World News

อาเซียน-ญี่ปุ่น จ่อลงนามข้อตกลงเศรษฐกิจฉบับปรับปรุงใหม่

สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และญี่ปุ่น บรรลุขั้นสุดท้าย ในการปรับปรุงข้อตกลงการเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจระหว่างกัน เพื่อแก้ไขประเด็นในเรื่องการเปิดเสรี และภาคบริการ

logo11

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ญี่ปุ่น และแต่ละชาติสมาชิกอาเซียน จะลงนามในข้อตกลงฉบับปรับปรุงใหม่ดังกล่าว เร็วสุดในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ และจะมีผลบังคับใช้ในทันทีที่แต่ละชาติเสร็จสิ้นกระบวนการอนุมัติภายในประเทศของตัวเอง

การเจรจาข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น (เอเจซีเอพี) เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2548 โดยที่แต่ละประเทศได้ค่อยๆ กำจัดกำแพงภาษี ในการค้าสินค้าต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2551 ขณะที่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน และภาคบริการ ยังเปิดเจรจากันมาอย่างต่อเนื่อง

แม้ญี่ปุ่นจะมีข้อตกลงการค้าแยกออกมากับ 7 ประเทศสมาชิกอาเซียน แต่ก็มีระดับการเปิดเสรีที่แตกต่างกันออกไป และยังไม่บรรลุข้อตกลงกับกัมพูชา ลาว หรือเมียนมา
ในช่วง 5 ปี นับถึงปี 2560 จำนวนบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนใน 10 ชาติอาเซียนเพิ่มขึ้นถึง 70% มาอยู่ที่ราว 12,500 ราย ท่ามกลางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจของกลุ่มอาเซียน จากการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค

ในเมียนมา ซึ่งยังไม่มีการเปิดเสรีนั้น การบรรลุข้อตกลงเอเจซีเอพี จะช่วยผ่อนตลายกฎระเบียบควบคุมเงินทุนต่างชาติ ในด้านก่อสร้าง การศึกษา โทรคมนาคม การเงิน และขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทต่างๆ ในเมียนมา จะต้องรักษาระดับการเข้าลงทุนของบริษัทต่างชาติให้อยู่ระดับต่ำกว่า 35% เพื่อคงสถานะการเป็นบริษัทท้องถิ่นเอาไว้ และได้รับประโยชน์จากกฎระเบียบที่ไม่เข้มงวดมากนัก ซึ่งข้อตกลงฉบับปรับปรุงใหม่นี้ จะช่วยให้บริษัทต่างประเทศ สามารถเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นได้

ส่วนที่ลาว ญี่ปุ่นพุ่งเป้าไปยังการเปิดเสรีในอุตสาหกรรมเช่าซื้ออุปกรณ์ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม และร้านอาหารในอินโดนีเซีย ที่จะมีการเปิดเสรีมากขึ้น ทั้งยังเปิดทางให้บริษัทต่างชาติสามารถใช้ฐานะนักลงทุน เข้าไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งได้เป็นครั้งแรก หากโดนกีดกัน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ข้อตกลงดังกล่าวยังจะช่วยพัฒนาความโปร่งใสของภาครัฐ เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศเกิดใหม่มักจะปฏิเสธการทำธุรกิจใหม่ของบริษัทต่างชาติ โดยไม่แจ้งสาเหตุ แต่ภายใต้ข้อตกลงนี้ กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องแจกแจงเหตุผลในการปฏิเสธด้วย

Avatar photo