ในขณะที่ประเทศทางตะวันตกกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง จีนกลับเจอปัญหาที่แตกต่างออกไป คือความเสี่ยงที่จะเกิด ‘วิกฤติเงินฝืด’ ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจในอนาคต
วีโอเอ รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีน ในเดือนมิถุนายน แทบไม่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.4% ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลง 5.4% จากปีที่แล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความต้องการสินค้าอาจลดลง ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของจีนโดยรวม
ปกติแล้วราคาสินค้าที่ถูกลงถือเป็นผลดีต่อผู้บริโภค แต่การที่ราคาสินค้าลดลงต่อเนื่อง และกระจายไปในหลายอุตสาหกรรมอาจกลายเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวม
นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า ระดับเงินเฟ้อที่ดีต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ คือ 2% ต่อปี แต่หากต่ำกว่านั้นหรือถึงขั้นติดลบจนกลายเป็น ‘ภาวะเงินฝืด’ อาจจำกัดการเติบโตของเศรษฐกิจได้
นายแกรี เจฟเฟอร์สัน ศาสตราจารย์จากภาควิชาการค้าและการเงินระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแบรนไดส์ แสดงความเห็นว่า เงินฝืดคือสัญญาณของความอ่อนแอ และความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ ซึ่งมักเกิดขึ้นจากความต้องการสินค้า และบริการที่ลดลง ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย นำไปสู่ผลเสียหลายด้าน
นอกจากนี้ ภาวะเงินฝืดยังอาจสร้างแรงกดดันต่อผลกำไรของธุรกิจต่าง ๆ ทำให้อัตราค่าแรงลดลง หรือการจ้างงานลดลง ชะลอการลงทุน และลดประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนส่งผลต่อความสามารถในการชดใช้หนี้ของประชาชน และบริษัทต่าง ๆ ด้วย
เขาบอกด้วยว่า รัฐบาลอาจต้องนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้ เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายของผู้บริโภค แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เนื่องจากในอดีต รัฐบาลปักกิ่งมักใช้วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จนมาถึงจุดที่อัตราผลตอบแทนของการลงทุนดังกล่าว ลดลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
อีกวิธีหนึ่งที่รัฐบาลจีนอาจนำมาใช้ได้ คือการกระตุ้นที่ภาคครัวเรือนโดยตรง ด้วยการอัดฉีดเงินที่ครอบครัวชาวจีนสามารถใช้จ่ายได้ผ่านโครงการต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดภาวะเงินฝืดหรือเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมาก แต่ศาสตราจารย์เจฟเฟอร์สันเชื่อว่า ทั่วโลกจะรู้สึกได้ถึงผลกระทบจากสถานการณ์การเงินที่เกิดขึ้นในจีน
“เรื่องนี้ถือเป็นดาบสองคมสำหรับผู้คนทั่วโลก เพราะการเกิดเงินฝืดและความต้องการที่ลดลงในจีน หมายถึงจีนจะส่งออกสินค้าน้อยลงด้วย ในทางกลับกัน เมื่อจีนส่งออกน้อยลงก็หมายความว่าราคาสินค้าอาจจะคงที่หรือลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อหลายประเทศที่กำลังพยายามแก้ปัญหาเงินเฟ้อเช่นกัน”
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘เมอส์ก’ มองเศรษฐกิจจีน ปี 66 ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด ผลกระทบจาก ‘โควิด-อสังหาฯ ซบ’
- ‘รัฐบาลจีน’ เปิดกว้าง อ้าแขนรับความร่วมมือ ‘เศรษฐกิจ-การค้า’ ต่างแดน เพื่อประโยชน์ร่วมกัน
- ‘เศรษฐีจีน’ แห่ปรับพอร์ต เน้น ‘ลงทุนต่างประเทศ’ จำกัดความเสี่ยง ‘ขาดทุน’ ในบ้านเกิด