นับเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น ตัดสินใจดำเนิน ‘มาตรการแบบผิดปกติ” ด้วยการเข้าซื้อกองทุนอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อสนับสนุน “ราคาหุ้น” อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่สถานการณ์ดังกล่าวกำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีแนวโน้มที่จะกลายเป็น “ผู้ขายหุ้นสุทธิ” ในปี 2566 เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เปิดตัวมาตรการดังกล่าวในปี 2553
นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ผลประกอบการของตลาดหุ้นญี่ปุ่น ในปี 2566 ดำเนินไปได้ด้วยดี โดยที่ดัชนีนิกเคอิทะยานขึ้น 28% เพราะราคาหุ้นได้แรงหนุนจากเงินของนักลงทุนต่างชาติ และการซื้อหุ้นคืนของบรรดาบริษัทญี่ปุ่น โดยเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชน ช่วยหนุนให้ราคาหุ้นสูงขึ้น แม้ว่าสถานะผู้ซื้อของบีโอเจจะลดลงก็ตาม
ตามปกติแล้ว บรรดาธนาคารกลางชาติใหญ่ ๆ จะไม่มีนโยบายสนับสนุนราคาหุ้น ซึ่งการที่บีโอเจยกเลิกมาตรการดังกล่าว จะช่วยลดการบิดเบือนราคาหุ้น และช่วยฟื้นฟูการทำงานของตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ทั้งนี้ เป็นที่เชื่อกันว่า ในปี 2566 บีโอเจ ได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นผู้ขายหุ้นแล้ว จากการเทขายหุ้นของธนาคารต่าง ๆ ที่เคยซื้อมาก่อนหน้านี้ ตามนโยบายสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงิน และมีแนวโน้มของการเข้าซื้อ แซงหน้าการซื้อ ETF ซึ่งลดลงอย่างมาก เนื่องจากการรักษาเสถียรภาพราคาหุ้น
การซื้อ ETF มีวัตถุประสงค์เพื่อลดแรงกดดันต่อราคาสินทรัพย์ และป้องกันไม่ให้ความเชื่อมั่นของตลาดลดลง โดยตั้งแต่ปี 2560 ถึงปี 2563 ภายใต้การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมากนั้น บีโอเจมีมูลค่าการเข้าซื้อพุ่งขึ้นมาอยู่ระหว่าง 4 ล้านล้านเยน-7 ล้านล้านเยนต่อปี
อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นปี 2564 ปริมาณการซื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่บีโอเจดำเนินการทบทวนนโยบาย จำกัดการซื้อให้เหลือเฉพาะวันที่ราคาหุ้นร่วงลงอย่างหนัก โดยมูลค่าการซื้อรายปีนับตั้งแต่ปี 2564 ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 ล้านล้านเยน และเหลือประมาณ 210,000 ล้านเยนในปี 2566
หุ้นที่บีโอเจเทขายออกมานั้น เป็นหุ้นที่ซื้อจากธนาคารต่าง ๆ ในช่วงปี 2545-2547 และช่วงปี 2552-2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเกราะป้องกันสถาบันการเงินเหล่านี้ จากผลกระทบด้านลบ ที่เกิดจากราคาหุ้นร่วงลง โดยบีโอเจกำลังจะยุตินโยบายนี้ภายใต้แผน 10 ปี ที่เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559-2568
ในตอนแรก บีโอเจ มีเป้าหมายที่จะขายหุ้นที่ถือครองอยู่ ซึ่งมีมูลค่าตลาดประมาณ 3 ล้านล้านเยน ณ เวลาที่ประกาศแผนนั้น ปีละ 300,000 ล้านเยน แต่มูลค่าที่ถือครองแท้จริง เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ราว 960,000 ล้านเยน หรือเหลือให้ขายประมาณปีละ 320,000 ล้านเยน ในช่วง 3 ปีสุดท้าย ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับแผนเดิม โดยก่อนหน้านี้ บีโอเจ เริ่มขายหุ้นที่ซื้อจากธนาคารในปี 2550 แต่วิกฤติการเงินโลกในปีถัดมา บังคับให้ธนาคารต้องระงับความพยายามดังกล่าวไว้ก่อน
อย่างไรก็ดี แม้บีโอเจจะกลายเป็นผู้ขายสุทธิในปี 2566 แต่สภาพแวดล้อมของตลาดหุ้นที่ยังคงดีอยู่ ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดการตั้งคำถามถึงข้อดี และข้อเสีย ของนโยบายการซื้อ ETF อย่างต่อเนื่อง
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า แม้การเข้าซื้อจะแสดงให้เห็นถึงผลดี อย่างเช่น ช่วยป้องกันไม่ให้ความเชื่อมั่นในตลาดลดต่ำลง ในช่วงการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด แต่ถ้าหากหุ้นยังได้รับการสนับสนุนเช่นนี้ต่อไป ก็จะกลายเป็นเรื่องยากสำหรับผู้บริหาร ที่จะสังเกตเห็นปัญหาพื้นฐานที่บริษัทเผชิญอยู่ ทั้งยังทำให้นักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบันขาดโอกาสในการบริหารจัดการสินทรัพย์
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘รัฐบาลญี่ปุ่น’ อนุมัติแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ มูลค่ากว่า 17 ล้านล้านเยน
- ‘ญี่ปุ่น’ หวั่น ‘เงินเยน’ เคลื่อนไหวเร็ว ส่งผลกระทบเศรษฐกิจ
- ชี้ ‘ไทย-ญี่ปุ่น’ เศรษฐกิจอ่อนแอสุดในเอเชีย ‘ตลาดเกิดใหม่’ โดยรวมยังสถานะดี
ติดตามเราได้ที่
เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg