เศรษฐกิจจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืด หลังราคาผู้บริโภคหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี หนึ่งในตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนที่สุดของความท้าทาย ที่ผู้กำหนดนโยบายต้องเผชิญ ในช้วงเวลาที่กำลังพยายามฟื้นฟูการบริโภคในท้องถิ่น
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีน ลดลง 0.3% เมื่อเทียบรายปี ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ซึ่งเป็นมาตรวัดราคาเมื่อสินค้าออกจากโรงงาน ลดลง 4.4% ในเดือนดังกล่าว
ราคาผู้บริโภค ซึ่งร่วงลงสู่แดนลบครั้งล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นั้น เฉียดที่จะตกอยู่ในภาวะเงินฝืดมานานหลายเดือน เนื่องจากเศรษฐกิจจีน ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ตามที่คาดการณ์ไว้ หลังทางการยกเลิกมาตรการควบคุมโรคระบาดต่าง ๆ ในช่วงต้นปีนี้
การที่เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะเงินฝืดนี้ ยังมีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดเสียงเรียกร้อง ให้รัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ในช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบาย กำลังเผชิญกับการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และความอ่อนแอในการค้า
นายเอสวาร์ ปราสาด ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจีน จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล แสดงความเห็นว่า ขณะนี้เศรษฐกิจจีนกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงร้ายแรง ที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดซึ่งอาจจุดชนวนให้การเติบโต และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนลดต่ำลง
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- จีนเสี่ยงเจอ ‘วิกฤติเงินฝืด’ ส่งผลร้ายต่อ ‘เศรษฐกิจในอนาคต’
- เศรษฐกิจอินเดีย จ่อโตแซงหน้าจีน เหตุความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์แกร่ง
- ‘เมอส์ก’ มองเศรษฐกิจจีน ปี 66 ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด ผลกระทบจาก ‘โควิด-อสังหาฯ ซบ’