World News

10 ปี ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ เครื่องมือ ‘จีน’ สร้างอิทธิพลครอบงำโลก?

ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง เป็นหนึ่งในคำที่ถูกพูดถึงมากที่สุด เมื่อกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นผู้นำเสนอแนวคิดนี้ในปี 2556 เพื่อบุกเบิกเส้นทางใหม่สำหรับการพัฒนาร่วมกันและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันผ่านความร่วมมือ ซึ่งประสบความสำเร็จตลอดระยะเวลา 10 ปีของการพัฒนา

ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI)  ส่งเสริมการเปิดกว้างและการเติบโตที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยผู้นำจีนเชื่อว่าการเปิดประเทศเพิ่มเติมจะนำไปสู่ความเข้มแข็งและความเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น แะเพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการต่าง ๆ ภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ในปี 2557 จีนได้ประกาศจัดตั้งกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) ด้วยเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ 150 ชาติ ซึ่งมีสัดส่วนประชากรรวมกันถึง 3 ใน 4 ของโลก ได้เข้าร่วมโครงการที่ริเริ่มโดยจีนอันนี้ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้มีทั้งที่ประสบผลสำเร็จและล้มเหลว

หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง

ทำไมจีนถึงก่อตั้งโครงการ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

นักวิเคราะห์มองว่า แรกเริ่มเดิมทีจีนก่อตั้งโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายที่ประเทศกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิตที่ล้นเกิน และค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

ลอว์เรนซ์ ซี เรียร์ดอน นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวแฮมเชียร์ ในสหรัฐ อธิบายว่า จีนลงทุนข้อริเริ่มดังกล่าว โดยใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวน 3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งสะสมมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 80  โดยบริษัทก่อสร้างของจีน ซึ่งเผชิญกับอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง และต่างมองหาโครงการใหม่ ๆ ในต่างประเทศ

นับตั้งแต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 2555  เขาได้ส่งเสริมโครงการสายแถบและเส้นทางเพื่อขยายตลาดให้กับสินค้าจากจีน และกระตุ้นการสร้างอิทธิพลของจีนไปยังทั่วโลก

รัฐวิสาหกิจของจีนก็เข้ามาร่วมในการลงทุนนี้ด้วย โดยหาเงินจากการลงทุนโดยกองทุนส่งเสริมการส่งออกของจีน รัฐวิสาหกิจของจีนและกองทุนส่งเสริมการส่งออกดังกล่าวได้อนุมัติโครงการหลายโครงการในประเทศซีกโลกใต้ (Global South)

หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง
ภาพ: สำนักข่าวซินหัว

จีนเลือกทำโครงการต่าง ๆ ในโลกอย่างไร

บีบีซี รายงานว่า กว่า 10 ปีที่ผ่านมา โครงการสายแถบและเส้นทางได้ขยายการลงทุนจากเดิม ที่เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ไปสู่การลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ความมั่นคง และการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย โดยจีนลงทุนในโครงการต่าง ๆ จำนวนกว่า 3,000 โครงการ ภายใต้ BRI

สถาบันอเมริกันเอ็นเตอร์ไพรส์ (AEI) ระบุว่า 15 ประเทศที่ได้รับเงินลงทุนสูงสุดจากจีน ได้แก่ อินโดนีเซีย ปากีสถาน สิงคโปร์ รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บังกลาเทศ เปรู ลาว อิตาลี ไนจีเรีย อิรัก อาร์เจนตินา และชิลี

จีนอ้างว่าการให้เงินลงทุนต่อประเทศต่าง ๆ ตั้งอยู่บนฐานความต้องการทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์แย้งว่า จีนต้องการสร้างตัวแบบที่จีนเป็นศูนย์กลาง (Sino-centric) เพื่อควบคุมโลก

ข้อมูลจากสถาบันอเมริกันเอ็นเตอร์ไพรส์ แสดงให้เห็นว่า เงินลงทุนส่วนใหญ่จากโครงการนี้ มักถูกส่งไปยังประเทศที่รัฐบาลจีนมีแรงจูงใจทางยุทธศาสตร์อย่างแรงกล้าที่จะกระชับความสัมพันธ์ด้วย อย่างเช่น อินโดนีเซีย และปากีสถาน

หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง
ภาพ: สำนักข่าวซินหัว

โครงการที่ประสบความสำเร็จ

โครงการภายใต้ข้อริเริ่ม BRI บางโครงการประสบผลดี เหตุผลนั้นก็ง่ายๆ เป็นเพราะว่าหลายประเทศต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นถนน หรือทางรถไฟ

ตัวอย่างเช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นแรกของอินโดนีเซียที่ชื่อว่า “วูช” ซึ่งเพิ่งเปิดบริการเมื่อต้นเดือนตุลาคม เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้เชื่อมต่อเมืองหลวงกรุงจาการ์ตากับเมืองบันดุง จุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวยอดนิยม ซึ่งร่นระยะเวลาการเดินทางจากเดิม 3 ชั่วโมงเหลือเพียง 40 นาที ด้วยความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ใน ลาว เส้นทางรถไฟเชื่อมต่อนครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว ไปยังคุนหมิง ในจังหวัดยูนนานของจีน เปิดให้บริการในปี 2564 ทางรถไฟสายนี้ช่วยลดเวลาการเดินทางจากเวียงจันทน์ไปยังชายแดนลาว-จีน เหลือเพียง 3 ชั่วโมง ทำให้ผู้โดยสารเดินทางถึงเมืองคุนหมิงได้ภายในวันเดียว

นอกจากนี้ โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน ที่ประสบความสำเร็จยังเกิดขึ้นในยุโรปด้วย เช่น ท่าเรือพิราอุสในประเทศกรีซ ซึ่งมักจะถูกขนานนามว่าเป็น “หัวมังกร” แห่งยุโรป โดยท่าเรือแห่งนี้ รัฐวิสาหกิจของจีนมีสิทธิการควบคุมอยู่กว่า 60% และสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์จากเรือได้เป็นจำนวนมาก ๆ

หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง
ภาพ: สำนักข่าวซินหัว

โครงการที่ล้มเหลว

จูน ทอยเฟล ไดรเยอร์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไมอามี กล่าวว่า โครงการนี้วางแผนอย่างย่ำแย่ ทั้งยังมีการให้กู้ยืมเงินในโครงการที่ไม่มีทางคืนทุนได้ในเชิงพาณิชย์ และไม่มีการกำกับดูแลการก่อสร้างที่เพียงพอ

ท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของโลก อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้บางประเทศหาเงินมาใช้หนี้คืนจีนได้ยากลำบาก หนี้จากการกู้ยืมเป็นพัน ๆ ล้านดอลลาร์กลายเป็นหนี้เสีย และโครงการพัฒนาต่าง ๆ ตกอยู่ในภาวะชะงักงัน

หนึ่งในตัวอย่างของกรณีนี้คือ โครงการท่าเรือแฮมบันโตตาในศรีลังกา ซึ่งรัฐบาลศรีลังกาประกาศสถานะล้มละลายในปี 2565 เนื่องจากประเทศศรีลังกาไม่สามารถชำระหนี้คืนให้กับจีนได้ ดังนั้นจึงให้สิทธิการใช้ประโยชน์ท่าเรือดังกล่าวกับจีนเป็นเวลา 99 ปีแทน

ส่วนปากีสถานก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์คล้าย ๆ กัน ในฐานะที่เป็นหนึ่งในประเทศหลักที่รับเงินลงทุนจากจีน ตอนนี้ปากีสถานกำลังประสบปัญหาใช้หนี้คืนไม่ตรงเวลาจนต้องขอรับมาตรการบรรเทาการชำระหนี้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอ) ขณะเดียวกัน ในบางช่วงเวลา โครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติของปากีสถานต้องหยุดผลิตไฟฟ้าชั่วคราวเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง

หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง
ภาพ: สำนักข่าวซินหัว

เมื่อเร็ว ๆ นี้ จีนยังปฏิเสธการให้เงินทุนเพิ่มเติมแก่รัฐบาลปากีสถานในโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน โดยระบุเหตุผลเรื่องความกังวลเกี่ยวกับความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ความเสี่ยงด้านความมั่นคงต่อแรงงานชาวจีน และความน่าเชื่อถือทางการเงินของปากีสถาน

นอกจากนี้ อีกหลายประเทศอย่างเอธิโอเปีย เคนยา ก็กำลังเผชิญกับความท้าทายคล้าย ๆ กัน นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลกประเมินว่าเงินกู้ราว ๆ 60% ภายใต้โครงการ BRI ทั้งหมด ตอนนี้อยู่ในมือประเทศที่เผชิญความยากลำบากทางการเงิน สถานการณ์เช่นนี้นำไปสู่การวิพากษวิจารณ์ว่า วิธีการให้กู้ยืมของจีนเป็น “การทูตกับดักหนี้” (Debt trap diplomacy)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo