World News

‘ธุรกิจปิโตรเคมี’ ปี 2567 ยังน่าเป็นห่วง หวั่น ‘กำลังผลิตล้น’ กดดันผู้เล่นในอุตสาหกรรม

การผลิตปิโตรเคมีในสหรัฐ และจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความกังวลว่า กำลังการผลิตส่วนเกิน จะสร้างแรงกดดันให้กับผู้เล่นในอุตสาหกรรม ซึ่งประสบปัญหากำไรที่ลดลง และต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานอ้างการเปิดเผยของ ชอน พาร์ค ผู้อำนวยการเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ ระบุว่า ตามปกติแล้ว การผลิตปิโตรเคมีจะเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปี เนื่องจากความต้องการเติมสินค้าคงคลัง หลังการบริโภคอย่างแข็งแกร่งในช่วงก่อน และหลังตรุษจีน รวถึง การปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงงานผู้ผลิตปิโตรเคมี ซึ่งมักเกิดขึ้นในไตรมาส 1 และ 2 ตลอดจนความกังวลเรื่องสภาพอากาศหนาวเย็นในสหรัฐ และสหภาพยุโรป ที่อาจนำไปสู่การหยุดการผลิต

ปิโตรเคมี

กระนั้นก็ตาม มีแนวโน้มว่า ปี 2567 อาจเป็นอีกหนึ่งปีที่ “ตลาดปิโตรเคมี” จะตกอยู่ในภาวะซบเซา ซึ่งพาร์คชี้ว่า แม้การจัดหา และความต้องการปิโตรเคมีทั่วโลกในปี 2567 จะดีขึ้นกว่าปี 2566 เนื่องจากปีที่แล้ว จีนมีความต้องการลดลง ทั้งยังมีการขยายกำลังการผลิตน้อยกว่าแผนการที่วางไว้ แต่ก็ยังไม่ใช่ปีที่ร้อนแรงสำหรับอุตสาหกรรมนี้

“เราคาดว่า ความต้องการปิโตรเคมีในปี 2567 จะไม่ร้อนแรงมากนัก เพราะต้องเจอกับหลายปัญหา รวมถึงการค้าโลกซบเซา อัตราดอกเบี้ยสูง และเศรษฐกิจจีนยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง”

ผู้อำนวยการเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ รายนี้ ยังยังคาดการณ์ว่า ปัจจัยพื้นฐานด้านการจัดหา และความต้องการที่ดีขึ้น จะช่วยให้ส่วนต่างของพอลีเมอร์-แนฟทา ดีขึ้นในปีนี้

“เราคาดว่า ความต้องการเอทิลีนที่เพิ่มขึ้น จะแซงหน้าการจัดหาในปี 2567 ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะตึงตัวทั้งด้านการจัดหา และความต้องการในตลาดพอลีเมอร์”

ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตปิโตรเคมี มีความสัมพันธ์อย่างมากกับราคาน้ำมันดิบ ทำให้การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ จะเป็นความเสี่ยงที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งพาร์คชี้ว่า ราคาของปิโตรเคมีโดยทั่วไปจะถูกกดดัน เมื่อราคาน้ำมันดิบพุ่งไปที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ไม่สามารถสะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้

ปัจจัยเสี่ยงอีกอย่างหนึ่ง คือ เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอเกินกว่าทึ่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะทำให้เกิดการเสื่อมถอยในการจัดหา และความต้องการเอทิลีนทั่วโลก

ในรายงานล่าสุดเกี่ยวกับแนวโน้มปิโตรเคมีนั้น พาร์ค แสดงความเห็นไว้ว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยังคงมีอยู่จนถึงปีนี้ แต่ผู้ประกอบการปิโตรเคมีที่ได้รับการจัดอันดับในเอเชียส่วนใหญ่ น่าจะผ่านพ้นสภาวะที่ยากลำบากไปได้ แม้อันดับความน่าเชื่อถือจะลดลงจากปี 2566 ก็ตาม

ปิโตรเคมี

“บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับมักจะมีขนาดใหญ่กว่าบริษัทอื่นๆ และได้รับประโยชน์จากการผสมผสานผลิตภัณฑ์ และกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในช่วงวัฎจักรขาลง”

ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ในท้องถิ่น ต่างก็มองเห็นช่วงเวลาท้าทายที่รออยู่สำหรับผู้เล่นปิโตรเคมี ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั่วโลกแล้ว อาซิม ฟาริส อับ ราฮิม นักวิเคราะห์จากบีไอเอ็มบี รีเสิร์ช มองว่า แนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากนักในขณะนี้

“เรายึดจุดยืนแบบอนุรักษ์นิยม โดยคาดว่าราคาพอลีเมอร์ จะใกล้เคียงกับระดับราคาในปี 2566″

อย่างไรก็ดี เขาชี้ว่า วิกฤติทะเลแดงในขณะนี้ อาจทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะส่งผลกระทบต่อการผลิตในตะวันออกกลาง และอาจทำให้ส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลกไม่ได้

ขณะที่ อ่อง เซียะ เฮิร์น นักวิเคราะห์จากทีเอ ซิเคียวริตีส์ แสดงความเห็นว่า แม้ จีน และสหรัฐ จะเร่งการผลิตปิโตรเคมี เพื่อเป้าหมายในการพึ่งพาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อุตสาหกรรมนี้ มีวัฎจักรขึ้นลง และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก จึงเชื่อว่า กว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้น อย่างเร็วที่สุด ก็ต้องรอถึงครึ่งหลังของปีนี้

ปิโตรเคมี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo