The Bangkok Insight

จับตา! ‘เอกชัย หงส์กังวาน’ ฟังคำสั่งคดี ‘ประทุษร้ายเสรีภาพราชินี’ ขวางขบวนเสด็จ

จับตา! วันนี้ (31 มี.ค.) “เอกชัย หงส์กังวาน และพวก” ฟังคำสั่งอัยการคดี “ประทุษร้ายเสรีภาพราชินี” ขวางขบวนเสด็จ โทษสูงสุดคุกตลอดชีวิต

เมื่อวานนี้ (30 มี.ค.) แฟนเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความว่า ในเวลา 10.00 น. วันนี้ (31 มี.ค.) นาย เอกชัย หงส์กังวาน และพวกรวม 5 คน จะเดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ เพื่อฟังคำสั่งในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 “ประทุษร้ายเสรีภาพราชินี” จากกรณี ขวางขบวนเสด็จ ซึ่งกำหนดโทษต่ำสุดจำคุก 16 – 20 ปี และโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต

เอกชัย หงส์กังวล มาตรา 110

สำหรับข้อความทั้งหมดเป็นดังนี้

“พรุ่งนี้ (31 มีนาคม 2564) เวลา 10.00 น. 5 ผู้ต้องหา ได้แก่ เอกชัย หงส์กังวาน, บุญเกื้อหนุน เป้าทอง, สุรนาถ แป้นประเสริฐ และประชาชนอีก 2 ราย จะเดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก เพื่อฟังคำสั่งในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 “ประทุษร้ายเสรีภาพราชินี” กรณีถูกกล่าวหาว่าได้เข้าไปขัดขวางขบวนเสด็จของพระราชินีและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าทีปังกร ระหว่างการเสด็จผ่านบริเวณถนนพิษณุโลก เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563

คดีนี้มีนายศรายุทธ สังวาลย์ทอง และ พ.ต.ท.พิทักษ์ ลาดล่าย เป็นผู้กล่าวหา เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 63 ในระหว่างการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ของ “คณะราษฎร” ราว 17.00 น. ระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มหลักได้เคลื่อนขบวนจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล อีกด้านบริเวณถนนพิษณุโลก ด้านหน้าของทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันจำนวนหนึ่ง เกิดเหตุการณ์ที่ขบวนเสด็จฯ ผ่านเข้ามาในที่ชุมนุมโดยที่ไม่มีใครทราบมาก่อนล่วงหน้า ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นช่วงเวลาหนึ่ง มีการผลักและดันกันจนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาคอยกั้นแนวระหว่างผู้ชุมนุมและรถขบวนเสด็จฯ

ภายหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เพียงแค่ 2 วัน (16 ตุลาคม 2563) ปรากฏว่ามีผู้ถูกออกหมายจับจากกรณีดังกล่าว 2 ราย คือ เอกชัยและบุญเกื้อหนุน บุญเกื้อหนุนเมื่อทราบข่าวว่ามีหมายจับจึงได้เดินทางไปที่ สน.ดุสิต เพื่อมอบตัวก่อนการจับกุม ในขณะที่เอกชัยเตรียมจะเดินทางไปสถานีตำรวจ แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัว ต่อมาในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุมตัวสุรนาถที่บ้านตามหมายจับ ทั้งที่กำลังจะเดินทางไปหลังทราบว่ามีการออกหมายจับเช่นกัน

ขบวนเสด็จ
แฟ้มภาพขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563

ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า “ร่วมกันพยายามกระทําการประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 ต่อมาพนักงานสอบสวนยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีกสามข้อหา ได้แก่ ข้อหามั่วสุมกันโดยใช้กำลังประทุษร้ายทำให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, กีดขวางทางสาธารณะ และกีดขวางการจราจร

ในจำนวนทั้งสามคน มีบุญเกื้อหนุนที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัว ขณะที่เอกชัยและสุรนาถศาลไม่ได้ประกัน ทำให้ทั้ง 2 คนต้องถูกคุมขังเป็นเวลา 18 และ 13 วัน ตามลำดับ ก่อนที่ต่อมาศาลจะยกคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563  โดยที่กรณีของสุรนาถยังถูกเจ้าหน้าที่นำตัวแยกไปที่เรือนจำบางขวางด้วย

ต่อมายังมีรายงานว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มเติมอีกสองราย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม รวมทำให้รวมมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 5 ราย

ต่อมาวันที่ 28 มกราคม 2564 พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ได้มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งห้าต่ออัยการ พนักงานอัยการได้เลื่อนฟังคำสั่งมาแล้วสามครั้ง หากอัยการมีคำสั่งฟ้องในวันพรุ่งนี้ จะทำให้ผู้ต้องหาทั้ง 5 กลายเป็นจำเลยคดีตาม มาตรา 110 กลุ่มแรกในประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ซึ่งกำหนดโทษต่ำสุดตามวรรคหนึ่งคือโทษจำคุก 16 – 20 ปี ในขณะที่โทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต

สำหรับคดีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในส่วนของนายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง นักศึกษาสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทั่วโลก วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และนายสุรนาถ แป้นประเสริฐ นักกิจกรรมด้านการพัฒนาชุมชนและเยาวชน”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo