World News

‘ดร.อาร์ม’ เผยเบื้องลึก สหรัฐ ไม่เข้า ‘CPTPP’ พลิกเกมตั้งกรอบความร่วมมือใหม่

“ดร.อาร์ม” เปิดเบื้องลึก สหรัฐ ไม่เข้า CPTPP แต่จะตั้งกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจใหม่ “IPEF” แข่งสร้างซัพพลายเชน อาวุธสำคัญเลือกเปิดและเปลี่ยนเกมใหม่สู้จีน

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ลง Blockdit ถึงกรณีที่สหรัฐ ไม่เข้า CPTPP แต่เลือกเปิดเกมใหม่ด้วยการตั้งกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจใหม่ ชิงความเป็นผู้นำโลกกับจีน โดยระบุว่า

สหรัฐ ไม่เข้า CPTPP

สหรัฐฯ ประกาศแล้วครับว่าจะไม่กลับมาเข้า CPTPP แต่จะตั้งกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจใหม่ โดยจะเปิดตัวในปีหน้าชื่อ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF)

ช่วงที่ผ่านมาเหมือนการเดินหมากพลิกเกมไปมา ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เริ่มจากเมื่อเดือนตุลาคม จีนตีฆ้องขอเจรจาเข้าร่วมความตกลงการค้า CPTPP ซึ่งแต่เดิมเป็นกลุ่มการค้าที่โอบามาเป็นผู้ริเริ่มผลักดัน แต่ทรัมป์ดันถอนตัวไป และไบเดนเองยังไม่มีแนวโน้มจะกลับเข้าร่วม

เป็นคำขู่จากจีนว่า จะสวมบทพี่ใหญ่แทนที่สหรัฐฯ ในกลุ่มการค้าที่สหรัฐฯ ริเริ่มตั้งขึ้นมาสกัดกั้นจีน ทั้งยังเป็นคำเชิญจากจีนให้สหรัฐฯ กลับมาร่วมเจรจาในเวทีพหุภาคีร่วมกับจีน

แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้กล่าวในงาน Bloomberg New Economic Forum ที่สิงคโปร์ว่า สหรัฐฯ จะไม่กลับเข้าร่วม CPTPP

แต่ในต้นปีหน้า รัฐบาลไบเดนวางแผนการใหญ่จะเปิดตัวกรอบความร่วมมือใหม่ชื่อ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF)

IPEF จะมีจุดต่างกับ CPTPP เพราะจะเป็นกรอบความร่วมมือที่หลวม ไม่ใช่ข้อตกลงลดภาษีอย่างเคร่งครัดแบบ CPTPP ความหลวมและยืดหยุ่นกว่าของ IPEF น่าจะทำให้พันธมิตรสหรัฐฯ อย่างอินเดีย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่สามารถตกลงได้ทั้ง RCEP และ CPTPP สามารถเข้าร่วม IPEF ได้

สหรัฐ

เลือกเปิดเกมใหม่ สหรัฐ ไม่เข้า CPTPP

หัวใจของกรอบความร่วมมือใหม่ จะอยู่ที่การสร้างซัพพลายเชน สหรัฐฯ เชื่อมโลก ซึ่งไรมอนโดเรียกว่าเป็นแนวคิด Friendshoring กล่าวคือ ทุนสหรัฐฯ จะขยายการค้าการลงทุนเน้นไปที่กลุ่มเพื่อนพันธมิตรที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน

จึงไม่แปลกหากในปีหน้า เรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง จะร้อนแรงขึ้นในระดับโลก เพราะนี่จะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจของโลกเสรีประชาธิปไตยในภูมิภาค (a trade coalition of democracies) ขึ้นมาสู้กับ ห่วงโซ่จีนเชื่อมโลก ผ่าน BRI ของจีน และกลุ่มการค้า RCEP ที่จีนเชื่อมกับเอเชีย

สัปดาห์ที่ผ่านมา ไรมอนโดมาเยือนญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพื่อเริ่มพูดคุยกรอบความร่วมมือใหม่ จะเห็นว่าทั้งสามประเทศเคยอยู่ใน CPTPP เดิม

ส่วนในการประชุมที่สิงคโปร์ ไรมอนโดยังได้พบพูดคุยกับผู้แทนของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งก็อยู่ใน CPTPP เดิมด้วยเช่นกัน

หัวข้อสำคัญในกรอบความร่วมมือใหม่ นอกจากการสร้างเครือข่ายซัพพลายเชนแล้ว ยังจะมีเรื่อง ดิจิทัลเทรด เรื่องการสร้างมาตรฐานเทคโนโลยี เช่น ในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และมาตรฐานเรื่องข้อมูล รวมทั้งความร่วมมือเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลไบเดน

ในงาน Bloomberg New Economic Forum ที่สิงคโปร์ ยังมีอีกวงเสวนาหนึ่งเรื่องภูมิรัฐศาสตร์โลก ซึ่งมีฮิลลารี คลินตัน อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ และอดีตผู้สมัครประธานาธิบดี เข้าร่วมเสวนาด้วย

ผู้ดำเนินการเสวนาถาม คลินตัน ซึ่งเคยสนับสนุนและผลักดัน CPTPP มาก่อนว่า มองอย่างไรที่สหรัฐฯ ในวันนี้ ไม่ได้อยู่ในกลุ่มการค้าที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 1 และ 2 ของโลก คือ RCEP และ CPTPP ขณะที่จีนอยู่ในอันแรกและกำลังขอเข้าอันที่สอง

คลินตัน ตอบว่า เธอได้เปลี่ยนความคิดเรื่องการเข้าร่วม CPTPP เรียบร้อยแล้ว เพราะวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ตั้งแต่หลังโควิด

LINE ALBUM CPTPP ๒๑๑๑๒๕

นโยบายการค้ายุคใหม่ ควรให้ความสำคัญกับความมั่นคงของซัพพลายเชนในกลุ่มพันธมิตร มากกว่าการลดกำแพงภาษี หรือเข้าร่วมกลุ่มการค้าเสรีใหญ่ ๆ เช่นในอดีต

ถอดรหัสระหว่างบรรทัดจากคำพูดของฮิลลารีก็คือ เทรนด์ใหม่ของทุนสหรัฐฯ กำลังเน้น ย้ายกลับไปลงทุนที่บ้าน (Reshoring) บวกกับ ลงทุนที่บ้านเพื่อน (Friendshoring) สหรัฐฯ ไม่ได้สนใจทุกตลาดเช่นในอดีต แต่จะเจาะเป็นตลาดไปตามเหตุผลเชิงยุทธศาสตร์

เหมือนกับที่ไรมอนโด พูดชัดเจนที่สิงคโปร์ว่า เป็นไปไม่ได้ที่สหรัฐฯ จะผลิตเซมิคอนดักเตอร์เองภายในสหรัฐฯ ทั้งหมด เพราะซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ มีความซับซ้อนมาก แต่สิ่งที่ต้องมั่นใจคือซัปพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์อยู่กับเรา เชื่อมกับเพื่อนเรา ไม่ใช่อยู่กับจีนหรือต้องพึ่งจีน

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ แผนความร่วมมือในการสร้างซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ญี่ปุ่นยังได้ประกาศสนับสนุนบริษัทชิปให้ย้ายมาลงทุนที่ญี่ปุ่น ประเดิมด้วยแผนการลงทุนใหญ่ทั้งจาก TSMC และ Sony โดยรัฐบาลญี่ปุ่นสัญญาว่า จะอุดหนุนต้นทุนการก่อสร้างโรงงานใหม่ นับว่าเป็น ข่าวร้ายที่สั่นสะเทือนวงการชิปของจีน

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางปี ไบเดนยังได้เคยเสนอแนวคิด 3BW (Build Back Better World) โดยย้ำเน้นว่าสหรัฐฯ จะกลับมาสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศทั่วโลกแข่งกับจีน แนวคิด 3BW น่าจะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของ IPEF ด้วยเช่นกัน

โดยสหรัฐฯ จะเน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาด และเศรษฐกิจสีเขียว ในกลุ่มพันธมิตรในอินโดแปซิฟิก เพื่อให้แตกต่างจากจีนที่ยังลงทุนในอุตสาหกรรมถ่านหิน และพลังงานเก่าในหลายประเทศ

ถ้าใครถามว่า ข่าวใหญ่ปีหน้าสำหรับวงการเศรษฐกิจระหว่างประเทศคืออะไร คำตอบก็คือ การที่สหรัฐฯ จะเดินเกมเชิงรุก เริ่มแสวงเพื่อนเข้าร่วมกรอบเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯ

กลยุทธ์ของสหรัฐฯ เมื่อถูกจีนวางหมากจะสวมแทนตนในเกมเดิมอย่าง CPTPP ก็คือ เปิดและเปลี่ยนเกมใหม่ไปเลย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo