่พอใจ และยังไม่มีทีท่าว่าจะตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ ในสถานการณ์นี้ หากจะบอกว่าผลประโยชน์จัดสรรที่นั่งไม่ลงตัวก็ไม่แปลก และยิ่งบอกว่าไม่พอใจต่อการยกเก้าอี้ตัวเล็กแบบเหลือให้พรรคร่วมก็ไม่ผิด

ฉะนั้นในเวลานี้ พลังประชารัฐอาจต้องคิดใหม่ หากจะให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และมีคะแนนเสียงแบบไม่น่าเกลียดนัก อาจต้องปรับวิธีการ คายเก้าอี้กระทรวงเศรษฐกิจออกมาให้พรรคร่วมได้รู้สึกว่าเป็นการ “ให้เกียรติ” ไม่ใช่จะให้อะไรก็ได้แบบเหลือๆ วันนี้ไม่เหมือนกับก่อนการเลือกตั้ง ที่จะขู่เข็ญอย่างไรแล้วก็สยบ

ผู้จัดการรัฐบาลต้อง “เจนจัด” ในการเจรจา “ไม่ใช่รอบจัด กับการจับจองเก้าอี้” อยากจะบอกว่านักการเมืองไทยไม่ธรรมดา

อย่าลืมงานนี้หากประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย เกิดอาการเกี่ยงงอนขึ้นมา โอกาสจะจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ยาก หากพลังประชารัฐยังกอดแน่นอยู่กับกระทรวงเศรษฐกิจแบบไม่แยแส “เก้าอี้ลุงตู่ ก็จะสั่นคลอน” ขึ้นมาทันที

สุดท้ายเราอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลง แบบที่หลายๆ คนคาดการณ์ไว้ก็ได้ เมื่อถึงตอนนั้นเขาเรียกว่า“ตาอยู่เอาไปกิน” นั่นเอง

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight