Environmental Sustainability

‘โรงไฟฟ้าชีวมวล’ สร้างมูลค่าเพิ่มจาก ‘เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร’ กระจายรายได้-พัฒนาคุณภาพชีวิต

เปิดเวทีสัมมนา “โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน” จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดินหน้าสร้างความรู้ ให้เครือข่ายพลังงานสะอาด ผู้บริหาร กกพ. เน้นสร้างความรู้-ความเข้าใจ โรงไฟฟ้าชีวมวล และประโยชน์จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ที่มีต่อชุมชนรอบโรงไฟฟ้า นักวิชาการย้ำความรู้สำคัญยิ่ง ต่อการสร้างโรงไฟฟ้า มั่นใจช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เกิดการจ้างงาน กระจายรายได้ในพื้นที่ ทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

งานสัมมนา โครงการไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION สร้างความรู้ สร้างเครือข่าย เพื่อการเติบโตของพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน โดย สำนักข่าว The Bangkok Insight จัดเป็นครั้งที่ 4 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีตัวแทน จาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) นักวิชาการ ผู้ประกอบการ ผู้นำชุมชน และชาวบ้านร่วมงานสัมมนากว่า 200 คน เพื่อทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ ถึงศักยภาพของโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงการให้ภาคประชาคม ได้สะท้อนความคิดเห็น

โรงไฟฟ้าชีวมวล

งานสัมมนาครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอมุมมอง และแนวทางการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าชีวมวล ทั้งการบริหารจัดการ การมีส่วนร่วมของชุมชน การรู้จักการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยเฉพาะไม้ยางพารา ถือเป็นไม้เศรษฐกิจทางภาคใต้ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

ภารกิจ กกพ. มุ่งดูแลภาคประชาชน

นางฤดี ภริงคาร รองเลขาธิการ สายบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าและภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ประธานเปิดงานสัมมนา โครงการไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION โดยโครงการดังกล่าวเป็น การ สร้างความรู้ สร้างเครือข่าย เพื่อการเติบโตของพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 26 โครงการ ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (5) ปีงบประมาณ 2563

โดยทั้ง 26 โครงการจะขับเคลื่อนการสื่อสารภายใต้แนวคิด CLEAN ENERGY FOR LIFE: ใช้พลังงาน สะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน ตามเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน ในเป้าหมายที่ 7 Affordable and Clean Energy พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ (SDG#7) ของสหประชาชาติ

โรงไฟฟ้าชีวมวล
นางฤดี ภริงคาร รองเลขาธิการ สายบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าและภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)

สำหรับ โครงการไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION ได้สื่อสารหัวข้อ พลังงานสะอาดจากชีวมวล หรือ Biomass Power ส่วนหลัก ๆ ให้ความรู้เรื่องพลังงานหมุนเวียน สร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างเครือข่าย อยากให้ชุมชน หรือภาคประชาชนทั่วประเทศมีความรู้ ความเข้าใจ และมีความตระหนักทางด้านไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น

ส่วน กองทุนพัฒนาไฟฟ้า จัดตั้งขึ้นภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการทางด้านไฟฟ้าและท่อก๊าซ ส่วนกองทุนพัฒนาไฟฟ้าอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ประกอบกิจการพลังงาน โดยมีวัตถุประสงค์หลักของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อเป็นทุนสนับสนุนให้มีไฟฟ้าไปยังท้องที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น พัฒนาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

อย่างเช่น การชดเชยรายได้ผู้ใช้ไฟทุกประเภท ภาคใต้ถือเป็นผู้ใช้ไฟประเภทหนึ่ง คือบ้านที่อยู่อาศัย ค่าไฟภาคใต้กับกรุงเทพฯ มีราคาเท่ากัน แต่ต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่เท่ากัน ต่างจังหวัดมีการกระจายตัวของผู้ใช้ไฟ การปักเสาพาดสายมีระยะห่าง แต่ในกรุงเทพฯ มีความกระจุกตัวของผู้ใช้ไฟ ดังนั้นต้นทุนค่าไฟในกรุงเทพฯจะถูกกว่าต่างจังหวัด

“แต่นโยบายรัฐบาล ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศ ผู้ใช้ไฟประเภทเดียวกัน อัตราค่าไฟต่อหน่วยเท่ากันหมด ถึงแม้ต้นทุนจะไม่เท่ากัน ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คนกรุงเทพฯจ่ายค่าไฟให้คนต่างจังหวัด โดยส่งผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า กองทุนฯรับเงินจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แล้วนำมาส่งให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เพื่อให้ค่าไฟเป็นอัตราเดียวกัน

สำหรับเงินที่พัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบ ๆ โรงไฟฟ้า ถ้ามีโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ที่ไหน พื้นที่นั้นจะได้รับเงินมาพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบ ๆ โรงไฟฟ้า บริหารจัดการโดยชุมชนเพื่อชุมชน ปัจจุบันในหนึ่งปี โรงไฟฟ้าทั่วประเทศจะส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อนำเงินไปพัฒนาชุมชนถึง 3,000 ล้านบาท ดังนั้นคนที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าจะได้รับสิทธิพิเศษ โดยได้รับเงินที่จะนำไปพัฒนาชุมชน ในเรื่องคุณภาพชีวิต การสร้างงานต่าง ๆ ก็จะได้รับเป็นพิเศษ ถ้ามีโรงไฟฟ้ามาในพื้นที่เมื่อไร ก็จะมีเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาพัฒนาชุมชน

นางฤดี กล่าวว่าสำหรับโครงการสัมมนาวันนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งวัตถุประสงค์ ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักในเรื่องไฟฟ้า โครงการไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION มีเป้าหมายให้ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ มีความรู้เรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าชีวมวลคืออะไร รวมถึงสิ่งที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อย่างที่รู้กันว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม อย่างในพื้นที่ภาคใต้ มีการทำสวนยาง ไม้ยาง เศษไม้ปาล์ม ก็สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวลได้

โรงไฟฟ้าชีวมวล

ส่วนการที่จะตั้งโรงไฟฟ้าและผลิตไฟฟ้าชีวมวลจะมี กฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ กำหนดมาตรฐานโรงไฟฟ้า โดยมีการควบคุมกำกับดูแล โดย สำนักงาน กกพ. เขต เพราะฉะนั้นโรงไฟฟ้า ไม่สามารถที่จะปล่อยฝุ่น ควัน น้ำเสีย ที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนหรือชุมชนในพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าได้ โดย โครงการไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION ที่จัดงานให้ความรู้ในวันนี้ ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม นางฤดี ยังระบุด้วยว่า มีโครงการที่จะพัฒนาชุมชน และให้ความรู้ภาคประชาชนอีกหลายโครงการ อยากให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา จดจำชื่อ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ให้ได้ เพราะเรามีหน้าที่ดูแลกำกับกิจการทางด้านไฟฟ้า เป็นองค์กรใหม่ที่หลายท่านอาจจะยังไม่รู้จัก จึงอยากให้รู้จักกัน

สำหรับการจัดสัมมนาครั้งนี้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือว่าเป็นเวทีที่ 4 ที่ร่วมกับทาง สำนักข่าว The Bangkok Insight ในการจัดสัมมนาให้ความรู้โดย เวทีแรกจัดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา เวทีที่ 2 จังหวัดสุพรรณบุรี และเวทีที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก

เดินหน้าสร้างความเข้าใจชุมชนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. และ สำนักข่าว The Bangkok insight ก็ยังจะร่วมมือเดินหน้าร่วมกัน สื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วม เครือข่ายภาคประชาชน กระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไปอีกในอนาคต

โรงไฟฟ้าชีวมวล

ปีหน้าเราก็จะมีโครงการต่อยอด CLEAN ENERGY FOR LIFE อีกด้วย แต่วิธีการนำเสนอและธีมจะเป็นอย่างไร อยากให้ติดตามโครงการดี ๆ ในโอกาสต่อไป อยากเชิญชวนให้เข้าร่วมงาน เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ และยังได้รับความรู้ ความเข้าใจทางด้านไฟฟ้า ขอให้ติดตามเราผ่าน เว็บไซต์สำนักงาน กกพ. และเว็บไซต์กองทุนพัฒนาไฟฟ้า

ในปีหน้าจะมีการให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ ให้มีความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงกัน โดยให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนพัฒนาไฟฟ้าด้านต่าง ๆ ให้ความรู้กับชุมชนรอบ ๆ โรงไฟฟ้าว่าจะได้รับประโยชน์อะไรจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ถ้ามีโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในชุมชนก็จะมีกองทุนพัฒนาไฟฟ้า คนในพื้นที่มีสิทธิ์ในการได้รับการจัดสรรเงินด้วย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาอาชีพ และเกิดการจ้างงานในพื้นที่

ความรู้ อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวล

บนเวทีสัมมนาในหัวข้อ โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน ผศ.ดร.ปรีชา ศรีประภาคาร อุปนายกสมาคมพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หัวหน้าศูนย์วิจัย และพัฒนาพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มองถึงอุปสรรคสำคัญของการมีโรงไฟฟ้าชีวมวล

โรงไฟฟ้าชีวมวล
ผศ.ดร.ปรีชา ศรีประภาคาร อุปนายกสมาคมพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อุปสรรคสำคัญมิติแรกคือ ความรู้ การที่ตนอยู่ในแวดวงสถาบันการศึกษา ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับวงจรนี้ ถือเป็นมุมมองจากนักวิชาการ ความรู้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเราควรจะทำความเข้าใจ หรือรู้จักโรงไฟฟ้าชีวมวลให้ดีพอ การที่จะไปตัดสินว่าดีหรือไม่ ควรเคลื่อนไหวต่อต้านหรือไม่ ควรสร้างหรือไม่ควรสร้าง ความรู้ในเชิงวิชาการเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

แต่ถ้าไปอยู่ในมุมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การตัดสินหรือร่วมดำเนินการใด ๆ ก็ต้องมีความรู้ นับเป็นสาระสำคัญอันดับแรกในการดำเนินการ จะบอกว่าดีหรือไม่ให้มองตัวเองเป็นที่ตั้งก่อนว่า มีความรู้เพียงพอในการตัดสินในมิตินั้นแล้วหรือยัง การมีความรู้สามารถช่วยลดอุปสรรคได้

ส่วนเรื่องที่ว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ นั้น ผศ.ดร.ปรีชา มองว่ามีกระบวนการมากมายในทางกฎหมาย เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายโรงงาน มีการประเมินขับเคลื่อน ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของโรงไฟฟ้าที่ทำการผลิตด้วย

“ผมเชื่อมั่นว่าไม่มีโรงไฟฟ้าไหนที่ต้องการสร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดปัญหา ผมว่าโรงไฟฟ้าต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานทุกรูปแบบเพื่อให้อยู่กับชุมชนให้ได้ รักษาผลประโยชน์และสามารถดำเนินธุรกิจของตัวเองให้ดี”

ส่วนเรื่องโรงไฟฟ้าเป็นพิษหรือไม่ อยากรู้ว่าเวลาเกิดเรื่องเอาอะไรมาตัดสิน “ผมมองในมิติผม” ส่วนใหญ่ที่จะไปตัดสินคนอื่น มักจะใช้สายตา อาการ ความรู้สึกของตนเองเป็นที่ตั้ง มองไปเห็นควันดำ ก็บอกเป็นมลพิษ มีฝุ่นมาจากที่ไหนไม่รู้เข้าจมูก ก็บอกว่าเกิดจากโรงไฟฟ้า พอลงน้ำไปแล้วคัน ก็บอกว่าเป็นน้ำเสียจากโรงไฟฟ้า สิ่งที่อยากจะสื่อสารคือ การที่เห็นแล้วพูดว่าเป็นควันพิษหรือมลพิษ ทุกสิ่งอย่างล้วนเกิดจากความรู้สึก จะพิสูจน์ได้อย่างไร

“วันนี้ผมถามกลับ กลุ่มควัน หรือควันที่ออกจากโรงไฟฟ้าที่ปล่องเป็นมลพิษจริงหรือเปล่า ผมยังไม่กล้าตัดสินเลย”

ผศ.ดร.ปรีชา ย้ำว่าเราต้องปรับตัวเราเองก่อน “ผมไม่ได้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ไม่ได้เป็นหน่วยงานภาครัฐ แต่ผมเป็นผู้ซื้อ การจะตัดสินว่าเป็นพิษหรือไม่โดยใช้แค่ความรู้สึก บางครั้งก็ไม่ยุติธรรม ดังนั้นก็ย้อนกลับมาที่ปัญหาข้อแรกว่า “องค์ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ” สุดท้ายก็ต้องใช้วิทยาศาสตร์ และค่าทางเทคโนโลยี เครื่องมือวัด โดยคนเรามีสิทธิ์ร้องเรียน มีสิทธิ์ตรวจสอบ แต่อย่าใช้ความรู้สึกเพียงอย่างเดียว

สร้างงาน-สร้างรายได้ ให้คนในชุมชน

ทางด้าน นายทนงศักดิ์ พินิตย์อัทธยา ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าบางสวรรค์กรีน ไบโอแมส จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้รายละเอียดถึงกระบวนการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าว่า เชื้อเพลิงชีวมวล ที่ โรงไฟฟ้าบางสวรรค์กรีน ไบโอแมส นำมาใช้ ส่วนใหญ่จะเป็น ไม้สับ 100% เนื่องจากภาคใต้ มีไม้ยางพาราเป็นจำนวนมาก และยางพาราเป็นไม้เศรษฐกิจทางภาคใต้โดยตรง ทางโรงไฟฟ้าจึงเลือกไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิง

โรงไฟฟ้าชีวมวล

สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่ใช่ว่าจะใช้อะไรเป็นเชื้อเพลิงก็ได้ หลักการผลิตไฟฟ้าเป็นเรื่องของพลังงาน เนื่องจากเชื้อเพลิงแต่ละชนิดให้พลังงานไม่เหมือนกัน ค่าความร้อนแต่ละตัวไม่เหมือนกัน ปัจจัยหลักของโรงไฟฟ้าคือต้องใช้เชื้อเพลิงที่เหมาะสมกับเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการเผาไหม้ที่คุ้มค่าที่สุด ดังนั้นโรงไฟฟ้าในภาคใต้ ถ้าเลือกว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าแบบไหน ก็ต้องดูปัจจัยเรื่องเชื้อเพลิงเป็นหลักก่อน

สำหรับ โรงไฟฟ้าบางสวรรค์กรีน ไบโอแมส ที่บริหารจัดการอยู่นั้นเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้ไม้สับ และไม้ยางเป็นเชื้อเพลิง ซื้อมาจากพ่อแม่พี่น้องที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้า บรรทุกใส่รถปิคอัพมา ทางโรงไฟฟ้ายินดีรับซื้อโดยจ่ายเป็นเงินสด ยิ่งใกล้ยิ่งราคาถูก เป็นการส่งเสริมและสร้างเศรษฐกิจภายในชุมชน ทำให้คนที่อยู่ในชุมชนรอบ ๆ โรงไฟฟ้ามีรายได้ไปด้วย

“ตอนนี้ชุมชน แทบจะเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าเพราะคนที่มาทำงานโรงไฟฟ้า ก็เป็นคนมาจากชุมชนทั้งหมด ส่วนเรื่องโครงสร้างในการบริหารจัดการของโรงไฟฟ้า ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข เราจะมี Code of Practice หรือ COP กำหนดไว้อยู่แล้ว”

แจงวิธีการบริหารจัดการโรงไฟฟ้า

อยากชี้แจงให้รู้ว่าการบริหารจัดการโรงไฟฟ้ามีอย่างไรบ้าง

1. กระบวนการผลิต นอกจากเชื้อเพลิงไม้สับและไม้ยางที่นำมาจากรอบโรงไฟฟ้าแล้ว สิ่งที่เป็นปัจจัยในการผลิตโรงไฟฟ้า คือแหล่งน้ำที่นำมาผลิตเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน โดยการต้มให้ร้อนจนกลายเป็นไอ แล้วนำไอน้ำมาเป็นตัวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานผลิตไฟฟ้า

2. โรงไฟฟ้าบางสวรรค์กรีน ผลิตและจ่ายไฟต่อเนื่อง และใช้เชื้อเพลิงที่มาจากชุมชนเป็นหลัก

3. ทางด้านการดำเนินงาน การดูแลรักษาหรืองานซ่อมบำรุง ตรงนี้จะมีการบริหารจัดการภายใน รับพนักงานที่อยู่ใกล้ ๆ โรงไฟฟ้า บริษัทจะรับพนักงานในพื้นที่ทั้งหมด โดยพนักงานทั้งหมด เป็นลูก-หลาน และมีคนที่จบการศึกษามีความรู้ที่จะต่อยอดเป็นเทรนเนอร์สอนงาน ในการซ่อมแซมดูแลเครื่องจักรเพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะให้มากขึ้น

4. เรื่องงาน CSR หรือ ชุมชนสัมพันธ์ จะมีเจ้าหน้าที่ของโรงไฟฟ้าที่รู้จักพื้นที่ในละแวกโรงไฟฟ้าเป็นอย่างดี ประสานงานในเรื่องชุมชนสัมพันธ์ ในด้านกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะกิจกรรมในประเทศไทยมีเยอะมาก มีการบริหารงบประมาณ มีการทำกิจกรรมทุกวัน ก็ไปร่วมกับภาคประชาชน

ประเด็นหลัก ๆ ต้องบริหารจัดการในแบบที่ไม่มีมลพิษต่อชุมชน เนื่องจากว่ามีการนำเชื้อเพลิง เช่น ไม้สับ มาเช็คค่าความร้อนก่อน แล้วค่อยมาดีไซน์เครื่องจักร เพื่อให้ออกแบบมาให้เผาไหม้เชื้อเพลิงอย่างสมบูรณ์ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การเผาไหม้ ถ้ามีการออกแบบเรื่องของการใช้เชื้อเพลิงมา จะทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์ ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 3 ส่วน คือ เชื้อเพลิง อากาศ และความร้อน

แต่องค์ประกอบภาพรวมก็คือ การควบคุมออกซิเจน ถ้าสามารถควบคุมออกซิเจนให้นิ่งได้ โดยใช้เชื้อเพลิงตัวเดียว หมายถึงค่าความร้อนที่คงที่ แต่ถ้าใช้เชื้อเพลิงที่มีค่าความร้อนที่แปรผัน จะทำให้การเผาไหม้ในห้องเผาไหม้ไม่สมบูรณ์

บทบาท กกพ. ต่อพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า

นายมีศักดิ์ เดชรัตนวิไชย ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 11 (สุราษฎร์ธานี) กล่าวถึง บทบาทของ กกพ. ว่า จะกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า ตั้งแต่ก่อนมีการตั้งโรงไฟฟ้า สถานที่ใดที่ผู้ประกอบการสนใจ ประเมินแล้วว่ามีศักยภาพที่จะตั้งโรงไฟฟ้าได้ ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องในพื้นที่ เมื่อมีการก่อสร้างแล้ว ก็ต้องดูว่าโรงไฟฟ้าได้ก่อสร้างตามมาตรฐานหรือไม่ ตามระเบียบและกติกาในการก่อสร้าง

ผอ.เขต e1640883926323
นายมีศักดิ์ เดชรัตนวิไชย ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 11 (สุราษฎร์ธานี)

นอกจากนี้โรงไฟฟ้าทุกแห่งจะต้องมีการรายงาน ตามมาตรการติดตามการดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดต่อ สำนักงาน กกพ. ทุก 6 เดือน อย่างมาตรฐาน เช่น แสง เสียง โรงไฟฟ้าทุกแห่งต้องทำตามมาตรฐาน สิ่งที่ทำต้องถูกต้องและเป็นไปตามข้อตกลงกับประชาชน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานไฟฟ้า ต้องกำกับดูแลให้ ภาคเอกชนต้องสมทบทุน เพื่อให้ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าได้มีเงินไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เรียกว่ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า

นอกจากนี้ กกพ. ยังมีส่วนร่วมในเรื่องของการสนับสนุน เช่น ถ้าผลิตเองใช้เองในชุมชนตัวเองจะดีกว่าไหม ในชุมชนมีพลังงานเชื้อเพลิงอยู่ ถ้าทำให้โรงไฟฟ้าเกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเอง ก็จะทำให้เกิดผลดี

ภาคประชาชนสะท้อน 7 กังวลใจต้องร่วมแก้ไข

นายอุทัย อัตถาพร ผู้แทนภาคประชาสังคม สะท้อนข้อกังวลของชาวบ้านซึ่งมีอยู่ 7 ประเด็นด้วยกัน คือ

อุทัย e1640884047844
นายอุทัย อัตถาพร ผู้แทนภาคประชาสังคม

1. เรื่องของข้อมูล ความรู้-ความเข้าใจของชาวบ้าน ที่จะศึกษาข้อเท็จจริงของโรงไฟฟ้าเป็นอย่างไร ทำอย่างไรจะให้ประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะผู้นำท้องถิ่น แต่หมายถึงชาวบ้านทั่ว ๆ ไป เข้าใจ อย่างเวลาจัดประชุมพูดคุยกัน ต้องให้ความรู้กับชาวบ้านจริง ๆ

2. ขอให้มีความจริงใจ ขอให้โรงไฟฟ้ามีความจริงใจ ถ้าดีก็บอกว่าดี ถ้ามีปัญหา ก็ต้องบอกความจริง อย่าโกหก ขอให้จริงใจ

3. เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร เช่น ถนนที่บรรทุกไม้ยาง ถนนจะพังไหม หรือ น้ำที่ผ่านกระบวนการผลิตไฟฟ้า มีวิธีการบำบัดที่ดีหรือไม่

4. ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง ได้เข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ และตรวจสอบ แม้แต่โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างเรียบร้อย ถ้าเกิดมีปัญหา ไม่เป็นไปตามกติกา ชาวบ้านควรจะมีส่วนร่วมในการที่จะตรวจสอบ

5. ทาง กกพ. บอกว่า จะศึกษาผลกระทบในกรณีที่โรงไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป แต่ถ้าต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ จะใช้วิธีการศึกษาเรียกว่า Code of Practice หรือ COP ซึ่งจะคล้ายกับ EIA ตรงนี้อยากจะให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาท

6. ชุมชนต้องได้ประโยขน์ อันดับแรกให้ใช้เชื้อเพลิงในท้องถิ่น และให้จ้างงานลูก-หลาน เรื่องต่อมาคือมีกองทุนพัฒนาชุมชนต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของชาวบ้านหรือชุมชน

7. ขอให้มีความรับผิดชอบ ทั้งผู้ประกอบการ และผู้กำกับดูแล ทางชุมชนก็จะรับผิดชอบในแง่ของการติดตามตรวจสอบ

ย้ำขอความจริงใจ ทำตามสัญญา

นายอุทัย แสดงความเห็นด้วยว่า โรงไฟฟ้าจะอยู่ร่วมกับชุมชนได้ คือ ชุมชนต้องได้ประโยชน์ และผู้ประกอบการต้องทำตามข้อตกลง สัญญาอะไรไว้บ้าง ให้ปฏิบัติตามสัญญา ถ้าตกลงกันไว้อย่างหนึ่ง พอดำเนินการไปสักระยะหนึ่ง แล้วทาง กกพ. ยังไม่ได้มาตรวจสอบ แต่เกิดปัญหาขึ้นมา แบบนี้ก็อยู่ร่วมกันไม่ได้

โรงไฟฟ้า ก็เหมือนกับคนที่แต่งงานกัน ถ้า ชุมชน เป็น เจ้าสาว โรงไฟฟ้าหรือผู้ประกอบการ เป็น เจ้าบ่าว เมื่อตกลง พูดคุย หมั้นหมายกันแล้ว ทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) จนสร้างโรงไฟฟ้าได้ ก็เหมือนกับแต่งงานกันแล้ว

แต่อยู่ไปอยู่มา เจ้าบ่าว ออกนอกลู่นอกทาง ก่อปัญหาให้กับ เจ้าสาว ทาง เจ้าสาว ก็สามารถขอหย่าได้ อย่างชุมชน ก็ขอหย่าเลย เมื่อไม่ทำตามกติกา แต่เจ้าสาวก็อาจจะส่งสัญญาณเตือนก่อน ก็บอกมาทางญาติผู้ใหญ่ ซึ่งในที่นี้ ก็คือ กกพ. ให้ไปดูหน่อยว่า 6 เดือนแล้ว เจ้าบ่าวยังมีปัญหาก็สามารถทำได้ขอให้มีความจริงใจ

จากนั้น นายมีศักดิ์ กล่าวเสริมว่า เจ้าบ่าว ผิดก็สามารถหย่าร้างได้ ถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง กกพ. ก็เป็นคนกลาง อย่างที่รู้กันว่า ผู้คนใช้ไฟฟ้าแน่ ๆ ถ้าผลิตไฟฟ้าที่อื่น ผลประโยชน์ก็อยู่ที่คนอื่น แต่ถ้าผลิตที่บ้านเรา เรามีลูก เราก็ยังได้ใช้ประโยชน์ แต่ถ้าเราไม่มีลูก เราก็ไม่ได้ใช้

การอยู่ร่วมกันอย่างจริงใจ เป็นประเด็นสำคัญที่สุด

แต่ถ้ามีส่วนไหนที่พลาดไป ก็ควรแก้ไขให้ทันเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถผิดพลาดกันได้ แต่ต้องแก้ไขให้ทันเวลา ต้องบอกกับประชาชนว่า เกิดอะไรขึ้น โรงไฟฟ้าต้องจริงใจ มองผลประโยชน์ร่วมกันได้ทุกฝ่าย ก็จะเป็นความยั่งยืน

ขณะที่ ผศ.ดร.ปรีชา บอกว่า ตอนนี้เป็นยุคดิจิทัล โดยส่วนตัวมองในมิติว่า จะอยู่ร่วมกันให้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพกว่านี้ จะทำอย่างไรได้บ้าง ถ้ามีการเปิดเผยข้อมูลที่ทุกคนตรวจสอบได้ อาจจะมีแอปพลิเคชันที่คนในชุมชนสามารถมอนิเตอร์ได้ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทำได้ง่ายมาก จะทำให้ชุมชนมีความเชื่อมั่น ในที่สุดก็สามารถนำบุคคลากรทางด้านสาธารณสุข ทางด้านสิ่งแวดล้อม ทางด้านวิศวกรรม นำคอมพิวเตอร์เข้ามา เขียน Coding สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมา แล้วสามารถนำมามอนิเตอร์ให้เห็นเป็นรูปธรรม

เท่ากับว่า เราไม่ได้ใช้ผู้ประกอบการ แต่เราสร้างกรรมการกลางขึ้นมา Third Party คือ บุคคลที่สาม เราเอาข้อมูลตรงนี้มาสู่ตัวเราเองได้ โดยไม่ต้องเคลื่อนตัว ลดความรู้สึก ใช้ตัวเลข บุคลากรที่มีความเป็นมืออาชีพทั้งหมด ในอนาคตอันใกล้ ดิจิทัลจะมา แพลตฟอร์มจะมา ถ้าข้อมูลทุกอย่างแชร์อยู่บนแพลตฟอร์มแล้ว ความโปร่งใสและความจริงใจก็จะตามมา ทำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้

การสัมมนาครั้งนี้ ยังได้เปิดเวทีให้ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ที่เข้าร่วมสัมมนา มาจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น พร้อมถาม-ตอบในประเด็นต่าง ๆ ที่ยังเป็นข้อสงสัย หรือข้อเสนอแนะได้ โดยเฉพาะประเด็นข้อกังวลของชาวบ้านในพื้นที่ ต่อการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล และประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับจากโรงไฟฟ้า

ชาวบ้านกังวลปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายชนะพงศ์ พันธ์สนิท อุปนายกสมาคมนักข่าวสุราษฎร์ธานี อดีตคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) ตั้งคำถามว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่เป็นความกังวลใจของพี่น้องประชาชน คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยอยากขอความเห็นในเรื่องของการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการใช้น้ำที่จะต้องใช้น้ำเยอะ ถามว่า มีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร กับเรื่องของน้ำและสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ จะมีผลกระทบกับชาวบ้านหรือเกษตรกร หรือเรื่องของขี้เถ้า

ชนะพงศ์ e1640884355893
นายชนะพงศ์ พันธ์สนิท อุปนายกสมาคมนักข่าวสุราษฎร์ธานี

เรื่องดังกล่าว นายทนงศักดิ์ ได้ชี้แจงถึงข้อกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมว่า โรงไฟฟ้าเป็นหลักการของวิทยาศาสตร์ และก็รวมถึงหลักวิศวกรรม ตอนที่การออกแบบเทคโนโลยี ก็ต้องมีการวิเคราะห์เรื่องเชื้อเพลิง การทำโรงไฟฟ้าก็ต้องดูค่าความร้อนที่เหมาะกับเทคโนโลยี

สิ่งที่ต้องวิเคราะห์ รวมถึงเชื้อเพลิงแล้วก็จะเป็นเรื่องน้ำ ตอนออกแบบโรงไฟฟ้าต้องมีพื้นที่เพียงพอที่จะสำรองน้ำทั้งปี การออกแบบโรงไฟฟ้า ต้องสามารถนำน้ำมาใช้ได้ทั้งปี น้ำเสีย จะไม่นำออก ซึ่งจะมีการบำบัดอยู่ภายใน แล้วนำน้ำกลับมาใช้ใหม่

แต่สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงคือ เรื่องค่าใช้จ่าย โรงไฟฟ้าต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพราะบางครั้งฝนไม่ตกตามฤดูกาล ก็จะมีเรื่องของการทำความสะอาดตัวเครื่องจักรได้มากขึ้น ราคามันก็จะแพงขึ้น ต้องออกแบบให้มีน้ำเพียงพอ

ส่วนเรื่องขี้เถ้าถือเป็นเรื่องหลัก ก่อนจะทำโรงไฟฟ้า ต้องทำวิจัยว่าขี้เถ้านำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง จะมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ออกมาจากเตา กับส่วนที่ 2 ที่ลอยมาจากอากาศ ขี้เถ้า 2 ส่วน จะมีการเก็บไปวิเคราะห์ว่าทำอะไรได้บ้าง บางส่วนก็จะนำไปส่งให้ SCG ที่ทุ่งสง ทำโครงการวิจัยร่วมกัน นำขี้เถ้าตรงนี้ ไปผสมกับคอนกรีต นำไปทำกระเบื้องลอน ก็ไปสร้างมูลค่าให้กับโรงไฟฟ้าได้

ส่วนที่ 3 เป็นอีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่องของสายส่ง สายส่งภาคใต้ ไม่เหมือนกับภาคอื่น ๆ เพราะว่าเส้นทางไกลมาก แล้วพวกไม้ยาง ก็อยู่ไกลสายส่ง ปัญหาของโรงไฟฟ้าเองคือต้องประเมินวิเคราะห์ตั้งแต่ก่อสร้าง ว่าสายส่งโหลดใหม่ มีอุปกรณ์ป้องกันสายส่งเป็นแบบไหน ภาพรวมจะทำให้การจ่ายไฟฟ้าต่อเนื่องจะทำให้ไฟฟ้า ในละแวกนั้นไม่ดับด้วย

โรงไฟฟ้าชีวมวลใช้เชื้อเพลิงทางเกษตรได้หมด

ขณะที่ ร.ต.สุโข ชะอุ่ม หนึ่งในผู้เข้าร่วมการสัมมนา แสดงความเห็นว่า เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ต้นไม้ ต้นหญ้า ต้นปาล์ม ต้นยาง ถ้าไม่รับซื้อ ก็ต้องเผา ส่วนตัวคิดว่า ถ้าให้โรงไฟฟ้าไปเผา ก็จะมีระบบกำจัดน่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่อยากจะถามก็คือ ต้นปาล์ม ได้มีการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้หรือไม่ และคุ้มค่าหรือไม่ เพราะตอนนี้ชาวบ้านมีสวนปาล์มแก่ ๆ เยอะมาก ดีกว่าปล่อยให้เผาทิ้ง ถ้าขายได้เหมือนไม้ยาง ในอนาคตน่าจะเป็นส่วนที่ดีทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น

สุโข e1640884483687
ร.ต.สุโข ชะอุ่ม

ส่วนเรื่องของปัญหาต้นปาล์มนั้น นายทนงศักดิ์ อธิบายว่า ส่วนตัวแล้วคิดว่า เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พวกต้นไม้ ต้นหญ้า ต้นปาล์ม สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวลได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เป็นเรื่องของการดีไซน์เทคโนโลยีด้วย อนาคตก็ต้องประเมินก่อนว่า ณ จุดที่ตั้งโรงไฟฟ้า มีทะลายปาล์มเพียงพอ ที่จะเดินเครื่องครบตามสัญญา 20 ปี หรือไม่ แล้วราคาปาล์มอยู่ที่ตันละกี่บาท ต้องมองตลาดทะลายปาล์มด้วย เพราะทะลายปาล์มค่าความร้อนสูงก็จริง แต่ว่าตัวเนื้อทะลายปาล์ม มีพวกโพแทสเซียมที่พอเผาไหม้ ขี้เถ้าจะกลายเป็นเป็นก้อน

อย่างที่บอกไว้ ต้องบริหารจัดการให้ครบวงจร อย่างพวกขี้เถ้าจะเอาไปทำอะไร ถ้าเกิดเผาปาล์มแล้ว ขี้เถ้าไม่สามารถที่จะทำหลังคากระเบื้องได้ หรือทำคอนกรีต ผสมคอนกรีตได้ อันนี้คือปัญหา แต่ว่าไม่ได้ตัดประเด็นเรื่องตรงนี้ กำลังทำวิจัยกันอยู่

ในอนาคตถ้ามีโรงไฟฟ้าชุมชนเกิดขึ้น และมีทะลายปาล์มเยอะ ก็ต้องศึกษาทางด้านเทคโนโลยีว่า วัสดุที่จะทำท่อที่จะต้มน้ำให้ร้อนต้องใช้วัสดุแบบไหน เกรดแบบไหน ต้องดูว่าต้องลงทุนประมาณไหนเพื่อผลิตไฟฟ้าออกมา มีโรงไฟฟ้าหลายแห่งที่ใช้ทะลายปาล์ม แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ต้องมีการบริหารจัดการด้านการเผาไหม้ให้คงที่ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเครื่องจักร ก็จะสูงตามมา ค่าการจัดการของของเสียอย่างขี้เถ้าก็จะยุ่งยากขึ้นไปอีก

ยังต้องคำนึงถึงเรื่องความคุ้มค่าของการลงทุน

จากนั้น ร.ต.สุโข ยังตั้งคำถามต่อว่า แล้วทำได้ไหม แล้วทำไมยังไม่มี มีต้นทางผลักดันเยอะแยะเลย แล้วทำไมยังไม่มี ทำไมไม่เสนอเป็นโมเดลขึ้นมา ต้องมีความจริงใจกับชุมชน เสนอเป็นโมเดลโรงไฟฟ้าเข้ามา

นายทนงศักดิ์ บอกว่าสุดท้ายก็วนกลับมาเรื่องของธุรกิจ ทางภาคใต้มีปาล์ม ทะลายปาล์มเยอะ แต่ว่ากระบวนการศึกษาก็สำคัญ ยกตัวอย่างว่า ก่อนที่จะสร้างโรงไฟฟ้า ก็ต้องนำวัสดุพวกนี้ไปเข้า Lab ว่าเผาออกมา แล้วได้ค่าความร้อนเท่าไหร่ เกิดมลพิษอะไร เกิดอะไรอย่างไร สุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร

อย่างที่บอกว่าถ้าขี้เถ้ามีโพแทสเซียม ไม่สามารถนำไปทำหลังคาได้ แล้วเอาโพแทสเซียมตัวนี้ไปโยนทิ้งได้ไหม อันนี้ก็เป็นสาระสำคัญ ดังนั้นต้องมีการวิเคราะห์ในเชิงธุรกิจว่า จะสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลสัก 1 แห่ง ต้องตอบทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจนั้น ๆ ไม่ได้มองเรื่องของการผลิตไฟฟ้าขาย แต่ต้องมองต้นทุนว่าเท่าไร และคุ้มค่ากับผลประกอบการหรือไม่

สุดท้ายคือ ระยะเวลาคืนทุนของโรงไฟฟ้าไปถึง 20 ปี หรือไม่ จะได้กำไรหรือไม่ สุดท้ายจะมาตอบตรงนี้ เป็น Business Model ก่อนที่จะสร้างโรงไฟฟ้า

แต่ก็ดีอย่างหนึ่ง ถ้ามองในอีกมิติว่า ภาครัฐอยากจะทำเองไหม เทคโนโลยีมีนะ ไม่ใช่ประเทศไทยมี ประเทศเดียว ประเทศอื่นก็มี แม้กระทั่งดูง่าย ๆ เลย ระหว่างการเซ็นสัญญาซื้อขายระหว่างโรงไฟฟ้าเอกชนและภาครัฐ การันตีกี่ปี ให้ค่ารับซื้อเท่านี้

มีผลหมดเลยกับผลของการลงทุนในภาคธุรกิจ และการขับเคลื่อน ส่วนตัวมองในเรื่องของธุรกิจ เลยอาจจะยังไปได้ไม่สุดในเรื่องของการตอบคำถามนักลงทุนทั้งหลายว่าจะลงทุนดีไหม

ด้าน ผศ.ดร.ปรีชา เสริมว่าต้องเปิดใจยอมรับความคิดคนอื่น ต้องยอมรับว่าต้นทุนอาจสูงกว่าภาครัฐอยู่แล้ว กระบวนการพวกนี้ต้องมีการสำรวจว่า มีวัตถุดิบเพียงพอ เพราะทุกอย่างคือการลงทุน ทุกอย่างคือธุรกิจ ต้องทราบว่า การจะทำธุรกิจใด ๆ เขาต้องวัดกันที่เม็ดเงิน หน่วยงานภาครัฐเป็นแค่คนถือกฎ และบังคับให้อยู่ในกรอบ ให้เป็นไปตามมาตฐาน

ปริมาณการใช้ ขึ้นอยู่กับกำลังการผลิต

ส่วน นายชาญชัย ขวัญดี กรรมการชุมชนเจริญราษฎร์ มีข้อสงสัยว่า ต้องใช้เชื้อเพลิงประมาณกี่ตันต่อวัน ถ้าเกิดปัญหาหาเชื้อเพลิงมาป้อนไม่ทันจะแก้ไขอย่างไร เพราะสวนยางแต่ละแห่งกว่าจะปลูกขึ้นมา พร้อมตัดก็จะใช้เวลาประมาณ 15-20 ปี ถึงจะตัดได้ และโรงไฟฟ้าชีวมวลจะจ่ายไฟฟ้าให้กับชุมชนในพื้นที่ได้อย่างไร แต่ถ้าชุมชนส่วนนั้นมีไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอยู่แล้ว แต่ต้องการจะใช้ไฟฟ้าชีวมวลจะแก้ไขอย่างไร

ชาญชัย1 e1640884650548
นายชาญชัย ขวัญดี กรรมการชุมชนเจริญราษฎร์

นายทนงศักดิ์ ตอบว่า เชื้อเพลิงใช้กี่ตันต่อวันขึ้นอยู่กับปริมาณไฟฟ้าที่ผลิต อย่างของบางสวรรค์กรีน ขายไฟฟ้าออกแค่ 4.6 เมกะวัตตฺ์ ค่อนข้างน้อยมากแทบไม่มีกำไร เพราะราคาเชื้อเพลิงที่ซื้อมาจากพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่มีราคาสูง เพราะแถวนั้นมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่รับซื้อ ก็มีการแข่งขันกันสูง

โรงไฟฟ้าบางสวรรค์กรีน จะใช้เชื้อเพลิงอยู่ประมาณ 220 ตันต่อวัน บริษัทอยากจะใช้เชื้อเพลิง ที่มาจากชุมชนจริง ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ โดยเตรียมต่อยอดอนาคตโรงไฟฟ้าชุมชน อยากจะเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้ากับชุมชนไปด้วยกัน

ส่วนที่ 2 คือ เรื่องสายส่งปัจจุบันมีการปรับปรุงค่อนข้างไปได้ไกล เพราะว่ามี Sub-station หรือสถานีของการไฟฟ้าอยู่หลายสถานี เพื่อรองรับเศรษฐกิจและพลังงานไฟฟ้าที่จะเติบโตในอนาคต ปัจจุบันสายส่งกำหนดไว้ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ กรณีถ้าเกิดไฟดับ ทางการไฟฟ้าเองก็จะมี Switching มาขายให้ด้วย ทำให้ชุมชนอยู่ได้ไม่ขาดแคลนไฟฟ้า

ส่วน ผศ.ดร.ปรีชา เสริมว่าไม่ต้องไปสนใจว่าใครเป็นผู้ผลิต ผลิตจากเชื้อเพลิงอะไร ไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือพลังงานชีวมวล ปริมาณการใช้ต้องขึ้นอยู่กับกำลังการผลิต

ขณะเดียวกัน นายชนะพงศ์ ได้ถามถึง 7 ข้อเรียกร้อง ว่าจะได้รับการตอบสนองอย่างไรแค่ไหน และถ้าหากยังไม่ได้รับการตอบสนอง จะมีการยกระดับการเรียกร้องอย่างไรบ้าง

นายอุทัย ชี้แจงว่าข้อเรียกร้องดังกล่าว เป็นข้อเสนอในเชิงหลักการ และแนวทางในการดำเนินการต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะเรื่อง ข้อสรุปร่วมกันมีอยู่ว่า การดำเนินการใด ๆ ที่จะเกิดขึ้น ควรคำนึงถึงประโยชน์ของชุมชน ในทุกขั้นตอน ภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ

แม้กระทั่ง เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็สามารถมีส่วนร่วมได้ ในหลายที่ได้ใช้ระบบไตรภาคี คือการมีส่วนร่วมในกระบวนการติดตามตรวจสอบทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคชุมชน เป็นระบบไตรภาคี หรือจะเป็นระบบที่มากกว่า 3 ฝายก็ได้ 4-5 ฝ่ายก็ได้ ก็จะเป็นกลไกหนึ่ง

ดังนั้น ข้อเสนอ ข้อเรียกร้องภาคประชาชน ก็ฝากว่า คนที่รับผิดชอบโดยตรง ก็ควรจะต้องรับฟังความคิดเห็น อย่างเช่น ข้อเสนอที่ว่า ถ้าปาล์มเยอะ ก็ฝากว่า น่าจะใช้ประโยชน์จากปาล์มได้

“อาจจะฝากคุณทนงศักดิ์ว่า เราอาจจะทำโรงไฟฟ้าแห่งที่ 4 ก็ได้ ลองไปออกแบบศึกษาดูว่า ถ้าเรานำปาล์ม มาใช้ประโยชน์ตรงนี้ก็จะเกิดรายได้ เช่น รับซื้อตันละ 1,000 บาท สามารถเป็นไปได้ไหม”

เวทีสัมมนาครั้งนี้ ชาวบ้านในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเสียงตอบรับที่ดีต่อโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ในอนาคต โดยเชื่อว่าจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับคนในพื้นที่ จากการขายเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยเฉพาะ เศษไม้ยางพาราสับ ไม้ยางพารา ปีกไม้ยางพารา นอกเหนือจากไม้ยางพารา ยังมีทางปาล์ม ใยปาล์ม ทะลายปาล์ม กะลาปาล์ม กาบมะพร้าว และกะลามะพร้าว

นอกเหนือจากการขายเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแล้ว ยังสามารถสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ได้ หากมีโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้นในพื้นที่ ในขณะที่ชาวบ้านยังคงกังวลในเรื่องผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม จึงขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ กำกับดูแลจัดการเรื่องเหล่านี้ด้วย เพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้าชีวมวลได้อย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

This slideshow requires JavaScript.

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight