WHO ออกประกาศเตือนทั่วโลกเกี่ยวกับยาแก้หวัดที่ผลิตในอินเดียและจำหน่ายในอิรักว่า มีการปนเปื้อนของสารเคมีเป็นพิษ
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า โคลด์ เอาต์ (Cold Out) ยาแก้หวัดชนิดน้ำ ที่มักใช้กับเด็กชุดหนึ่งที่ผลิตขึ้นเมื่อปีที่แล้วนั้น มีความไม่ปลอดภัย และการใช้ยานั้นอาจส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยร้ายแรงหรือเสียชีวิตได้
ยาแก้หวัดดังกล่าวมีสารไดเอทิลีนไกลคอล (DEG) 0.25% และเอทิลีนไกลคอล (EG) 2.1% ในขณะที่ปริมาณการใช้งานที่ปลอดภัยของสารทั้ง 2 ชนิดนี้ต้องไม่เกิน 0.10%
การประกาศดังกล่าว เป็นการเตือนครั้งที่ 6 แล้ว เกี่ยวกับยาน้ำที่ปนเปื้อนตัวทำละลายที่เป็นพิษของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ทางการอิรักไม่ได้รายงานอาการป่วยใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาโคลด์ เอาต์ แต่กระทรวงสาธารณสุขอิรัก ระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ยาดังกล่าวไม่ผ่านการทดสอบของทางการ และผลิตภัณฑ์ที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดกำลังถูกสั่งยึด
โรคระบาดที่เกี่ยวข้องกับยาน้ำที่เจือปนสารพิษในอินโดนีเซีย แกมเบีย อุซเบกิสถาน และแคเมอรูนนั้น ได้คร่าชีวิตเด็กไปแล้วราว 300 คนเมื่อปีที่ผ่านมา
ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลของอินเดียได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตการผลิตของบริษัทแมเรียน ไบโอเทค ซึ่งได้ส่งออกยาน้ำดังกล่าวไปยังอุซเบกิสถาน และได้จับกุมพนักงานบางส่วนของบริษัทดังกล่าวด้วย
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘อนามัยโลก’ ร้องนานาประเทศ ยกระดับเฝ้าระวัง ‘ไข้หวัดนก’ หวั่นไวรัสแพร่สู่คนง่ายขึ้น
- หวั่นซ้ำรอยแกมเบีย! อินโดฯ สั่งระงับขายยาน้ำ เจอเด็กไตวายเฉียบพลัน ตาย 99 ศพ
- ‘กัมพูชา’ สั่งแบน ‘แป้งเด็ก’ จาก ‘ไทย-มาเลเซีย’ ระบุ ปนเปื้อน ‘แร่ใยหิน’