World News

น้ำมันพุ่ง!! เอเชียจ่อใช้เงินซื้อทะลุล้านล้านดอลล์

นักวิเคราะห์ชี้ เอเชียมีแนวโน้มจ่ายเงินซื้อน้ำมันมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 2558 และ 2559 ถึง 2 เท่า สาเหตุจากความต้องการน้ำมันในภูมิภาค ที่พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และราคาน้ำมันทะยานแตะ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

oil1

นับแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเกือบ 20% และทะยานขึ้นมาแตะระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลระหว่างวันซื้อขายเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (17 พ.ค.) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2557

ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับเงินดอลลาร์ ที่เป็นสกุลเงินหลักในการซื้อขายน้ำมันแข็งค่าขึ้น ทำให้เกิดความกังวลถึงผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจ จากราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจหนุนให้เงินเฟ้อทะยานสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้บริโภค และภาคธุรกิจ

“เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีความอ่อนไหวต่อขาขึ้นของราคาน้ำมันมากที่สุด” อาร์บีซี แคปิตัล มาร์เก็ตส์ วาณิชธนกิจแคนาดาเตือนในรายงานที่ส่งถึงลูกค้า

ข้อมูลในอุตสาหกรรมพลังงาน แสดงให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริโภคน้ำมันมากกว่า 35% ของการบริโภคน้ำมันทั่วโลกที่ตกอยู่ราววันละ 100 ล้านบาร์เรล และสัดส่วนนี้ก็กำลังขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เอเชียยังเป็นภูมิภาคที่มีการผลิตน้ำมันได้น้อยที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10% ของปริมาณการผลิตน้ำมันทั่วโลก

ประเทศยากจนกระทบหนัก

จนถึงขณะนี้ จีนถือเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่สุดของเอเชีย และของโลก มีคำสั่งซื้อ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หรือเกือบ 10% ของการบริโภคน้ำมันทั่วโลก

หากคำนวนจากระดับราคาน้ำมันในปัจจุบันแล้ว ปริมาณการนำเข้าดังกล่าว จะทำให้จีนมีค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันอยู่ที่ 768 ล้านดอลลาร์ต่อวัน 23,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน และ 280,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

อย่างไรก็ดี ประเทศเอเชียอื่นๆ ถือว่ามีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าจีน โดยประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบมากสุด รวมถึง อินเดีย และเวียดนาม ที่ไม่เพียงแต่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันอย่างมากเท่านั้น แต่ยังมีความมั่งคั่งไม่มากพอที่จะรองรับต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างกระทันหันได้

inoil

“ประเทศที่มีฐานะยากจน ที่มีความสามารถในการกู้ยืมอย่างจำกัด อาจเจอกับความยากลำบากทางการเงิน ท่ามกลางราคาน้ำมันนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น”

ถ้าหากไม่มีการอุดหนุนราคาน้ำมันอย่างมาก ครัวเรือน และธุรกิจในประเทศยากจน ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน มากกว่าประเทศที่มีฐานะร่ำรวยกว่า

ข้อมูลจากการวิจัยของรอยเตอร์ และนัมบีโอ เว็บไซต์ด้านสถิติ แสดงให้เห็นว่า ในประเทศกำลังพัฒนา อย่าง อินเดีย เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์นั้น ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานคิดเป็นสัดส่วนราว 8-9% ของอัตราเงินเดือนโดยเฉลี่ยของประชาชนในประเทศ เทียบกับสัดส่วน 1-2% ในประเทศร่ำรวยอย่าง ญี่ปุ่นหรือออสเตรเลีย

ขนส่ง-โลจิสติกส์อ่วม

การปรับขึ้นของราคาน้ำมันยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจขนส่ง และโลจิสติกส์ อย่างบริษัทแอลบีซี เอ็กซ์เพรส โฮลดิ้่งส์ ในฟิลิปปินส์

“แอลบีซีจับตามองการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด โดยสิ่งที่บริษัทเตรียมพร้อมไว้รับมือไว้ คือ ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ที่มีต่อผู้ให้บริการขนส่งสินค้าของเรา ทั้งสายการบิน เรือ และรถบรรทุกขนส่งสินค้า” เอนริเก วี เรย์ จูเนียร์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (ซีเอฟโอ) แอลบีซี เอ็กซ์เพรส กล่าว

lbc

เขาบอกด้วยว่า ราคาน้ำมันในระดับสูง สร้างความท้าทายให้กับบริษัทที่ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของตัวเอง เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านขนาดเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และรักษาส่วนต่างผลกำไรของบริษัท

บริษัทบางราย ยังระบุว่า อาจจะต้องผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นนี้ไปไว้กับผู้บริโภค

คริส อัลฟอนซุส ดามุย ประธาน และซีอีโอเชลซี โลจิสติกส์ ในฟิลิปปินส์ กล่าวว่า บริษัทของเขาอาจได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แต่สามารถที่จะส่งผ่านผลกระทบที่ไปยังลูกค้า ผ่านทางการปรับราคา

แต่ก็มีบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่บอกว่า หากพวกเขาผลักภาระให้กับลูกค้ามากไป ก็อาจต้องสูญเสียลูกค้า

อาชิช ซาฟลา เจ้าของปราวิน โรดเวย์ส เจ้าของรถบรรทุกขนส่งสินค้า 50 คัน ในมุมไบ อินเดีย กล่าวว่า ค่าน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายบริษัท และเป็นเรื่องยากที่จะผลักภาระเหล่านี้ไปให้กับลูกค้า

“ในปีนี้ราคาน้ำมันปรับขึ้นมาแล้ว 16% แต่ผมจะมาขึ้นค่าขนส่งอีก 5% ไม่ได้ ถ้าผมขึ้นราคา ลูกค้าก็จะหันไปหาบริษัทรายอื่นที่ราคาถูกกว่า”

เหล่านักเศรษฐศาสตร์เตือนด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่เอเชียจะต้องจำกัดความเสี่ยงในเรื่องน้ำมัน

“เป็นเรื่่องสำคัญมากสำหรับเอเชีย ที่จะต้องลดการพึ่งพาน้ำมันลงมา และเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานของตัวเอง เพื่อปกป้องตัวเองจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงในอนาคต” อาร์บีซี แคปิตัล มาร์เก็ตส์ ระบุ


Add Friend

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight