World News

‘อาเซียน’ เดินหน้า ‘ซ้อมรบทางทะเล’ ครั้งแรก ใน ‘ทะเลจีนใต้’

“อาเซียน” ประกาศเดินหน้าตามแผนการ “ซ้อมรบทางทะเล” ร่วมกันเป็นครั้งแรกในทะเลจีนใต้ช่วงเดือนกันยายนนี้ เมิน “กัมพูชา-เมียนมา” คัดค้าน 

อินโดนีเซีย ในฐานะประธานสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในปีนี้ แถลงว่า การซ้อมรบจะจัดขึ้นที่ “ทะเลนาทูน่าเหนือ” พื้นที่ทางใต้สุดของทะเลจีนใต้ และอยู่นอกเขตที่จีนกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์

shutterstock 1129943981

ก่อนหน้านี้ พล.ร.ท.ยูโด มาร์โกโน ผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซีย กล่าวว่า การซ้อมรบนี้ จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน และจะไม่มีการฝึกปฏิบัติการณ์สู้รบ แต่จะเน้นเรื่องของความมั่นคง และปฏิบัติการกู้ชีพทางทะเล

“แผนงานนี้มีจุดประสงค์เพื่อจะเสริมสร้าง ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน โดยนอกจากเจ้าหน้าที่กองทัพของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว ตัวแทนจากติมอร์ เลสเต จะเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย”

ประเทศในอาเซียนเคยร่วมซ้อมรบทางทะเลมาแล้ว กับประเทศนอกอาเซียนหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐ และจีน แต่การซ้อมรบในเดือนกันยายนนี้ จะเป็นครั้งแรกที่อาเซียนซ้อมรบร่วมกันเอง ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการส่งสัญญาณไปถึงจีน

อย่างไรก็ดี กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ปฏิเสธเข้าร่วมการซ้อมรบครั้งนี้ โดยกัมพูชาออกโรงสกัดแผนการร่วมซ้อมรบของชาติสมาชิกอาเซียน ซึ่งถูกมองว่า เป็นความตั้งใจของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ที่จะทดสอบความพยายามของอาเซียน ในการรักษาสมดุลทางความสัมพันธ์กับจีน

ทั้งนี้ ทะเลจีนใต้ ซึ่งมีเส้นทางเดินเรือเพื่อการขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าต่อปีถึงราว 3.5 ล้านล้านดอลลาร์นั้น ถือเป็นพื้นที่ที่มีความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่จีนเดินหน้าอ้างกรรมสิทธิ์ของตน ด้วยการส่งกองกำลังยามชายฝั่ง และเรือประมงออกตระเวณตามจุดต่าง ๆ ที่ห่างจากชายฝั่งจีน เป็นระยะทางไกลถึง 1,500 กิโลเมตร

อาเซียน พยายามผลักดันให้มีการจัดทำประมวลการปฏิบัติทางทะเล (maritime code of conduct) ร่วมกับจีนให้เสร็จสิ้น เพื่อลดความเสี่ยงของเหตุขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ที่กรุงปักกิ่งอ้างว่า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของตนให้ได้ แต่ก็ยังเกิดเหตุทะเลาะเบาะแว้งระหว่างประเทศสมาชิก และจีนขึ้นอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

เทยูกู เรซาสยาห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยแพดจาจารัน (Padjajaran University) ในอินโดนีเซีย กล่าวว่า อินโดนีเซียจำเป็นต้องลงรายละเอียดเกี่ยวกับการซ้อมรบข้างต้นให้มากกว่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความเข้าใจผิด เกี่ยวกับข้อความที่ต้องการสื่อออกไปถึงกรุงปักกิ่ง เพราะหากไม่อธิบายต่อสาธารณชนให้ชัดเจน ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่า อาเซียนกำลังมีท่าทีที่ทำให้จีนไม่พอใจได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo