Opinions

ไม่ต้องเดี๋ยว! เตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ เพื่อเป็น ‘ผู้สูงอายุ’ ที่มีคุณภาพ

Avatar photo
5091

สังคมไทยในปัจจุบันถือว่าได้ก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” แล้ว และจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ระบุว่า ในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปสัดส่วนสูงถึง 20% และในปี 2574 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึง 28% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าวิตกมาก!

ขณะที่มีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมดมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน สัดส่วน 34.30% (เส้นความยากจน ปี 2557 เท่ากับ 2,647 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 31,764 บาทต่อคนต่อปี และปี 2560 เท่ากับ 2,667 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 32,004 บาทต่อคนต่อปี)

เมื่อแก่แล้ว….ยังจนอีก จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร!

Images 1493785816745

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ให้ข้อมูล 6 ขั้นตอนช่วยเกษียณแบบมีเงินใช้ทั้งชาติไว้ว่า

1. กำหนดอายุเกษียณและอายุขัย โดยปกติแล้วมนุษย์เงินเดือนมักจะถูก กำหนดให้ทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี แต่ยังต้องดำรงชีวิตอยู่จนอายุถึง 70-80 ปี บางคนอายุยืนถึง 90 ปีก็มี ซึ่งเราสามารถประมาณการอายุขัยได้จากคนในครอบครัว

2.คำนวนค่าใช้จ่ายในยามเกษียณ เช่น หากตอนนี้เราอายุ 35 ปี จะเกษียณตอน อายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 80 ปี โดยคิดว่าจะมีค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ 20,000 บาทต่อเดือน แต่ต้องอย่าลืมว่า ในแต่ละปีค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายต่างๆ จะแพงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องคำนวณอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย (สมมติว่า 3% ต่อปี) ทำให้เงิน 20,000 บาท ในวันนี้มีมูลค่าเพิ่มเป็น 41,875 บาท ในอีก 25 ปีข้างหน้า

ดังนั้น เมื่อคำนวณแล้วเราจะต้องเตรียมเงินไว้ เพื่อใช้หลังเกษียณไปอีก 20 ปี เป็นจำนวนรวม 8,323,028 ล้านบาท โดยเราต้องนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยอย่างน้อย 5% ต่อปีด้วย จึงจะทำให้เราสามารถใช้จ่ายเงินได้ตามแผนที่ตั้งใจไว้

3. ตรวจสอบเงินออมเพื่อเกษียณจากแหล่งต่างๆว่าในปัจจุบันเรามีเงินออมอยู่เท่าไหร่ เพียงพอหรือไม่ เช่น เงินฝากธนาคาร เงินกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินประกันชีวิต กองทุนรวม LTF RMF และการลงทุนในหุ้น

4. คำนวณเงินออมที่ยังขาดอยู่ โดยเปรียบเทียบเงินออมที่มีอยู่และเงินที่ต้องใช้ในยามเกษียณ หากเราพบว่าเงินที่เราออมไว้ยังห่างจากเป้าหมายที่ต้องการอยู่มาก ก็ต้องเร่งวางแผนเพื่อให้มีเงินออมมากขึ้น

5. วางแผนออมเงินเพิ่ม เมื่อทราบแล้วว่ายังมีขาดเงินอีกเท่าไหร่ ก็ให้เรานำเป้าหมายนั้นมาวางแผนออมเงิน โดยเริ่มจากการทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างรัดกุมเพื่อให้เกิดเงินออมในแต่ละเดือน ลงมือออมเงินอย่างต่อเนื่องและมีวินัย เลือกช่องทางการลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตัวเอง ทั้งนี้ ควรมีการเขียนแผนการออมการลงทุน และลงมือปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด

6. ทบทวนเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจสอบว่าเราสามารถทำตามแผนที่ วางไว้ได้หรือไม่ ต้องเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย อย่างไรบ้าง ต้องบริหารเงินออมเงินลงทุน ให้ได้ผลตอบแทนอย่างไรบ้าง รวมทั้งพิจารณาว่าระดับการยอมรับความเสี่ยง ของเราเปลี่ยนไปหรือไม่เพื่อประเมินและปรับเปลี่ยน แผนการออมให้เหมาะสมกับตัวเองมากยิ่งขึ้น

ต่อให้เราจนจบ แต่ไม่คิดจะทำ คำแนะนำก็ไม่มีความหมาย จริงมั้ย!

คนแก่

เคยคิดมั้ยว่า…แก่แล้วจะไปอยู่ที่ไหน!

แต่ก่อนมักได้ยินคนอื่นๆชอบพูดว่า “แก่แล้วจะไปอยู่บ้านบางแค” แต่เมื่อได้ต่อสายตรงสอบถามเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่บ้านบางแค หรือ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค ทำให้ได้ทราบว่า การจะเข้าไปอยู่บ้านบางแคจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย หากคุณไม่ใช่ผู้ที่ประสบความเดือดร้อนจริงๆ หรือแม้แต่ผู้ที่เดือดร้อนจริงๆก็ยังต้องต่อคิว

สำหรับประเภทของผู้รับบริการนั้นจะแบ่งเป็น “ประเภทแบบสามัญ” เป็นผู้สูงอายุที่เจ้าหน้าที่บ้าน หรือกลุ่มทีมสหวิชาชีพออกไปเจอตามชุมชน ซึ่งผ่านการประเมินแล้วว่าจำเป็นและรีบเร่งต้องให้การช่วยเหลือ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีใครอุปการะเลี้ยงดู รองลงมาคือยากจน ไม่มีที่อยู่อาศัยสมัครใจ และผู้สูงอายุที่อยู่กับครอบครัวแล้วไม่มีความสุข โดยจะรับเข้ามาดูแลโดยไม่เสียค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น

ประเภทเสียค่าบริการแบบหอพัก แบ่งออกเป็นห้องเดี่ยว เสียค่าบริการคนละ 1,500 บาทต่อเดือน และห้องคู่เดือนละ 2,000 บาท มีบริการทั้งหมด 40 ห้อง

ประเภทพิเศษ (บังกะโล) มีบริการทั้งหมด 11 หลังเป็นบ้านเดี่ยวที่ปลูกสร้างตามแบบแปลนที่กำหนดในที่ดินของศูนย์พัฒนาฯ โดยผู้ปลูกสร้าง สามารถพักอาศัยอยู่ได้จนถึงแก่กรรม ทั้งนี้ สำหรับแบบพิเศษต้องเสียค่าบำรุงแรกเข้าเป็นเงิน 300,000 บาทเพื่อนำเงินดังกล่าวมาใช้ในการปรับปรุงซ่อมแซมบังกะโลที่จะเข้าพัก

โดยต้องจ่ายค่าน้ำประปาเดือนละ 100 บาทต่อคนส่วนค่าไฟฟ้าคิดค่าใช้จ่ายตามจริง

หากเราอยู่แบบหอพักที่สนนราคา 1,500 บาทต่อเดือนนั้น จะตกปีละ 18,000 บาท อยู่กัน 20 ปีก็ 360,000 บาท ทั้งนี้ ถ้าเราต้องการใช้เป็นที่พักบั้นปลายชีวิตตั้งแต่อายุ 60 ปีถึง 80 ปีต้องเตรียมเงินอย่างน้อย 3 – 4 แสนเป็นอย่างต่ำแล้ว

แต่!! หากมีเงินเท่านี้ ต้องเตือนตัวเองว่าห้ามเจ็บ ห้ามป่วยและห้ามอยาก และก็ต้องอย่าลืมว่าการจะเข้าไปอยู่ในบ้านบางแคไม่ใช่จะหิ้วกระเป๋าเข้าไปอยู่ได้เลยต้องจองคิวนะจ๊ะ

แล้วบ้านพักคนชราแบบอื่นละมีมั้ย?

119655

คำตอบคือ ในขณะนี้นักธุรกิจไทยให้ความสำคัญกับ “ผู้สูงวัย” มากขึ้น เพราะตระหนักดีว่าเรากำลังเดินหน้าเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุแล้ว ดังนั้นธุรกิจบ้านพักคนชราจึงมีให้เลือกมากขึ้น ตั้งแต่ราคาหลักพัน ไปจนถึงหลักแสน อาทิ ศูนย์พยาบาลใบบอน โฮมแคร์ เริ่มต้น 9,000 บาท/เดือน, สุขสบายเนอร์สซิ่งโฮม ราคาเริ่มต้น 12,000 บาท/เดือน, iCare Seniors Home เริ่มต้น 14,500 บาท/เดือน, Goldenlife Nursing Home เริ่มต้น 16,000 บาท/เดือน, คุณตาคุณยาย Nursing Home เริ่มต้น 16,000 บาท/เดือน

เถาจือโฮม เริ่มต้น 20,000 บาท/เดือน, ดิษฐ์ราเนอสซิ่งโฮม ราคาเริ่มต้น 26,000 บาท/เดือน, รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไทย 2 เริ่มต้น 30,000 บาท/เดือน The Nest Nursing Home 32,000 บาท/เดือน, รพ.เปาโล เริ่มต้น 100,000 บาท/เดือน, รพ.กรุงเทพ เริ่มต้น 140,000 บาท/เดือน เป็นต้น

ในกรณีที่จะเตรียมพร้อมเพื่อเข้าพักบ้านพักคนชราของเอกชน หากจะอยู่ในสนนราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 20,000 บาทนั้น 10 ปีต้องเตรียมเงินเบื้องต้นประมาณ 2,400,000 บาท แต่หากเราอยู่ในกลุ่มแก่ง่ายตายยากละ ต้องเตรียมเงินอีกเท่าไหร่

119654

แล้วรัฐบาลละช่วยอะไรเราบ้าง จ่ายภาษีทุกปี ชีวิตยามชราจะเป็นอย่างไร

ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุว่า ขณะนี้ “ผู้สูงอายุ” จะได้รับเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิต โดยเป็นอัตราเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ ดังนี้

– อายุ 60-69 ปี ได้รับเงิน 600 บาท/เดือน

– อายุ 70-79 ปี ได้รับเงิน 700 บาท/เดือน

– อายุ 80-89 ปี ได้รับเงิน 800 บาท/เดือน

– อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท/เดือน

119653

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลได้เพิ่มสวัสดิการให้ผู้สูงอายุประมาณ 10 เรื่อง อาทิ การปรับปรุงเรื่องสวัสดิการต่างๆ การก่อตั้งธนาคารเวลาที่ดำเนินการไปแล้วใน 28 จังหวัด เพื่อให้ผู้สูงอายุมีผู้ดูแล, การจัดทำที่พักซีเนียร์คอมเพล็กซ์ที่มีทั้งสถานพยาบาลและที่พักให้แก่ผู้สูงอายุ ซึ่งได้มีการเริ่มต้นแล้วที่ จ.ชลบุรี จากนั้นจะผลักดันให้เกิดขึ้นที่จังหวัดอื่นๆต่อไป

ขณะที่นโยบายอื่นๆ ของรัฐบาล อาทิ การจ้างงานผู้สูงอายุ โดยลดภาษีให้กับภาคเอกชนในการจ้างงานผู้สูงอายุ, การสร้างที่พักให้แก่ผู้สูงอายุ โดยใช้ที่ราชพัสดุทำบ้านประชารัฐ อีกทั้งห้างร้านใดที่ต้องการสร้างบ้านผู้สูงอายุจะได้รับสิทธิพิเศษ

ขณะที่ผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 – 80 ปี ที่มีที่ดินให้นำมาจำนองกับธนาคารได้ วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท ซึ่งธนาคารจะจ่ายเงินเป็นรายเดือนให้ทุกเดือนเมื่อเสียชีวิตที่ดินดังกล่าวจะตกเป็นของธนาคาร หรือลูกหลานสามารถนำมาไถ่คืนได้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และกำหนดกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นกองทุนที่ทุกภาคบังคับส่งเสริมให้คนทำงานได้ออมเงินไว้ใช้ภายหลังเกษียณอายุ

แม้ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือ “ผู้สูงวัย” แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้าวันนี้เราทุกคนเตรียมความพร้อมเพื่ออนาคตตัวเอง!