Opinions

จับตา!! ต้นแบบวิศวกรรมอาคารสมัยใหม่สำหรับอนาคตที่ยั่งยืน

Avatar photo
913

อาคารสูงเสียดฟ้าที่ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างมากมายในปัจจุบันนั้น ถูกออกแบบให้มีเอกลักษณ์และกลายเป็นแลนด์มาร์คดึงดูดผู้คนให้ไปเยือนอย่างคึกคัก นอกจากรูปลักษณ์ภายนอกที่แปลกตาแล้ว สิ่งที่สร้างคุณค่าให้ตัวอาคารอีกอย่างหนึ่งก็คือนวัตกรรมที่นำไปสู่ “อาคารเขียว” หรือ Green Building ซึ่ง Green Building ในไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงผลักดันมาจากเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code: BEC) ฉบับใหม่ที่คาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2562 เป็นต้นไป ประกอบกับผลตอบแทนในการพัฒนา Green Building ที่มีแนวโน้มสูงกว่าการพัฒนาอาคารทั่วไป ผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาอาคารสำนักงานทั่วไป หลายแห่งเริ่มพิจารณาที่จะยกระดับขึ้นสู่มาตรฐานนี้ โดย Net Present Value (NPV) ของอาคารสำนักงาน Green Building มีแนวโน้มสูงกว่าสำนักงานทั่วไปราว 30% ขณะที่ Discount Payback Period (DPP) นั้นก็เร็วกว่าสำนักงานทั่วไปประมาณ 10%

8vo

อย่างไรก็ตามสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าความท้าทายของการพัฒนา Green Building ในไทยมาจาก 2 ปัจจัยหลักด้วยกัน ได้แก่ การขาดแคลนที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนา green building โดยเฉพาะ และความคุ้มค่าของทางเลือกอื่นๆ ในการขอรับพื้นที่ก่อสร้างรวมของอาคารที่มากขึ้น (Floor Area Ratio bonus หรือ FAR bonus)

ทั้งนี้ปัจจุบันอาคารสำนักงานต่างๆ และอาคารสูง ก็ได้ตื่นตัวเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยจะเห็นได้ว่าทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจเรื่อง Green Building กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งอาคารเขียวนั้นไม่ได้หมายถึงเพียงว่าเป็นอาคารที่มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงภาพรวมอย่างระบบการก่อสร้าง ระบบวิศวกรรมอาคาร หรือวัสดุก่อสร้าง ที่ลดการใช้พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาคารที่จะเป็นอาคารเขียวนั้นต้องเป็นไปตามเกณฑ์สากล ซึ่งเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวนั้นมีขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. 2533 คือเกณฑ์ BREEAM แต่สำหรับประเทศไทยนั้นใช้เกณฑ์ของสหรัฐ คือ LEED ส่วนประเทศญี่ปุ่นก็มีเกณฑ์ของตัวเองคือ CASBEE โดยทั้ง 3 เกณฑ์นี้ก็มีมาตรฐานไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

คอนโด ตึกสูง5

สำหรับ Green Building ของประเทศญี่ปุ่นนั้น จากประสบการณ์ที่ผมได้ร่วมศึกษาดูงานที่ตึก YKK80 ซึ่งเป็น Green Building พบว่าการสร้างตึกให้เป็นอาคารเขียวนั้นครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบตึกและสิ่งอำนวยความสะดวกและงานระบบต่างๆ ในขณะที่ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน จะเป็นในส่วนของการบริหารจัดการในแต่ละตึกให้ตรงเกณฑ์จาก LEED และมีเป้าหมายในการเป็น Green Building เฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง  ซึ่งหากมีการมอบรางวัล Green Building ให้อาคารดังกล่าว ก็จะเป็น Green Building ในด้านใดด้านหนึ่งเช่นกัน นอกจากนี้ ตึก YKK80 เนื่องจากแบบตึกเป็นแนวยาววางขวางรับทั้งทิศตะวันตกและตะวันออก จึงมีการออกแบบเพื่อป้องกันความร้อนที่สอดคล้องกับภูมิประเทศ เช่นมี Advanced Radiance Cooling System เป็นการใช้ระบบหล่อเย็นและม่านบังแสงในชั้นระหว่างกระจกในพื้นที่ ตัวตึกมี Façade ของตัวอาคารที่ที่เป็นอะลูมิเนียม คล้ายซิปเป็นรูปตัว Y ซ้อนกันสำหรับสะท้อนลดปริมาณและความร้อนจากแสงอาทิตย์ แต่ยังคงการมองเห็นและยังทำให้แสงสว่างเข้าภายในอาคารได้ นอกจากนี้ระบบปรับอากาศยังเป็นระบบ Chilled Beam ที่เป็นระบบทำความเย็นแบบแผ่ความเย็นแทนการเป่าลมเย็นที่นิยมใช้อยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้รักษาระดับอุณภูมิความเย็นได้อย่างเสถียรและต่อเนื่อง โดยสามารถช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 20-30%

1.m

นอกจากเรื่อง Green Building แล้ว ในปัจจุบันเทรนด์อาคารสำนักงานของญี่ปุ่น จะเน้นการ Relocation Project คือปรับโครงสร้างใหม่ในตึกเดิม ออกแบบให้ทุกธุรกิจที่อยู่ภายใต้อาคารเดียวกันเกื้อหนุนกัน เช่น อาคารสำนักงานใหญ่ของ JP Group ที่มีทั้งธุรกิจไปรษณีย์, โลจิสติก, ประกัน โดยตัวอาคารเป็นทั้งสำนักงาน และมีร้านค้า ร้านอาหาร คลินิก ให้สามารถทั้งทำงานและใช้ชีวิตได้ รวมทั้งยังมีชั้นที่ให้บริการ Nursery School สำหรับให้พนักงานพาบุตรหลานมาทำงานได้ หมดปัญหาเรื่องการดูแลบุตรหลานในช่วงเวลางาน อีกทั้งยังมีชั้นที่เป็นพิพิธภัณฑ์ เล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาขององค์กรสร้างความผูกพันให้กับผู้อาศัยอยู่ในอาคาร ซึ่งนี่คือจุดเด่นคือเรื่องการออกแบบที่ไม่เพียงแต่เหมาะกับการทำงานของคน แต่ยังสนับสนุนการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพด้วย ซึ่งภายใต้ตึกที่ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการ  มีระบบการจัดการชัดเจน แต่ไม่ละเลยการออกแบบที่เหมาะกับบริบทการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่น

สำหรับในประเทศไทยของเราเองได้ตระหนักและตอบรับเทรนด์ของอาคารสำนักงานและที่อยู่อาศัยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้อยู่อาศัย ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดี ไม่ใช่เพียงสำหรับผู้อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการไม่รบกวนสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งหากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญและร่วมพัฒนาอาคารให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้คน เชื่อว่าในอนาคตเราน่าจะได้เห็นอาคารต้นแบบที่มีวิศวกรรมอาคารและการจัดการสมัยใหม่สำหรับอนาคตที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้นครับ

 

ชาญ ศิริรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารทรัพยากรอาคารและวิศวกรรม

บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด