World News

‘พาวเวล’ ส่งสัญญาณ ‘เฟด’ ใกล้ยุติวงจร ‘ขึ้นดอกเบี้ย’

ประธานธนาคารกลางสหรัฐ “เจอโรม พาวเวล” ส่งสัญญาณ ใกล้ยุติวงจร “ขึ้นดอกเบี้ย” หลังคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิม ในการประชุม 2 ครั้ง ติดต่อกัน

นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวานนี้ (1 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยส่งสัญญาณว่า ขณะนี้เฟดอาจใกล้ยุติวงจรการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดที่สุดในรอบ 40 ปี หลังจากที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 2 ครั้งติดต่อกัน

ขึ้นดอกเบี้ย

“สำหรับคำถามที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหรือไม่ ผมมองว่า การชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า หากเฟดจำเป็นจะต้องดำเนินการในวันข้างหน้า” 

“เฟดจะตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเป็นครั้ง ๆ ไป และจะยังคงพิจารณาจากข้อมูลหลายด้าน ซึ่งรวมถึงตัวเลขการจ้างงาน 2 รายการ และตัวเลขเงินเฟ้อ 2 รายการ” 

นอกจากนี้ เฟดจะพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะการเงิน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ก่อนการประชุมเดือนธันวาคม โดยจะจับตาสงครามระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาส เพื่อประเมินว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจ

ในการแถลงข่าวครั้งนี้ นายพาวเวลหลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ “Dot Plot” โดยกล่าวเพียงว่า Dot Plot เป็นเพียงการคาดการณ์ส่วนตัวของกรรมการเฟดแต่ละคนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น

นายพาวเวล ยังกล่าวว่า การฉุดเงินเฟ้อให้ลดลงนั้น จำเป็นต้องทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่การดำเนินการดังกล่าวก็จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน

ส่วนในเรื่องของแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น นายพาวเวลย้ำว่า เฟดยังไม่ได้เริ่มพิจารณาเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และจะยังไม่พิจารณาเรื่องนี้จนกว่าเฟดจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้

ขึ้นดอกเบี้ย

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 และเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้

แถลงการณ์ของคณะกรรมการเฟดส่งสัญญาณว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีกในอนาคตเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 3 อย่างไรก็ดี เฟดยอมรับว่าภาวะการเงินที่มีความตึงตัวมากขึ้นนั้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo