World News

โลกหวัง ประชุม ‘เอเปค-จี20’ เสริมความเป็นปึกแผ่น ในช่วงวิกฤติ

ในช่วเวลาที่บรรดาผู้นำโลก มารวมตัวกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเข้าร่วม 2 การประชุมระดับโลกในสัปดาห์นี้ ประชาคมระหว่างประเทศต่างคาดหวังว่า ผู้นำเหล่านี้ จะผนึกรวมองค์ความรู้ และยกระดับการดำเนินงาน เพื่อรับมือสารพัดความท้าทายเร่งด่วนร่วมกัน หาวิถีทางฟื้นฟู และพัฒนาร่วมกัน

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม จี20 ครั้งที่ 17 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในจังหวัดบาหลี ของอินโดนีเซีย ตามด้วยการประชุมผู้นำเอเปค ครั้งที่ 29 ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ โลกกำลังเผชิญหลายวิกฤติทับซ้อน ทั้งการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรง เศรษฐกิจโลกเปราะบาง และปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันมีการเรียกร้องการร่วมรับมือความท้าทายด้วยความแข็งแกร่ง การจัดการที่ดี และความสมดุล โดยคณะผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า กลุ่มสมาชิก จี20 และเอเปค ต้องทำงานร่วมกัน เพื่อหาแนวทางอันมีประสิทธิภาพ และร่วมลงมือปฏิบัติเพื่อเกื้อหนุนความร่วมมือ พร้อมหวังว่า จีนจะมีบทบาทเชิงบวกเพิ่มเติมในการบรรลุการพัฒนาระดับโลกที่เข้มแข็ง ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุล

image 35 side

โลกต้องการความสามัคคีมากกว่าที่เคยเป็นมา 

ปัจจุบัน โรคโควิด-19 ยังคงระบาดทั่วโลก ขณะเศรษฐกิจโลกอาจก้าวสู่ภาวะถดถอยรุนแรง ซ้ำยังมีความพยายามจัดตั้งกลุ่มกองพิเศษเพิ่มขึ้น มีการแบ่งขั้ว และการยุยงปลุกปั่นให้เกิดการเผชิญหน้า ซึ่งบั่นทอนความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั่วโลกอย่างรุนแรง และขัดขวางความร่วมมือระหว่างประเทศ

เมื่อไม่นานนี้ ยูกิโอะ ฮาโตยามะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซินหัวว่า โลกทุกวันนี้เผชิญความยากลำบากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และชะตากรรมของนานาประเทศล้วนยึดโยงกันไว้ ซึ่งทำให้วิกฤติในประเทศหนึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ

สมาชิกกลุ่ม จี20 และเอเปค ซึ่งเป็นเวทีหลักสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จำต้องใช้การรวมตัวทั้งสองครั้งเป็นสะพานเชื่อมความแตกต่าง ขยับขยายการสื่อสาร สร้างฉันทามติระดับโลก และทำงานอย่างเป็นเอกภาพ ณ ห้วงยามแห่งวิกฤตนี้

เหล่าผู้นำได้รับการเรียกร้องให้ร่วมกันลงมือปฏิบัติเพื่อปรับปรุงธรรมาภิบาลโลก เสริมสร้างการประสานงานกับอีกฝ่ายในด้านต่าง ๆ เช่น การต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่ นโยบายเศรษฐกิจมหภาค การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจโลก

image 35 1

กลุ่ม จี20 ซึ่งประกอบด้วยประเทศและภูมิภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเศรษฐกิจเกิดใหม่ของโลก และครองสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกมากกว่า 80% การค้าระหว่างประเทศมากกว่า 75% และประชากรโลกราว 2 ใน 3 จะต้องทำหน้าที่ผู้นำและแบกรับความรับผิดชอบมากขึ้น เช่นเดียวกับหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2551

ปีเตอร์ ดรายส์เดล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย แสดงความเห็นว่า โลกยังคงขาดแคลนความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านเหล่านี้ ซึ่งเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน

โดยความร่วมมือระหว่างประเทศมีนัยสำคัญยิ่งยวดต่อการก้าวข้ามความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการทำงานร่วมกันในประเด็นสำคัญต่างๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ

วิถีทางสู่การพัฒนาเพื่อการฟื้นฟู

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก เตือนว่าเศรษฐกิจโลกเข้าใกล้ภาวะถดถอยรุนแรง ขณะอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และภาระหนี้สินพอกพูนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยธนาคารโลกได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทั่วโลกในปี 2023 จากเดิม 3% เป็น 1.9%

เหล่าผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงก่อความสูญเสียด้านประชากร และส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อเศรษฐกิจโลก โดยการแก้ปัญหาระดับโลกแบบองค์รวม ควรให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการค้า และการลงทุนแบบเปิด โครงสร้างพื้นฐาน และการเงินอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม จี20 ภายใต้แนวคิด “ฟื้นฟูไปด้วยกัน ฟื้นฟูให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น” จะมุ่งเน้นการเสริมสร้างโครงสร้างสุขภาพระดับโลก เร่งการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่ยั่งยืน และส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล โดยมีจุดมุ่งหมายจัดการช่องโหว่ของการพัฒนาระหว่างกลุ่มประเทศร่ำรวยและยากจนที่ถีบกว้างขึ้น

รีเบกกา สตา มาเรีย ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการเอเปค ระบุว่าหัวข้อดังกล่าวเป็นสิ่งที่สมาชิกเอเปคให้ความสำคัญเช่นกัน โดยบูรณาการทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ความสอดคล้องของกฎระเบียบ และการสร้างความเป็นดิจิทัลล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่เอเปคให้ความสำคัญตลอดหลายปีที่ผ่านมา

image 37

ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกได้ร่วมแรงขยับขยายความร่วมมือ และส่งเสริมการบูรณาการระดับภูมิภาค ซึ่งทำให้ภูมิภาคแห่งนี้เป็นเขตเศรษฐกิจ ที่มีพลวัต และแนวโน้มการเติบโตดีที่สุดในโลก มีการจัดตั้งแพลตฟอร์มความร่วมมือระดับภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง เปิดตัวความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และเดินหน้าสู่เป้าหมายของเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2565 มอบผลประโยชน์แก่สมาชิกอย่างชัดเจนผ่านการลดหย่อนภาษีศุลกากร และการอำนวยความสะดวกทางการค้า

ข้อมูลทางการระบุว่า การค้าของจีน กับสมาชิก RCEP ช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม มีมูลค่าสูงราว 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 42.8 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 30.5% ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของจีน

จีนเข้าร่วมเอเปคตั้งแต่ 31 ปีก่อน และยังคงยึดมั่นการเป็นหุ้นส่วนระดับภูมิภาค รวมถึงการค้าและการลงทุนเสรี ซึ่งมีส่วนส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีและเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้างอย่างมีนัยสำคัญ

คี เสรีวัต อธิบดีสถาบันจีนศึกษา ราชบัณฑิตยสถานแห่งกัมพูชา กล่าวว่า จีนเป็นผู้รักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก และคอยแบ่งปันผลลัพธ์การพัฒนากับทั่วโลกมาโดยตลอด ซึ่งจะช่วยเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากโรคระบาดใหญ่

image 36

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo