World News

‘ดอกเบี้ย-เงินเฟ้อ’ สูง ฉุด ‘เศรษฐกิจโลก ปี 2567’ ไม่รุ่งเหมือนคาด

หลังจากในปี 2566 เศรษฐกิจโลก ที่ค่อย ๆ  หลุดพ้นจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19  แสดงให้เห็นถึง การเติบโตที่แข็งแกร่งเกินกว่าที่คาดการณ์กันไว้ แต่ในปี 2567 นี้ หลายฝ่ายกลับมองว่า ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลก กำลังแสดงสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 

ในการคาดการณ์ล่าสุด ฟิทช์ เรทติ้งส์ ชี้ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลก ปี 2567 จะลดลงเหลือ 2.1% จากที่คาดว่าจะเติบโต 2.9% ในปี 2566 โดยเศรษฐกิจโลก จะตกอยู่ในสถานะชะลอตัว แต่ไม่ถึงขั้นก้าวสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เศรษฐกิจโลก ปี 2567

ฟิทช์ ชี้ว่า เศรษฐกิจที่ชะลอการเติบโตลงในปีนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความท้าทายในหลายด้าน รวมถึง วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ของจีน ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก เช่นเดียวกับที่นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มอุปสงค์ในสหรัฐ และยุโรป

ไอเอ็มเอฟ-โออีซีดี ประสานเสียง ดอกเบี้ย-เงินเฟ้อ ฉุดเติบโต

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังสูญเสียแรงกว่งตัว เมื่อต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น สงครามที่กำลังดำเนินอยู่ในยูเครน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายวงกว้างขึ้น

ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า ในปี 2567 เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงเหลือ 2.9% โดยการชะลอตัวนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่โลกยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากโรคโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงแต่เกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ ในปี 2563

เหตุการณ์น่าตกใจหลายครั้ง รวมถึงการระบาดใหญ่ของโควิด และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ส่งผลให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกลดลงประมาณ 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับแนวโน้มก่อนเกิดโควิด

ปิแอร์-โอลิเวียร์ กูรินชา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟ มองว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเดินอย่าง “กะโผลกกะเผลก” แม้ในช่วงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐ และบรรดาะนาคารกลางทั่วโลก พากันขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสู้กับเงินเฟ้อ จะแสดงให้เห็นถึง “ความยืดหยุ่นอย่างน่าทึ่ง” ก็ตาม

เศรษฐกิจโลก ปี 2567

ความเห็นของไอเอ็มเอฟ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ที่มองว่า ความขัดแย้งในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง จะทำให้เศรษฐกิจโลก ในปี 2567 ลดการเติบโตลง

โออีซีดี ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้ จะขยายตัว 2.7% ซึ่งถือเป็นการเติบโตช้าสุด นับแต่เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-19

กระนั้นก็ตาม แม้แนวโน้มเศรษฐกิจจะดูมืดมนลง แต่โออีซีดี ยังคาดการณ์ว่า เกือบทุกประเทศทั่วโลก จะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะยังสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาสและสงครามรัสเซียในยูเครน อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน หรือธัญพืช

เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำและเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ซึ่งทำให้คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงเล็กน้อยในปี 2567 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะเงินเฟ้อปรับตัวลงจากระดับสูงสุดของปีที่แล้ว และคาดว่าเงินเฟ้อในประเทศส่วนใหญ่จะกลับสู่เป้าหมายของธนาคารกลางภายในปี 2568

โกลด์แมน แซคส์ เห็นต่าง ปี 2567 เศรษฐกิจแกร่ง

ในทางกลับกัน วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐ “โกลด์แมน แซคส์” มองว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2567 จะแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์กันไว้ แรงหนุนจากรายได้ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และความเชื่อมั่นที่ว่าภาวะเลวร้ายที่สุดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้สิ้นสุดลงแล้ว

โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 2.6% ในปี 2567 ตามค่าเฉลี่ยรายปี โดยสหรัฐมีแนวโน้มจะขยายตัวมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ อีกครั้งด้วยการขยายตัว 2.1%

เศรษฐกิจโลก ปี 2567

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า แรงฉุดจากนโยบายคุมเข้มทางการเงิน และการคลังนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว ทั้งยังมองว่า เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ไม่น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนถึงครึ่งหลังของปี 2567 เว้นเสียแต่ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะอ่อนแอกว่าที่มีการประมาณการไว้

นอกจากนี้ โกลด์แมน แซคส์ระบุด้วยว่า เงินเฟ้อได้ชะลอตัวลงแบบต่อเนื่องในกลุ่มประเทศ G10 และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และมีแนวโน้มจะลดลงอีก

“นักเศรษฐศาสตร์ของเราคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2567 หลังเริ่มลดลงในปี 2566 โดยเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มจะลดลงจากระดับปัจจุบันที่ 3% สู่ระดับเฉลี่ยที่ 2-2.5% ในกลุ่มประเทศ G10 ซึ่งไม่นับรวมญี่ปุ่น”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo