World News

‘ไอเอ็มเอฟ’ เตือน ‘แบ่งขั้วเศรษฐกิจ’ ฉุด ‘จีดีพีโลก’ รุนแรงถึง 7%

ไอเอ็มเอฟ ระบุ การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นรุนแรงทั่วโลก อาจบั่นทอนตัวเลขจีดีพีโลกสูงถึง 7% และบางประเทศอาจพุ่งไปสูงสุดถึง 12% หากมีการแบ่งแยกทางเทคโนโลยีร่วมด้วย

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกรายงานฉบับล่าสุด เตือนว่า การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นรุนแรงทั่วโลก หลังจากที่โลกเคยขับเคลื่อนด้วยระบบโลกาภิวัตน์ตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้น อาจฉุดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โลก สูงถึง 7% และในบางประเทศ จีดีพีอาจหายไปถึง 8%-12% หากมีการแบ่งแยกทางเทคโนโลยีร่วมด้วย

จีดีพีโลก

ไอเอ็มเอฟ บอกว่า แม้กรณีที่เศรษฐกิจโลกแบ่งขั้วกันในวงจำกัด ก็ยังอาจทำให้จีดีพีโลกลดลงได้ 0.2% แต่ยังจำเป็นต้องประเมินผลกระทบ ที่มีต่อเครือข่ายความปลอดภัยทางการเงินระดับโลก (GFSN) ด้วย

รายงานระบุว่า การหมุนเวียนของสินค้าและเงินทุนทั่วโลกลดน้อยลง หลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกในปี 2551-2552 และการออกมาตรการจำกัดทางการค้าก็เพิ่มสูงขึ้นในปีต่อ ๆ มา

“โรคโควิด-19 ระบาด และกรณีรัสเซียรุกรานยูเครนได้ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น และเพิ่มข้อกังขาเกี่ยวกับผลประโยชน์ของโลกาภิวัตน์”

ไอเอ็มเอฟชี้ว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ส่งผลให้ปัญหาความยากจนทั่วโลกลดลงอย่างมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา และยังเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภครายได้น้อย ในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ผ่านสินค้าราคาย่อมเยา

ดังนั้น การยกเลิกการเชื่อมโยงทางการค้า จะส่งผลกระทบต่อประเทศรายได้น้อย และผู้บริโภครายได้ต่ำในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วมากที่สุด

จีดีพีโลก

นอกจากนี้ การออกมาตรการจำกัดการอพยพข้ามพรมแดน จะทำให้ประเทศจุดหมายปลายทางสูญเสียแรงงานมีฝีมือ และลดจำนวนเงินที่ผู้อพยพส่งกลับประเทศบ้านเกิด การหมุนเวียนเงินทุนที่ลดน้อยลง จะลดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ขณะเดียวกันความร่วมมือระหว่างประเทศที่ลดน้อยลง จะสร้างความเสี่ยงต่อจัดหาสินค้าให้กับสาธารณชนทั่วโลก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo