Economics

ลดแออัด !! ตั้ง ‘ศูนย์ดูแลสุขภาพอัจฉริยะ’ บริการผู้ป่วยในปั๊ม นำร่องสระแก้ว

ปตท. ร่วมกับ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และกระทรวงสาธารณสุข พัฒนา “ศูนย์ดูแลสุขภาพอัจฉริยะ” (Smart Preventive Healthcare Unit) ในสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 โดยนำเอาเทคโนโลยีใหม่ มาใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมด้านการดูแลสุขภาพเบื้องต้นและให้ความรู้กับประชาชน รวมทั้งเพิ่มช่องทางในการพบแพทย์ และรับยา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการตรวจสุขภาพเบื้องต้นได้ทั่วถึง ลดความแออัดของโรงพยาบาล

DSC 9723

วันนี้ (23 เม.ย.) ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และศ.คลินิก เกียรติคุณนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ กรรมการ และเลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ นายพัฒนเศรษฐ์ จังคศิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.

ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ” การให้บริการส่งเสริม ป้องกันสุขภาพอัจฉริยะ” (Smart Preventive Healthcare) ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ระหว่าง มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กระทรวงสาธารณสุข และ บริษัท ปตท. เพื่อสนองพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 10 ในการดูแลประชาชนในพื้นที่ห่างไกลให้ได้รับความรู้และการรักษาพยาบาลโดยทั่วถึง

ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวว่า มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กระทรวงสาธารณสุข และ บริษัท ปตท. ได้ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมสุขภาพอัจฉริยะ ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10

โดยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มการเข้าถึงการรักษาพยาบาล สนองพระราชปณิธานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ให้ทุกคนที่ทำงานในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ต้องไม่ลืมว่าโรงพยาบาลนี้กำเนิดขึ้นจากความมุ่งปรารถนาอันแรงกล้าของคนไทย ที่ต้องการเห็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารได้รับความเอาใจใส่รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้ โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน

DSC 9774

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดารได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ซึ่งทุกแห่งได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งระบบ ISO 9002 และ HA มี 2 แห่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลด้านคุณภาพและความปลอดภัย ( Joint Commission International : JCI )  คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน จังหวัดขอนแก่น ทำให้มีผู้มารับบริการเพิ่มมากขึ้น ทั้งในพื้นที่รับผิดชอบ พื้นที่ใกล้เคียง และประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมสุขภาพอัจฉริยะในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น มูลนิธิฯ และกระทรวงสาธารณสุข จะสนับสนุนบุคลากรจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชประจำที่ศูนย์ฯ และเชื่อมต่อระบบไอทีในการจองคิวแพทย์และการรับยา ด้วย Application ให้ประชาชนเข้าถึงบริการรวดเร็วขึ้น ลดความแออัดผู้รับบริการในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ในปีนี้จะนำร่อง เป็นต้นแบบแห่งแรกที่สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น สาขา ตำบลสระขวัญ จังหวัดสระแก้ว แห่งที่ 2 ที่ พีทีที สเตชั่น หจก. แสนอุดม อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี

IMG 20190423 150123
นพ.ภูวดล กิตติวัฒนาสาร

นพ.ภูวดล กิตติวัฒนาสาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ซึ่งเป็นโรงพยาบาลนำร่องตามโครงการนี้ ระบุว่า ในเบื้องต้นจะเน้นไปที่การจัดพื้่นที่สถานีบริการน้ำมัน เพื่อสนับสนุนงานส่งเสริมสุขภาพมากกว่า เช่น วัดความดันโลหิต และเบาหวาน เป็นต้น ยังไม่มีระบบการรักษาพยาบาลในสถานีบริการน้ำมัน ในกรณีรุนแรงจะทำการเชื่อมโยงข้อมูลกับแพทย์ในโรงพยาบาลผ่านเทเลเมดิซีน (Telemedicine) หรือ ระบบโทรเวชกรรม รักษาผู้ป่วยผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อดูอาการเบื้องต้น ก่อนให้มีการส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลต่อไป

ในเดือนสิงหาคมนี้จะขับเคลื่อนโครงการนำร่องกับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว รวมถึงการเปิดระบบ Application บนโทรศัพท์มือถือ เชื่อมโยงงานในโรงพยาบาล ทั้งการจองคิวพบแพทย์ รับยา และ Telemedicine และในระยะต่อไปจะพัฒนาไปถึงการจัดให้สถานีบริการน้ำมันเป็นคลินิกตรวจรักษา และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ต่อไป เพื่อลดการแออัดของโรงพยาบาล ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างแท้จริง

ในส่วนการดำเนินงานของปตท. นายวิทวัส เล่าว่า ปตท. ได้นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาองค์กร ให้มีการปรับตัว เป็นองค์กรแห่งความก้าวหน้าด้านดิจิทัล และนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กลับคืนสู่สังคม และเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาส่งเสริมด้านการดูแลสุขภาพของประชาชน อาทิ การตรวจเช็คร่างกายเบื้องต้น โดยอุปกรณ์ที่ทันสมัย แล้วส่งผลการตรวจวิเคราะห์เข้าระบบประมวลผล และเชื่อมโยงข้อมูลจัดเก็บในระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาล รวมทั้งสามารถนัดหมายพบแพทย์ และการรับยาจากระบบ Application บนโทรศัพท์มือถือ ช่วยลดระยะเวลาการรอพบแพทย์ และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น และเช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล ในการดูแลประชาชนเบื้องต้นด้วย โดยปตท.ทั้งเป้าจะดำเนินการโครงการนี้ให้ได้ทั่วประเทศ นำร่องก่อนในเดือนสิงหาคมนี้

โครงการนี้ ปตท.ลงทุนรวม 90 ล้านบาท ตลอดปีนี้มีแผนจะทำนำร่องรวม 5 แห่ง โดยแต่ละแห่งจะมีพยาบาลจากโรงพยาบาล 1 คนดูแล 24 ชม. การวางระบบในเบื้องต้น หากเป็นประชาชนในพื้นที่โดยรอบ ที่มีประวัติกับโรงพยาบาลอยู่แล้ว จะไม่ต้องเสียเงินตามสิทธิ แต่หากเป็นประชาชนนอกพื้นที่ก็จะมีค่าบริการบางส่วน เช่น 50-100 บาท เป็นต้น 

Avatar photo