บรรดาตลาดเกิดใหม่เอเชีย และรัฐบาลชาติต่างๆ ที่กำลังมีความขัดแย้งทางการค้าสหรัฐ กำลังเร่งสะสมทองคำ เพื่อลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์
ประเทศเหล่านี้ ต่างหวังที่จะป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ จะดำเนินมาตรการที่หนักหน่วงขึ้น ก่อนถึงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนนี้
เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า ทองคำถือเป็นสกุลเงินไร้ชาติ ที่สามารถนำไปเปลี่ยนเป็นเงินในประเทศใดก็ได้ และเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง
หลายประเทศกำลังเทขายเงินดอลลาร์ และหันมาถือครองทองคำ เพื่อลดความผันผวนจากการดำเนินนโยบายการทูตที่คาดเดาไม่ได้ของทรัมป์
ในเอเชีย โดยเฉพาะชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียกลางนั้น ยิ่งเร่งเพิ่มปริมาณการถือครองตัวเอง โดยนับถึงสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์มีการถือครองทองคำทั้งสิ้น 196.4 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึง 20% ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้ อินโดนีเซีย มีการถือครองทองคำโดยรวมเพิ่มขึ้น 10% มาอยู่ที่ 80.6 ตัน
นับแต่เกิดวิกฤติค่าเงินเอเชียในปี 2540 หลายประเทศในเอเชียต่างดำเนินความพยายามอย่างสม่ำเสมอที่จะลดการถือครองเงินดอลลาร์ลงมา ซึ่งทองคำเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ดอลลาร์ที่ประเทศเหล่านี้สะสมเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
อิทสึโอะ โทชิมะ นักวิเคราะห์ตลาด แสดงความเห็นว่า ในปัจจุบัน เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในสถานะที่ดีอย่างมาก เพราะผลกระทบเชิงบวกที่เกิดจากลดภาษี แต่เมื่อถึงที่สุดแล้ว สหรัฐก็จะต้องเผชิญกับผลกระทบด้านลบของมาตรการนี้เช่นกัน
“รัฐบาลสหรัฐอาจโดนบีบให้ต้องออกพันธบัตรเพิ่ม เพราะสถานะทางการคลังที่ถดถอยลง ซึ่งจะทำให้เกิดความกังวลขึ้นมาถึงการขึ้นดอกเบี้ย และเกิดความเสี่ยงที่จะทำลายความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์”
รัฐบาลและตลาดทั่วโลก มีความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับนโยบายนโยบายปกป้องการค้าของทรัมป์ ซึ่งอาจทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งนายโทชิมะ คาดว่า ตลาดเกิดใหม่เอเชีย จะเดินหน้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนต่อจากนี้
นอกจากนี้ ประเทศที่มีความสัมพันธ์ตึงเครียดกับรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ชูนโยบาย “อเมริกาที่หนึ่ง” ต่างก็เพิ่มการเข้าซื้อทองคำเช่นกัน
ข้อมูลจากสภาทองคำโลก แสดงให้เห็นว่า ประชาชนในอิหร่านซื้อทองคำจำนวนมากขึ้น โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ อิหร่านมียอดขายทองคำแท่ง และเหรียญทองคำเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 24.5 ตัน
ทองคำที่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษในหมู่ชาวอิหร่าน คือ เหรียญทองคำที่ออกโดยรัฐบาล เนื่องจากทองคำประเภทนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เรียกเก็บสำหรับการซื้อขายทองคำ ทำให้มีการขายถูกกว่าราคาในตลาด
เหรียญทองคำเหล่านี้ ถือเป็นแหล่งสร้างรายได้โดยตรงให้กับรัฐบาลอิหร่าน โดยในบางโอกาสนั้น จะมีผู้คนต่อแถวกันยาวเหยียดหน้าธนาคาร เพื่อรอซื้อเหรียญทองคำของรัฐบาล
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านที่ทำไว้ในปี 2558 กับ 7 ประเทศ และเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็ได้ฟื้นมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจบางส่วนต่ออิหร่านอีกครั้ง
ช่วงปลายปีนี้ รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ ยังมีแผนที่จะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรด้านน้ำมัน และการทำธุรกรรมต่อรัฐบาลกลางอิหร่าน ที่มีเป้าหมายให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอิหร่าน
ทาคาชิ ฮายาชิดะ ผู้ก่อตั้ง และซีอีโออีเลเมนท์ส แคปิตอล ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ชาวอิหร่านอาจจะพยายามปกป้องสินทรัพย์ของตัวเอง ด้วยการยกเลิกบัญชีธนาคารสกุลเงินดอลลาร์ และหันมาซื้อทองคำแทน เพราะมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐนั้น สกัดกั้นชาวอิหร่านไม่ให้ทำธุรกรรมกับธนาคารสหรัฐ
ส่วนที่รัสเซีย ซึ่งตกเป็นเป้าหมายการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐด้วยนั้น ธนาคารกลางรัสเซียได้เพิ่มการถือครองทองคำขึ้นมาอย่างมาก
นับถึงสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางรัสเซียถือครองทองคำมั้งหมด 1,944 ตัน เพิ่มขึ้น 105 ตัน หรือราว 6% จากช่วงสิ้นปี 2560 ทำให้รัสเซียกลายเป็นประเทศที่ธนาคารกลางถือครองทองคำมากสุดรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก
ทั้งนี้ ราคาทองคำในตลาดโลกดิ่งลงอย่างมากในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 เพราะเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จากที่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 1,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงต้นปี มาเคลื่อนไหวที่ระดับ 1,250 ดอลลาร์ช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน
บรรดานักเก็งกำไรต่างเทขายสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าในตลาด ทำให้ราคาทองคำดิ่งลงมา จนกลายเป็นการเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางรัสเซียเข้าซื้อ
อย่างไรก็ดี ยังมีบางประเทศที่เกิดความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐ และต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจ ด้วยการนำทองคำออกเทขายทั้งในภาครัฐ และเอกชน
โทชิมะ ระบุว่า การที่ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ตลอดเวลา จนบางครั้งมีการพูดถึงทองคำว่า เป็นตู้กดเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม)
วิกฤติค่าเงินลีราตุรกี ที่กำลังเกิดขึ้นหลังเกิดขัดแย้งกับรัฐบาลสหรัฐ ทำให้ประธานาธิบดีเรเซฟ เตย์ยิป เออร์โดแกนเรียกร้องให้มีการนำทองคำออกมาขาย เพื่อสนับสนุนค่าเงินของประเทศ ที่อ่อนค่าลงอย่างหนัก
ก่อนหน้านั้น เออร์โดแกนเรียกร้องมาตลอดให้ประชาชนซื้อทองคำมาเก็บไว้ เพราะสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสด และใช้หนุนหลังสกุลเงินของประเทศได้
เวเนซุเอลา ก็ต้องทยอยนำทองคำออกมาขายเช่นกัน ในความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศที่ถดถอยอย่างหนัก เพราะโดนสหรัฐคว่ำบาตร โดยในช่วงปีที่ผ่านมา ปริมาณทองคำสำรองของเวเนซุเอลา ลดลง 20% มาอยู่ที่ 150 ตัน