World News

ปิดตำนาน ‘ชินโซ อาเบะ’ นักการเมืองชาตินิยม ผู้ยกระดับภาพลักษณ์ ‘ญี่ปุ่น’ บนเวทีโลก

“ชินโซ อาเบะ” ผู้เติบโต และถูกฟูมฟักจากตระกูลการเมือง เป็นนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด ในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น 

วีโอเอ รายงานว่า อาจกล่าวได้ว่านโยบายของอาเบะ เรื่องการเเก้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นมรดกของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เขาเป็นเป็นนักการเมืองที่สร้างการเเบ่งขั้ว และมีความซับซ้อนมากที่สุดในการเมืองยุคปัจจุบันของญี่ปุ่น

อาเบะ วัย 67 ปี ซึ่งเสียชีวิตในวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 ก.ค.) หลังถูกลอบสังหาร เคยสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายเสรีนิยมของประเทศ รวมถึงสร้างความโกรธเคืองต่อเหยื่อของ สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเอเชีย จากการที่เขามีมุมมอง “สายเหยี่ยว” ต่อการปฏิรูปกองทัพ และจุดยืนของเขาที่ว่า ญี่ปุ่นถูกตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมโดยประวัติศาสตร์

ชินโซ อาเบะ

 เขาสร้างแรงขับเคลื่อนเพื่อฟื้นพลังทางเศรษฐกิจของประเทศ และพยายามทำให้ญี่ปุ่น มีบทบาทเเข็งขันมากขึ้นในเอเชีย

เมื่อครั้งที่เขาลาออกจากตำเเหน่งนายกรัฐมนตรีช่วง 2 ปีก่อน ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ เขาถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเมืองที่มีเสถียรภาพในญี่ปุ่น ซึ่งไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก

เดวิด ลีฮีนีย์ นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวาเซดะกล่าวว่า อาเบะ เป็นบุคคลทางการเมืองที่ยืนตระหง่านอย่างโดดเด่นที่สุดของญี่ปุ่น ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

“เขาต้องการให้ญี่ปุ่นได้รับการเคารพบนเวทีโลก ในทางที่เขาเห็นว่าควรค่าต่อญี่ปุ่น  เขาไม่ต้องการให้ญี่ปุ่นต้องขอโทษอยู่ตลอดเวลากับ (สิ่งที่เกิดขึ้นใน) สงครามโลกครั้งที่สอง”

อาเบะ เสียชีวิตจากการถูกยิง ขณะปราศรัยหาเสียงช่วยพรรคแอลดีพี ในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก ที่จังหวัดนารา ทางตะวันตกของญี่ปุ่น

ชินโซ อาเบะ

ตำรวจยืนยันว่า สามารถจับตัวผู้ต้องสงสัยที่ชื่อ เท็ตสึยะ ยามากามิ อายุ 41 ปี ในข้อหาพยายามฆ่า และเอ็นเอชเค รายงานว่า เขาเคยทำงานในหน่วยป้องกันตนเองทางทะเลของกองทัพญี่ปุ่นเป็นเวลา 3 ปีในช่วงทศวรรษ 2000 โดยอาวุธที่พบในที่เกิดเหตุ ดูเหมือนจะเป็นปืนที่ทำขึ้นเอง

อาเบะเชื่อว่า “ประเทศอื่น ๆ ควรให้ความสนใจ และคนญี่ปุ่นควรภูมิใจ” ต่อประวัติของประเทศ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจ สันติภาพ และความร่วมมือกับชาติต่างๆ

อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ เป็นที่ชื่นชอบของนักการเมืองสายอนุรักษ์นิยมของญี่ปุ่น แต่เขาถูกมองในเเง่ลบจากนักการเมืองสายเสรีนิยม 

ในบรรดานโยบายต่าง ๆ ของเขา ไม่มีนโยบายใดที่สร้างความแตกแยกในประเทศ มากไปกว่าเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ที่มีแก่นมาจากการปฏิเสธ และต่อต้านสงคราม

แผนเเก้รัฐธรรมนูญของอาเบะไม่ประสบความสำเร็จ และแนวทางชาตินิยมที่เข้มข้นอย่างรุนเเรงของเขา ทำให้จีนและเกาหลีไม่พอใจ เนื่องจากเป็นเหยื่อของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2

นักวิเคราะห์การเมือง ชี้ว่า ความพยายามผลักดันในเรื่องดังกล่าว เกี่ยวข้องกับประวัติส่วนตัวของเขา

ชินโซ อาเบะ

คุณตาของอาเบะ คืออดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โนบุซุเกะ คิชิ ผู้ซึ่งเกลียดชังรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น ที่ร่างโดยสหรัฐ และถูกนำมาใช้ในช่วงหลังสงครามภายใต้การยึดครองของอเมริกา

อาเบะมีมุมมองเรื่องนี้เช่นเดียวกับคุณตาของเขา โดยมองว่ารัฐธรรมนูญปี 2490 เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่เขาคิดว่าไม่ยุติธรรมต่อญี่ปุ่น จากที่ประเทศพ่ายเเพ้สงคราม ถูกครอบด้วยระเบียบ และค่านิยมของชาติผู้ชนะที่เป็นประเทศตะวันตก

แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีอาวุธที่ทันสมัย แต่รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นห้ามไม่ให้ญี่ปุ่นใช้กำลังทหารในความขัดเเย้งระหว่างประเทศ และจำกัดระดับการป้องกันตนเองด้านกลาโหม

อาเบะมักใช้วาทะทางการเมือง ที่สร้างภาพลักษณ์ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศ “ปกติธรรมดา” และ “สวยงาม” ที่มีกองทัพเข็งเเกร่งขึ้น และมีบทบาททางการทูตมากขึ้น เขาเป็นเเรงขับเคลื่อนของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ในความพยายามฟอกขาวความโหดร้ายช่วงสงคราม และต้องการให้ญี่ปุ่นหยุดขอโทษต่อความโหดร้ายดังกล่าว

ผู้ที่สนับสนุนอาเบะชี้ให้เห็นว่า อาเบะพยายามให้ญี่ปุ่นมีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นขึ้นบนเวทีโลก และว่า เขาช่วยนำเสนอแนวทางสำหรับชาติประชาธิปไตยที่คิดตรงกัน ในการคานอำนาจจีน ซึ่งในเรื่องนี้ ญี่ปุ่นได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ และประเทศอื่น ๆ

อาเบะยังมีอิทธิพลอย่างสูงต่อแนวทางนโยบายของ “ฟูมิโอะ คิชิดะ” นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ในการสร้างความเเข็งเเกร่งให้กับกองทัพ รวมถึงศักยภาพในจากโจมตีเพื่อสกัดการตกเป็นเป้าก่อน

เมื่อตอนที่อาเบะประกาศลาออกจากตำแหน่ง เขากล่าวว่าตนป่วยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง เขาบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียใจ ที่เขาต้องลงจากตำแหน่งขณะที่ยังมีเป้าหมายที่ยังทำไม่เสร็จ ซึ่งรวมถึง การหาทางออกให้กับความขัดเเย้งทางดินเเดนกับรัสเซีย และการปรับแก้รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น

ชินโซ อาเบะ

รัฐบาลสหรัฐ ชื่นชมอาเบะ จากการที่เขาสร้างความเเข็งเเกร่งให้กับความสัมพันธ์สหรัฐ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นวิธีเพิ่มศักยภาพทางกลาโหมให้กับญี่ปุ่นด้วย โดยในญี่ปุ่น มีทหารอเมริกันประจำการอยู่ 50,000 คน ถือเป็นกำลังสำคัญของการรักษาดุลอำนาจ ท่ามกลางความตึงเครียดกับจีน และเกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปชาวญี่ปุ่นจำนวนมากสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับ “รักสันติ” ที่มีอยู่ และ ภายในพรรครัฐบาลของอาเบะ เกิดความเเตกเเยกทางความคิดในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะมีนักการเมืองที่ต้องการเน้นนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า

เมื่อตอนที่อาเบะขึ้นรับตำแหน่งผู้นำในปี 2549 เขาอายุ 52 ปี ทำให้เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีอายุน้อยที่สุด ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น แต่รัฐบาลสมัยเเรกของเขาจบลงอย่างรวดเร็ว เพราะมีเเนวทางชาตินิยมรุนเเรงเกินไป และเพราะปัญหาสุขภาพของตัวเองด้วย

อาเบะ ยังเป็นผู้นำที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยาวนานที่สุด แซงหน้านายกรัฐมนตรี ไอซากุ ซาโตะ ซึ่งเป็นญาติของเขา โดยซาโตะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ 2,798 วัน ช่วงปี 2507-2515

เขาได้ขึ้นเป็นผู้นำประเทศอีกครั้งหนึ่งในปี 2555 โดยแผนฟื้นพลังทางเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านนโยบายใช้จ่ายภาครัฐ ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง และอัตราดอกเบี้ยที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดคำติดปาก “อาเบะโนมิกส์” ในการกล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจของเขา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo