COVID-19

‘ดร.อาร์ม’ ไขปริศนา ทำไมจีนไม่ยอมเปิดเมือง ยืนหยัดนโยบาย Zero Covid

ผอ.ศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ ไขปริศนา จีนไม่ยอมเปิดเมือง ยึดนโยบาย Zero Covid ไม่ยอมอนุมัติการใช้วัคซีน mRNA ชี้เป็นนโยบายซื้อเวลาเพื่อสาม “รอ”

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ลง Blockdit คลี่ปมปริศนา ประเทศจีนไม่ยอมเปิดเมือง พร้อมยืนยันนโยบาย Zero Covid โดยระบุว่า

เปิดเมือง

ปริศนาจีนไม่ยอมเปิดเมือง

ในเรื่องการรับมือกับโควิด เพราะเหตุใดจีนถึงสวนกระแสโลก ขณะที่ชาวบ้านเริ่มเปิดเมือง จีนยังยืนยันจะปิดประเทศต่อไป

ในขณะที่ชาวบ้านเปลี่ยนมาฉีดวัคซีน mRNA จีนยังไม่ยอมอนุมัติการใช้วัคซีน mRNA

และในขณะที่ทุกคนบอกว่าต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด จีนยังคงยืนหยัดในนโยบาย Zero Covid ต้องกดตัวเลขให้เป็นศูนย์ให้ได้แม้ในการระบาดรอบใหม่ในปัจจุบัน

คำถามแรกคือ จีนจะเปิดเมืองเมื่อไหร่?

ศ.เกาฟู่ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคของจีน ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถอดความได้ว่า จีนจะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะเปิดประเทศต่อเมื่อฉีดวัคซีนได้เกิน 85% ของประชากรในต้นปีหน้า

ความหมายก็คือ ภายในปีนี้ (สองเดือนที่เหลือ) จีนจะยังคงไม่เปิดประเทศอย่างแน่นอน ดังนั้น ถึงไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวจีน ก็ยังไม่มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมา

โอกาสจะเปิดประเทศได้เร็วที่สุดคือ ต้นปีหน้า และถ้าเปิดจริง คงใช้วิธีค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการ ไม่ได้เปิดแบบปลดล็อคทันทีทันใด

และเงื่อนไขคือต้องดูสถานการณ์การฉีดวัคซีน ซึ่งต้องฉีดเข็ม 2 ให้ครอบคลุมมากกว่า 85% ของประชากร เพื่อจะได้กดการระบาดและกดอัตราการป่วยหนักและการตาย

แต่ถึงจะฉีดเกิน 85% ก็น่าจะยังมีคำถามมากมาย เช่น คนที่ฉีดไปนานแล้ว ต้องเริ่มฉีดใหม่ไหม ถึงตอนนั้นจะมีเชื้อกลายพันธุ์อีกไหม ประสิทธิภาพวัคซีนจีนต่อเชื้อกลายพันธุ์ในเวลานั้นเป็นอย่างไร มั่นใจได้แน่นอนไหมว่าเปิดแล้วจะไม่ระบาดหรือสูญเสียรุนแรง ซึ่งน่าจะมีการทดลองทยอยเปิดบางเมืองบ้างพื้นที่ชิมลางดูก่อน

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ปีหน้าจีนจะมีงานใหญ่ระดับชาติ 2 งาน คือ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งในเดือนมีนาคม ซึ่งจีนประกาศชัดแล้วว่า จะยังคงใช้มาตรการสาธารณสุขที่เข้มงวด และเปิดรับเฉพาะนักกีฬา ไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

กับอีกงานสุดสำคัญคือ การประชุมครั้งใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในรอบ 5 ปี ซึ่งจะจัดในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า

ดร.อาร์ม

สำหรับรัฐบาลจีนแล้ว ในปีหน้า ความมั่นคงจะมาเป็นอันดับหนึ่ง รัฐบาลจีนย่อมจะเลือกแนวทาง “Zero Covid” ไม่ยอมเปิดประเทศต่อไป

หากถึงตอนนั้น ยังคงมีความเสี่ยงเรื่องการระบาดในวงกว้าง และการป่วยหนักหรือตายในอัตราสูง จากปัญหาประสิทธิภาพของวัคซีนหรือปัญหาเชื้อกลายพันธุ์

ปริศนาต่อมา ก็คือ ทำไมจนถึงตอนนี้จีนยังคงไม่ยอมอนุมัติการใช้วัคซีน mRNA?

เรื่องวัคซีน mRNA นี้ไม่ใช่ว่าจีนไม่มีของ เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Fosun ได้สิทธิจากบริษัท BioNTech ของเยอรมัน (เจ้าเดียวกับที่ร่วมพัฒนาวัคซีนไฟเซอร์) โดย Fosun พร้อมผลิตและกระจายวัคซีน mRNA ในจีนทันที ขอเพียงรัฐบาลจีนเปิดไฟเขียว

คำตอบคงไม่ใช่ว่า จีนไม่ไว้เนื้อเชื้อใจในความปลอดภัยของเทคโนโลยีใหม่ เพราะ ศ.เกาฟู่เอง ก็ยังให้สัมภาษณ์ถึงความสำคัญที่จีนต้องคิดค้นวัคซีนด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เบื้องหลังการชะลอไฟเขียววัคซีน mRNA ของจีนน่าจะมี 3 ปัจจัย ได้แก่

1. ต้องการช่วยบริษัทซิโนฟาร์มและซิโนแวค ซึ่งบริษัทแรกเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนอีกบริษัทก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน รัฐบาลจีนคงหวังจะช่วยให้การผลิตและกระจายวัคซีนเชื้อตายถึงจุดคุ้มเม็ดเงินมหาศาลที่ลงทุนไป ก่อนที่ในตลาดจะมีวัคซีน mRNA มาเป็นคู่แข่ง

จีนอาจเลือกใช้วัคซีน mRNA มาฉีดเป็นเข็ม 3 แต่จีนจะยังไม่เข็นออกมาใช้ จนกว่าจะฉีดเข็ม 2 ได้ 85% ของประชากรเรียบร้อยก่อน เพราะไม่มีเหตุผลที่จะต้องรีบร้อนให้คนสับสน และตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อตาย หรือให้คนเกิดความลังเลที่จะฉีดวัคซีนเชื้อตาย แถมในจีนเองก็ยังไม่มีการระบาดใหญ่ในขณะนี้ และยังไม่คิดเปิดประเทศอยู่แล้วด้วย

2. เกี่ยวกับการทูตวัคซีน จีนย่อมไม่ต้องการดิสเครดิตวัคซีนเชื้อตายของจีนเอง หลีกเลี่ยงที่จะมีกระแสว่า ขนาดจีนเองยังเปลี่ยนมาใช้ mRNA

3. จีนคงต้องการรอการพัฒนาวัคซีน mRNA ของจีนเอง ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงทดลอง Phase 3 หากสำเร็จ ก็จะได้อนุมัติวัคซีน BioNTech และเริ่มฉีดเป็นเข็ม 3 ปูพรมพร้อมกันกับวัคซีน mRNA ของบริษัทจีนเอง

ดร.อาร์ม1
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

ตอนนั้น จีนก็จะปลุกกระแสชาตินิยมได้ว่า ไม่ใช่มีทางเลือกแต่วัคซีน mRNA ของฝรั่ง (ที่บริษัทจีนได้สิทธิมาผลิตกระจายในจีน) แต่ยังมีวัคซีนmRNA ที่คนจีนคิดและพัฒนาเองด้วย

สำหรับปริศนาข้อสุดท้าย เหตุใดจีนจึงยังยืนหยัดนโยบาย Zero Covid ซึ่งบัดนี้น่าจะเหลือจีนเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ยังดึงดันแนวทางนี้ และเป็นทางเลือกที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงมาก

คำตอบอยู่ที่สามความพิเศษของจีน

พิเศษแรกคือ จีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ สามารถพึ่งพาตลาดภายในได้ นักท่องเที่ยวจีนก็เที่ยวและบริโภคภายในจีนเอง เศรษฐกิจก็ยังหมุนเวียนพอไปได้ แม้เศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ก็ไม่ได้ย่ำแย่จนรับไม่ไหว

พิเศษที่สอง คือ รัฐบาลจีนต้องการทดลองการอยู่ให้ได้ถ้าต้องปิดประเทศ ใช้โควิดเป็นโอกาสในการเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจมาพึ่งพาภายในประเทศมากขึ้น ลดการพึ่งพาภายนอกลง

ท่ามกลางความขัดแย้งในการเมืองโลก จีนเริ่มเตรียมว่า ถ้าตะวันตกเลิกคบจีน ทำสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี หรือไปถึงคว่ำบาตรจีน หรือถึงจุดเกิดสงครามในภูมิภาคที่ตัดขาดการค้าโลก หรือบีบให้จีนต้องปิดประเทศ จีนจะอยู่ด้วยตัวเองได้อย่างไร โควิดเป็นโหมดทดลองให้แก่รัฐบาลจีน

พิเศษที่สาม คือ จีนประเมินแล้วว่า เมืองใหญ่ของจีนมีประชากรหนาแน่นมาก และทรัพยากรด้านสาธารณสุขของจีนไม่สามารถรับมือกับการระบาดใหญ่ได้

หากเกิดการระบาดในเมืองใหญ่ของจีนจริง จะคล้ายกับสถานการณ์การระบาดในอินเดีย ที่ยอดผู้สูญเสียจะมากมายจนรัฐบาลจีนและประชาชนจีนยอมรับไม่ได้ และจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความศรัทธาต่อรัฐบาลโดยตรง

พูดอีกอย่างคือ เศรษฐกิจไม่ดี รัฐบาลจีนยังพออยู่ได้ เพราะตอนนี้ใครๆ ก็เจ็บตัวกันหมด แต่ถ้าเกิดระบาดหนักและล้มตายกันอย่างมากมายแบบในอินเดีย รัฐบาลจีนอยู่ไม่ได้แน่นอน

ศ.เกาฟู่ กล่าวในบทสัมภาษณ์ว่า นโยบาย Zero Covid ของจีนเป็นนโยบายซื้อเวลาเพื่อสาม “รอ” ได้แก่ รอฉีดวัคซีนให้ครบประชากร รอการคิดค้นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รอการคิดยารักษาที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ผู้นำจีนเลือกไม่อยู่ร่วมกับโควิดในขณะนี้ จนกว่าจะมั่นใจได้ว่า เมื่อเปิดประเทศแล้ว จะสามารถควบคุมยอดผู้ติดเชื้อและยอดการตายได้อย่างแน่นอน แต่ถ้ายังไม่ชัวร์ ก็ยังไม่ยอมเสี่ยงที่จะคลายล็อคแม้ในปีหน้า ซึ่งจะมีการจัดประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในรอบ 5 ปี

ดังนั้น เปิดไม่เปิดเมืองจึงขึ้นกับ สามรอ ของ ศ.เกาฟู่ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่ ถ้ายังมาไม่ถึง ก็อย่าแปลกใจที่จีนจะยังคงยืนหยัดนโยบาย Zero Covid ต่อไป แม้ทั่วโลกจะคลายล็อคกันแล้ว

เพราะสำหรับรัฐบาลจีน ความมั่นคงมาก่อนปากท้อง และสาธารณสุขมาก่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 2022 ที่จะสำคัญยิ่งในการเมืองจีน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo