Environmental Sustainability

บทสรุปโรงไฟฟ้าชีวมวล กับความคิดเห็นของชาวบ้านภายใต้หัวข้อ ‘โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน’

โครงการไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION สร้างความรู้ สร้างเครือข่าย เพื่อการเติบโตของพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน โดยสำนักข่าว The Bangkok Insight ลงพื้นที่สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับประชาชน ในพื้นที่ 4 ภาค 4 จังหวัด ภายใต้หัวข้อ “โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน” พบประชาชนทุกพื้นที่สนับสนุนตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล เชื่อจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ได้ จากการขายเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พร้อมเสนอข้อคิดเห็น ขอความจริงใจก่อนสร้างโรงไฟฟ้าในอนาคต

โครงการไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION สร้างความรู้ สร้างเครือข่าย เพื่อการเติบโตของพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน จัดโดย สำนักข่าว The Bangkok Insight ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ได้รับทุนสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97(5) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) พ.ศ. 2563

โรงไฟฟ้าชีวมวล

ดำเนินงานผ่านการจัดสัมมนา และสร้างความรู้-ความเข้าใจผ่านกิจกรรมฐานการเรียนรู้ ในพื้นที่ 4 ภาค 4 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา ภาคกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี ภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก และภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในแต่ละพื้นที่จะมีตัวแทนจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) นักวิชาการ ผู้ประกอบการ ผู้นำชุมชน และชาวบ้านร่วมงานสัมมนากว่า 200 คน

โครงการไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION สร้างความรู้ สร้างเครือข่ายเพื่อการเติบโตของพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งใน 26 โครงการ ผู้รับทุนสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97(5) ปีงบประมาณ 2563

โดยทั้ง 26 โครงการ ร่วมกันขับเคลื่อนการสื่อสารภายใต้แนวคิด CLEAN ENERGY FOR LIFE: ใช้พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Affordable and Clean Energy) ของ สหประชาชาติ สำหรับ โครงการไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION ได้สื่อสารประเด็นหลัก คือ พลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล หรือ Biomass

โรงไฟฟ้าชีวมวล

การสัมมนาหัวข้อ โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน

การสัมมนาในพื้นที่ 4 ภาค 4 จังหวัด ของ โครงการไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION ทาง สำนักข่าว The Bangkok Insight ได้ลงพื้นที่สร้างความรู้-ความเข้าใจ ให้กับประชาชน และชุมชน ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ได้เข้าใจ เข้าถึงมากขึ้น ว่าจริง ๆ แล้วโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้น มีประโยชน์ต่อประชาชนในระยะยาว

ผ่านการสัมมนาในหัวข้อ โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน โดยในแต่ละพื้นที่ของการสัมมนา เป็นการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ในเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล การดำเนินงานโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ถูกต้องเหมาะสม การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ของตนเอง พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่ที่เข้าร่วมสัมมนา

เวทีการสัมมนาถือเป็นแรงผลักดันสำคัญ ต่อการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลได้อย่างมีนัยสำคัญ จากภาคนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ภายใต้การกำกับดูแลที่ดีของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลัง (กกพ.) ให้เป็นไปตาม แผนปฏิบัติการด้านการกำกับกิจการพลังงาน ระยะที่ 4 พ.ศ. 2563-2565 คือ การพัฒนาการมีส่วนร่วม และการสื่อสารอย่างเข้าถึงและเข้าใจ

จากการสัมมนาให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ 4 ภาค 4 จังหวัดที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ ข้อเสนอแนะ และความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ แต่ละเวทีการสัมมนา สิ่งที่น่าชื่นชม คือประชาชนในแต่ละพื้นที่ เห็นด้วย และ พร้อมสนับสนุนหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ที่ตนเองอยู่อาศัย

โดยมองว่าหากพื้นที่ไหนมีโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้น ก็สามารถช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับประชาชนในพื้นที่ จากการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือ กากจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย ใบและยอดอ้อย เศษไม้ เส้นใยและกะลาปาล์ม กากมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด กาบและกะลามะพร้าว รวมถึงข้าว อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า รวมไปถึงการจ้างงานคนในพื้นที่ให้มาทำงานในโรงไฟฟ้าชีวมวล

โรงไฟฟ้าชีวมวล

ตลอดการสัมมนา โครงการไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION ที่ผ่านมา ได้สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับประชาชนในจังหวัดนั้น ๆ พร้อมประชาชนในจังหวัดใกล้เคียงที่เข้าร่วม ทำให้ประชาชนเข้าใจ และสามารถแยกชนิดของชีวมวล ที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้ และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ประชาชนสามารถขายให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับประชาชนในแต่ละพื้นที่ ได้เข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ ของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และทำความรู้จักกับ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนรอบโรงไฟฟ้าจะได้รับประโยชน์ โดยเชื่อว่าการสัมมนาที่ผ่านมาทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมได้เข้าใจ และมีความรู้เพิ่มเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงมีความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของ กกพ. เพิ่มมากขึ้น

จากการสัมมนาตลอดทั้ง 4 ภาค 4 จังหวัด ยังมีสิ่งที่ประชาชนผู้เข้าร่วมสัมมนา โครงการไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION มี ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็น ในหลายประเด็น ที่อยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขเพราะถือเป็นข้อกังวลใจ ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีข้อกังวลใจที่จะเกิดขึ้นคล้าย ๆ กัน เช่น เรื่องของมลภาวะ ฝุ่น เสียง และกลิ่น นอกจากนี้ยังอยากจะได้ความรู้ ความเข้าใจอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ที่ชาวบ้านในพื้นที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างไร และเพื่อความยั่งยืนของคนในชุมชนด้วย

โรงไฟฟ้าชีวมวล

สำหรับข้อคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนาภาคประชาชนในแต่ละพื้นที่ มีข้อเสนอแนะที่คล้าย ๆ กัน ประกอบด้วย

1. อยากให้ผู้ประกอบการมีความจริงใจ ปฏิบัติตามมาตรการที่ กกพ. กำหนดไว้ตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practices: CoP) ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า

2. ก่อนดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในชุมชน ผู้ประกอบการต้องมีกระบวนการสร้างความรู้-ความเข้าใจ ให้กับชุมชนในพื้นที่เกี่ยวกับกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้า และชนิดของเชื้อเพลิงที่นำมาใช้

3. ต้องการการสื่อสารจากผู้ประกอบการ เพื่อให้คนในชุมชนเข้าใจว่า จะได้รับประโยชน์และผลกระทบอย่างไรบ้าง เมื่อมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นในพื้นที่

4. อยากให้ผู้ประกอบการ จัดเวทีประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อที่ประชาชนจะได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อกังวลของผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากสร้างโรงไฟฟ้า

5. อยากให้ผู้ประกอบการเลือกใช้เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูงสุด ไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

6. ระหว่างการดำเนินงานโรงไฟฟ้า ผู้ประกอบการควรให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่ชุมชน เพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ประกอบการและประชาชนที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้า

7. อยากให้ผู้ประกอบการจัดให้มีตัวแทนเข้าร่วมประชุมตามวาระการประชุมของ อบต. อย่างต่อเนื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างชาวบ้าน ผู้นําชุมชน และตัวแทนของโรงไฟฟ้า

8. เมื่อชุมชนประสบปัญหามลภาวะทางกลิ่น เสียง น้ำ การเกิดอุบัติเหตุ ปัญหาการจราจร การขาดแคลนน้ำ ทำให้ชุมชนเกิดความเครียด ความรำคาญ อยากให้ผู้ประกอบการ และ กกพ. เร่งดำเนินการแก้ไขให้เร็วและมีความจริงใจแก้ปัญหา

9. ระหว่างการดำเนินการโรงไฟฟ้า กกพ. ต้องมีกระบวนการติดตาม ประเมินผล และมีมาตรการการจัดการที่ชัดเจน เมื่อผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่ กกพ. กำหนด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ชุมชน

10. ประชาชนต้องการทราบว่า เมื่อมีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใดรับซื้อ
และมีช่องทางการติดต่อกับโรงไฟฟ้าที่รับซื้อได้

ฉะนั้นจะเห็นว่า จากการเดินสายสัมมนา โครงการไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION สร้างความรู้ สร้างเครือข่าย เพื่อการเติบโตของพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา ให้กับประชาชนในพื้นที่ 4 ภาค น่าจะเป็นตัวช่วยในการสร้างความรู้ และความเข้าใจ ให้กับประชาชนในพื้นที่ ได้เข้าถึงข้อมูล ข้อเท็จจริงของโรงไฟฟ้าชีวมวลมากขึ้น

รวมทั้งเข้าใจบทบาทของ กกพ. มากขึ้น เช่นเดียวกับ กกพ. ที่จะได้รับรู้มุมมองของประชาชนในพื้นที่มากขึ้น เกี่ยวกับความเข้าใจต่อโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

โดยเชื่อมั่นว่าข้อมูลที่ได้รับจากการเดินสายสัมมนาให้ความรู้ ความเข้าใจ ในหัวข้อ โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของ กกพ. ในระยะต่อไปได้เป็นอย่างดี และนี่คือก้าวสำคัญในการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ ที่จะก้าวไปพร้อม ๆ กันภายใต้แนวคิด CLEAN ENERGY FOR LIFE: ใช้พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน ในระยะต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม: 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight