World News

‘ธุรกิจ-อุตสาหกรรม’ ปิดกิจการระนาว หลังจีน ‘แล้งจัด’ กระทบผลิต ‘ไฟฟ้า’

ภัยแล้งที่รุนแรง และความร้อนที่ร้อนระอุ จนทำให้ระดับน้ำ ในแม่น้ำสายต่าง ๆ ของจีนลดต่ำลงอย่างมาก ส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศ มีปริมาณลดลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการขาดแคลนไฟฟ้า กดดันให้รัฐบาลต้องปันส่วนไฟฟ้าในบางจังหวัด 

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า แม่น้ำแยงซี ซึ่งทอดยาวจากมณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ ของจีน ไปจนถึงนครเซี่ยงไฮ้ ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยภูมิภาคนี้มีประชากรมากกว่า 370 ล้านคน และเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญของประเทศ

ไฟฟ้า

ทั้งนี้ จีนพึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำอย่างมาก เพื่อตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้า โดยแหล่งพลังงานนี้ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศ

เจ้าหน้าที่ในบางพื้นที่ หันไปใช้มาตรการประหยัดพลังงาน เช่น การปิดไฟประดับ และการลดเวลาเปิดทำการของห้างสรรพสินค้า พวกเขายังส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และถ่ายโอนกระแสไฟฟ้าจากภูมิภาคอื่น ๆ

สตีฟ แมนเนอร์ส ผู้จัดการอาวุโสของ 2เค ไชน่า เฉิงตู บริษัทเกมที่ตั้งอยู่ในเขตชานเมืองของเฉิงตู เปิดเผยว่า ซอฟต์แวร์ พาร์ค นิคมอุตสาหกรรม ที่ตั้งของบริษัทเขา ต้งได้ปิดเครื่องปรับอากาศในสำนักงานทุกแห่ง เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า

เจ้าหน้าที่ของนิคมฯ ยังแจ้งต่อบริษัท ให้อนุญาตให้พนักงานที่ไม่จำเป็นทุกคน ทำงานจากที่บ้านได้

แม้ว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการจัดหาไฟฟ้าให้กับครัวเรือน และสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะเป็นหลัก แต่โรงงานหลายแห่งยังต้องทนกับการตัดไฟ และการผลิตที่ลดลง

ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบ เป็นที่ตั้งของโรงงานของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก เช่น โตโยต้า รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยการตัดไฟ ยังทำให้การดำเนินงานของบริษัทต่าง ๆ เช่น แอปเปิ้ล และ เทสลา หยุดชะงัก

หลี่ หง พนักงานของเมสเซอร์ กรุ๊ป ผู้จัดหาก๊าซอุตสาหกรรม ในเฉิงตู ระบุว่า 90% ของโรงงานในมณฑลเสฉวนปิดตัวลง เขาบอกด้วยว่า แม้ครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ต้องเจอกับการตัดไฟ แต่เป็นครั้งแรกที่แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

“ในอดีตเคยมีการตัดไฟ แต่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็กเท่านั้น ไม่ใช่ธุรกิจขนาดใหญ่อย่างเรา ครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับทุกคน” 

ไฟฟ้า

ขณะที่ ฮวง ฮวน ผู้จัดการทั่วไป ของสำนักงานหอการค้าสหภาพยุโรป ในเฉิงตู บอกว่า 80% ของธุรกิจในสถานที่ต่าง ๆ เช่น เฉิงตู และฉงชิ่ง ต้องปิดดำเนินงานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยผลกระทบดังกล่าว ไม่ได้เกิดต่อบริษัทขนาดเล็ก และท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ รวมถึงบริษัทต่างชาติด้วย

อุตสาหกรรมหลายประเภท ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไฟฟ้า รวมถึงภาคที่ใช้พลังงานมาก เช่น การถลุงอะลูมิเนียม การผลิตเหล็ก การผลิตปูนซีเมนต์ และการผลิตปุ๋ย

ทางด้าน ตัน หวัง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารหั่งเส็ง ประเมินว่า ภัยแล้ง และการขาดแคลนไฟฟ้าในปีนี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ มากกว่าปัญหาไฟฟ้าดับในปี 2564

เธอกล่าวว่าการตัดไฟส่งผลกระทบในทางลบต่อการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของภาคที่ใช้พลังงานมาก เช่น ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ เหล็ก และแก้ว เป็นต้น

“ภาคส่วนเหล่านี้ค่อนข้างมีความสำคัญสำหรับห่วงโซ่อุปทานของจีน และทั่วโลก ดังนั้นจะมีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ” 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo